คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9743/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีสองนัดแรกมีสาเหตุมาจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่จะมาเบิกความจำสถานที่นัดหมายผิดพลาด และจำเวลานัดหมายคลาดเคลื่อนมิใช่เกิดจากทนายโจทก์เพิกเฉย ทอดทิ้งคดี หรือไม่ตระเตรียมพยานมาเบิกความต่อศาลส่วนวันนัดครั้งที่สามเมื่อศาลไม่อนุญาตให้ทนายโจทก์เลื่อนคดีทนายโจทก์ก็ได้อ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยาน เมื่อเบิกความเสร็จก็ได้พยายามติดต่อกับโจทก์ จนกระทั่งทราบว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่จะนำเข้าเบิกความอยู่ระหว่าง การตั้งครรภ์และเจ็บป่วยไม่สามารถมาเบิกความในช่วงเช้าได้ จึงขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์ออกไปก่อน กรณีดังกล่าว นับว่ามีเหตุจำเป็น แม้ทนายโจทก์จะเคยแถลงต่อศาลว่าจะไม่ขอเลื่อนคดีอีกหากไม่มีพยานมาศาลก็ไม่ติดใจสืบพยานโจทก์อีก ต่อไปก็ตาม ศาลก็ไม่อาจนำคำแถลงดังกล่าวมาเป็นเหตุไม่อนุญาตให้ทนายโจทก์เลื่อนคดีและงดสืบพยานโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ครบถ้วนให้ยึดห้องชุดที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งมิให้โจทก์เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองมิได้แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนศาลชันต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายโจทก์เลื่อนคดีและ งดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2541 ทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีมา 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 เนื่องจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่จะมาเบิกความต่อศาล ไปรอเบิกความที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นคนละแห่งกับศาลที่นัดพิจารณา นัดต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 ขอเลื่อนคดีเนื่องจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์จำเวลานัดผิดพลาดเป็นช่วงบ่าย ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาเบิกความได้ทัน เมื่อถึงวันนัดครั้งที่สามทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีอีก เนื่องจากบริษัทโจทก์เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ ทำให้ไม่สามารถติดต่อกับพยานได้ เมื่อศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีทนายโจทก์ได้อ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยาน 1 ปาก หลังจากนั้นทนายโจทก์พยายามติดต่อกับโจทก์จนได้ทราบว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่จะมาเบิกความอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์และเจ็บป่วย จึงขอเลื่อนคดีไปก่อน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้ทนายโจทก์เลื่อนคดี งดสืบพยานโจทก์และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 กันยายน 2541 คดีมีปัญหาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวชอบหรือไม่ เห็นว่า ทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีสองนัดแรกมีสาเหตุมาจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่จะมาเบิกความต่อศาลจำสถานที่นัดหมายผิดพลาด และจำเวลานัดหมายคลาดเคลื่อน มิใช่เกิดจากทนายโจทก์เพิกเฉย ทอดทิ้งคดี หรือไม่ตระเตรียมพยานมาเบิกความต่อศาล ส่วนวันนัดครั้งที่สามเมื่อศาลไม่อนุญาตให้ทนายโจทก์เลื่อนคดี ทนายโจทก์ก็ได้อ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยาน เมื่อเบิกความเสร็จก็ได้พยายามติดต่อกับโจทก์ จนกระทั่งได้ทราบว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่จะนำเข้ามาเบิกความอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์และเจ็บป่วย ไม่สามารถมาเบิกความในช่วงเข้าได้ จึงขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์ออกไปก่อน กรณีดังกล่าวนับว่ามีเหตุจำเป็น แม้ทนายโจทก์จะเคยแถลงต่อศาลว่าจะไม่ขอเลื่อนคดีอีก หากไม่มีพยานมาศาลก็ไม่ติดใจสืบพยานโจทก์อีกต่อไปก็ตาม ศาลก็ไม่อาจนำคำแถลงดังกล่าวมาเป็นเหตุไม่อนุญาตให้ทนายโจทก์เลื่อนคดีและงดสืบพยานโจทก์ได้ เพราะทนายโจทก์ได้นำพยานเข้าสืบไปแล้ว 1 ปาก หลังจากนั้นจึงได้ขอเลื่อนคดีไปสืบพยานที่เหลือเนื่องจากเหตุเจ็บป่วยของพยาน ทั้งข้อเท็จจริงก็ได้ความตามใบรับรองแพทย์ที่ทนายโจทก์ส่งศาลในภายหลังว่านางวนาลี ยินดี ผู้รับมอบอำนาจที่จะมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ตั้งครรภ์ได้ 10 สัปดาห์เศษ มีอาการแพ้ท้องมาก มีเลือดออกผิดปกติ สมควรลาพักตั้งแต่ วันที่ 27 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นช่วงวันเวลาที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายโจทก์เลื่อนคดี กรณีดังกล่าวนับว่าเป็นเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ คดีนี้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา หากสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้รวดเร็วก็จะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายโจทก์ ไม่มีพฤติการณ์ใดบ่งชี้ว่าทนายโจทก์มีเจตนาประวิงคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายโจทก์เลื่อนคดีและงดสืบพยานโจทก์จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฎีกาขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่มิได้ขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดี จึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาอย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นเงิน 62,942.50 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานที่เหลือต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมี คำพิพากษาใหม่ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์

Share