แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อการโอนหุ้นมีกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทลงชื่อเป็นพยานพร้อมกับประทับตราสำคัญของบริษัท แม้จะไม่มีการจดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักงานผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น การโอนนั้นสามารถใช้ยันบริษัทได้ ไม่เป็นกรณีที่ต้องตกอยู่ในบังคับมาตรา 1129วรรคสาม ความรับผิดของผู้โอนสำหรับจำนวนเงินในมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1133 นั้น หมายถึงความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัทที่ผู้โอนเคยถือหุ้นอยู่ หาได้หมายถึงว่าผู้โอนยังต้องรับผิดในมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบต่อบริษัท ทั้งที่ได้โอนหุ้นนั้นไปแล้ว.
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าหุ้นที่ยังส่งไม่ครบ 320,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี และมีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้ดังกล่าว ผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องได้โอนหุ้นให้แก่ นายกิตติศักดิ์สืบวิเศษ โดยโอนตามสัญญายอมความแล้วศาลพิพากษาตามยอม มิใช่การโอนหุ้นตามแบบธรรมดาสามัญ แม้จะมิได้จดแจ้งลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นก็ยอมใช้ยันบริษัทหรือบุคคลภายนอกรวมทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ ผู้ร้องจึงไม่มีความรับผิดต้องชำระค่าหุ้นดังกล่าวขอให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า แม้การโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องกับนายกิตติศักดิ์ จะเป็นการโอนตามสัญญายอม แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องจากการที่มีการตกลงซื้อขายกันไว้ก่อน จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1129 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากนี้ตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับสุดท้ายที่บริษัทจำเลยที่ 1 ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์ก็ระบุว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นและยังค้างชำระค่าหุ้นเป็นเงิน 320,300 บาท ผู้ร้องจึงยังต้องรับผิดอยู่ ขอให้ยกคำร้อง และให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นจำนวน 320,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 16 เมษายน 2530เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง จำหน่ายชื่อผู้ร้องจากบัญชี-ลูกหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าหุ้นจำนวน 320,300บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่16 เมษายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามที่คู่ความรับกันในชั้นฎีกาว่า ผู้ร้องได้โอนขายหุ้นพิพาทให้แก่นายกิตติศักดิ์สืบวิเศษ ตามสัญญาซื้อขายหุ้นเอกสารหมาย ร.2 ต่อมานายกิตติศักดิ์ผิดสัญญา ผู้ร้องจึงมาฟ้องนายกิตติศักดิ์ เป็นจำเลย ศาลได้พิพากษาตามยอมให้นายกิตติศักดิ์ ชำระเงินค่าหุ้นตามสัญญาซื้อขาย แต่นายกิตติศักดิ์ ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามยอม ผู้ร้องจึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดี ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2528ผู้ร้องนายกิตติศักดิ์ และกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ไปเจรจากันที่กรมบังคับคดี นายกิตติศักดิ์ วางเงื่อนไขให้ผู้ร้องโอนหุ้นให้นายกิตติศักดิ์ ก่อน แล้วนายกิตติศักดิ์ จึงจะชำระค่าหุ้นให้ผู้ร้องได้ทำสัญญาโอนหุ้นกันไว้ตามเอกสารหมาย ร.1 โดยนายอัครพจน์ สังโขบลและนายอภิสิทธิ์ พันธุ์รัตนไพฑูรย์ กรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1ลงชื่อเป็นพยานพร้อมทั้งประทับตราสำคัญของบริษัท ตามสัญญาดังกล่าวระบุว่า นายกิตติศักดิ์ ผู้รับโอนในฐานะเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 จะไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนผู้ถือหุ้นต่อไปแต่การโอนหุ้นรายนี้ยังมิได้มีการแจ้งลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งหุ้นพิพาทนี้ยังค้างชำระมูลค่าหุ้นอยู่อีกร้อยละ 50 คิดเป็นเงิน 320,300 บาท เมื่อการโอนหุ้นรายนี้มีกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นพยานพร้อมทั้งประทับตราสำคัญของบริษัท แม้จะไม่มีการจดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักงานผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นก็อาจนำการโอนหุ้นนั้นมาใช้ยันบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นกรณีที่ต้องตกอยู่ในบังคับของมาตรา1129 วรรคสาม ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีเพียงว่าผู้ร้องต้องรับผิดในมูลค่าหุ้นที่ค้างชำระดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ความรับผิดของผู้โอนสำหรับจำนวนเงินในมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1133 นั้นหมายถึงความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัทที่ผู้โอนเคยถือหุ้นอยู่หาได้หมายถึงว่าผู้โอนยังต้องรับผิดในมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบต่อบริษัท ทั้งที่ได้โอนหุ้นนั้นไป และนำการโอนหุ้นนั้นมาใช้อ้างแก่บริษัทได้ตามมาตรา 1129 วรรคสามไม่ ดังจะเห็นได้จากข้อความในมาตรา 1133 นั้นเองว่า ผู้โอนไม่ต้องรับผิดในมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ หากเป็นหนี้ที่บริษัทได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังโอน หรือผู้ที่ยังถือหุ้นของบริษัทอยู่ยังสามารถออกส่วนใช้หนี้อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้ แสดงให้เห็นได้ว่าบริษัทได้ก่อหนี้แล้ว ไม่มีสินทรัพย์พอชำระหนี้ เจ้าหนี้ของบริษัทอาจติดตามเอาจำนวนเงินที่ยังส่งใช้มูลค่าหุ้นไม่ครบจากผู้เคยถือหุ้นของบริษัทได้แม้จะโอนหุ้นไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้ภายในกำหนดอายุความและเมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว แต่คดีนี้เป็นเรื่องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยที่ 1 เห็นว่าหลักฐานตามบัญชีผู้ถือหุ้นผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง และยังส่งใช้มูลค่าหุ้นไม่ครบ บริษัทจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องในมูลค่าหุ้นส่วนที่ขาด จึงได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 มีหนังสือแจ้งความและยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้อง เมื่อคดีนี้ฟังได้ว่าการโอนหุ้น ของผู้ร้องนำมาใช้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 ได้แล้ว ผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิดในมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบต่อบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องต้องรับผิดในมูลค่าหุ้นดังกล่าว ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1.