คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7411/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นการกู้ยืมเงินภายในประเทศ คดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ แต่ในชั้นชี้สองสถานศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้ไว้ และจำเลยทั้งสามมิได้โต้แย้งทั้งเมื่อศาลดังกล่าวดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จำเลยทั้งสามก็มิได้ยกเรื่องนี้ขึ้นโต้แย้ง แสดงว่ายอมรับอำนาจศาล และไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาล เมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขึ้นมา จึงถือว่าล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่ส่งให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์ เป็นเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์เรียบร้อยแล้วและจำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 122 และเลขที่ 702 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2540 เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับสุดท้ายในวันที่ 4 พฤษภาคม 2541 จำเลยที่ 1คงค้างชำระต้นเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 232,706.85 ดอลลาร์สหรัฐ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 2,232,706.85 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันชำระเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ขอให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินไปชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยทั้งสามให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการกู้ยืมเงินภายในประเทศ แต่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยโจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินสกุลบาทไทยประมาณ 50,000,000 บาทซึ่งเป็นยอดเงินกู้ที่แท้จริงที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์ อีกทั้งโจทก์ให้จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ในวงเงิน 61,000,000 บาท แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินบาทภายในวงเงินดังกล่าว จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 2,232,706.85 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงิน2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวเป็นเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปีของต้นเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครโดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นวันทำการในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ครบให้ยึดทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 จำนองไว้ และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินไปชำระแก่โจทก์จนกว่าจะครบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และวิเทศธนกิจในประเทศไทย สำหรับกิจการวิเทศธนกิจอนุญาตให้เปิดสาขาที่จังหวัดชลบุรีด้วยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ผ่านสำนักงานวิเทศธนกิจของโจทก์ สาขาจังหวัดชลบุรี โดยกำหนดเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นเงิน 2,000,000ดอลลาร์สหรัฐ คิดดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารพาณิชย์ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ สำหรับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกาประเภทผู้กู้เป็นผู้รับภาระภาษีบวกด้วยส่วนเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีปรากฏตามหนังสือสินเชื่อธนาคารเอกสารหมาย จ.9 และจำเลยที่ 1ได้รับเงินกู้จำนวนประมาณ 50,000,000 บาท จากโจทก์ไปแล้วในวันเดียวกัน จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.12ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.13 และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดิน 2 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ตามสัญญาจำนอง หนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง หนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.14 ถึง จ.17เป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 61,000,000 บาทด้วยจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์หลายคราว และโจทก์ต่ออายุสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1 หลายครั้ง แต่ละครั้งจำเลยที่ 1 จะออกตั๋วสัญญาใช้เงินระบุจำนวนเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ มอบให้โจทก์ทุกครั้ง มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อแรกว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะพิจารณาพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสามให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นการกู้ยืมเงินภายในประเทศ คดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ แต่ในชั้นชี้สองสถานศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้ไว้ และจำเลยทั้งสามมิได้โต้แย้งและเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จำเลยทั้งสามก็มิได้ยกเรื่องนี้ขึ้นโต้แย้งอีกเช่นกันแสดงว่าจำเลยทั้งสามยอมรับอำนาจศาลและไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลเมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขึ้นมา จึงถือว่าล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อาจส่งให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า หากจะชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงินสกุลบาทให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share