คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 93/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความเป็นพิรุธ ขัดต่อเหตุผลเมื่อจับจำเลยได้แล้วพนักงานสอบสวนก็มิได้จัดให้พยานชี้ ตัวยืนยัน นอกจากนี้โจทก์คงมีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนโดยไม่มีพยานเหตุผลแวดล้อมอื่น ๆ ประกอบให้เห็นว่าจำเลยเป็นคนร้าย ทั้งคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวก็ยังมีข้อโต้แย้งของจำเลยว่าไม่ได้ให้การด้วยความสมัครใจ พยานหลักฐานของโจทก์ จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,289,83, 80, 60, และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา3 บทหนึ่ง และมาตรา 289 (4), 83,80,60 อีกบทหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4),83 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4),83ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต จำเลยจำเลยรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1)คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต ริบของกลาง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีพยานบุคคลที่อ้างว่าเห็นจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกันฆ่าผู้ตายสองปากคือ นายประหยัดจันทร์ปลั่ง และนางสาวสมศรี ใจวิจิตร ตามคำเบิกความของนายประหยัดได้ความว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 6 นาฬิกา เดินผ่านบบ้านผู้ตายเห็นชายแปลกหน้าคนหนึ่งเดินเตร่ไปมาและเมื่อเดินผ่านไปได้ 3-4 วา เห็นมีชายแปลกหน้าอีกคนหนึ่งนั่งอยู่คนเดียวที่เพิงริมถนนมีรถจักรยานยนต์จอดอยู่ หลังจากนั้นประมาณครึ่งชั่วโมงระหว่างที่นายประหยัดเดินกลับเข้ามาในซอยจึงทราบว่ามีการยิงกัน ในวันนั้นนายประหยัดไปให้ปากคำกับเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจได้เอาภาพชายคนหนึ่งตามภาพถ่ายหมาย จ.7 ให้ดู นายประหยัดว่าเป็นภาพถ่ายของชายคนที่เดินเตร่ไปมาต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจให้นายประหยัดดูภาพถ่ายหมาย จ.15 ซึ่งเป็นภาพนายเสน่ห์ที่ถูกยิงตาย นายประหยัดก็จำได้ว่าเป็นชายคนที่เดินเตร่ไปมา เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยแล้วได้ให้นายประหยัดดูตัวนายประหยัดไม่แน่ใจว่าใบหน้าคนร้ายที่จับกุมได้จะเป็นคนเดียวกับชายคนที่นั่งอยู่ที่เพิงริมถนนหรือไม่ แต่รูปร่าางลักษณะคล้ายคลึงข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของนายประหยัดดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่นั่งอยู่ที่เพิงริมถนนก่อนเกิดเหตุ ส่วนนางสาวสมศรีนั้นเบิกความได้ความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ นางสาวสมศรีไปรอขึ้นรถอยู่ที่เพิงร้านค้าในซอยบางหญ้าแพรก มีชายคนหนึ่งนั่งอยู่ห่างประมาณ 1 เมตร เห็นมีรถจักรยานยนต์คันหนึ่งจอดอยู่ ขณะที่รอรถอยู่ได้ 5 นาที ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด เห็นชายคนหนึ่งวิ่งมาตามถนนจากที่เสียงปืนดังตรงมาที่รถจักรยานยนต์จอดอยู่ ชายที่นั่งอยู่นั้นกระโดดขึ้นสตาร์ตรถจักรยานยนต์ ชายที่วิ่งมากระโดดขึ้นนั่งซ้อนท้ายแล้วรถจักรยานยนต์คนร้ายแล่นออกไปทางปากซอย ชายคนที่เห็นป้ายรถหมายเลขทะเบียน 6397 หลังเกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์เจ้าพนักงานตำรวจได้เอาภาพถ่ายหมาย จ.7 มาให้นางสาวสมศรีดูนางสาวสมศรียืนยันว่าเป็นชายที่นี่งรออยู่และขับรถจักรยานยนต์หนีไปข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของนางสาวสมศรีดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่ามีพิรุธและขัดกับเหตุผลอยู่หลายประการ กล่าวคือ กรณีของคนร้ายที่เตรียมการมาเพื่อฆ่าผู้ตายเช่นนั้น การที่คนหนึ่งเข้าไปทำการยิงและคนร้ายอีกคนหนึ่งคอยขับรถเพื่อพาหนีนั้น คงไม่มานั่งรอจนกระทั่งพวกของตนลงมือยิงแล้วจึงออกมาสตาร์ตรถเพื่อจะขับหนีไปเพราะเป็นที่เห็นได้ล่วงหน้าว่าอาจจะไม่ทันการที่จะหลบหนีได้ คนร้ายน่าจะเตรียมติดเครื่องยนต์รออยู่หรือขี่คร่อมอยู่ให้พร้อมที่จะออกรถไม่ใช่มานั่งรออยู่ห่างรถที่จะใช้หลบหนี ต่อเมื่อเห็นพวกของตนวิ่งมาจึงลุกขึ้นมาสตาร์ตรถเพื่อหลบหนี เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเอาภาพถ่ายหมาย จ.15 ให้นางสาวสมศรีดูตามคำของนางสาวสมศรีก็ว่าดูแล้วจำได้ว่าเป็นคนร้ายที่เห็นวิ่งมาขึ้นรถจักรยานยนต์ ส่วนภาพถ่ายหมาย จ.7นางสาวสมศรีก็ว่าเป็นภาพของชายคนที่นั่งรออยู่และขับรถจักรยานยนต์นำคนร้ายที่วิ่งมาซ้อนท้ายแล่นหนีไป เห็นได้ว่าภาพถ่ายหมาย จ.1 และจ. 7 น น เป็นภาพถ่ายของคนคนเดียวกันคือนายเสน่ห์ ซึ่งถ้านางสาวสมศรีเห็นและจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยจริงก็ไม่น่าที่จะเบิกความสับสนดังกล่าว นอกจากนั้นในชั้นสอบสวนนางสาวสมศรีให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนว่าคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์มีลักษณะคางมน แต่ภาพถ่ายของของจำเลยที่ปรากฎตามภาพถ่ายหมาย จ.13, จ. 27 นั้น เห็นได้ว่า ไม่ใช่คนที่มีลักษณะคางมนตามที่นางสาวสมศรีเบิกความ คำของนางสาวสมศรีที่ขัดต่อเหตุผลและความเป็นไปตามปกติดังกล่าวทำให้ไม่อาจเชื่อได้ว่านางสาวสมศรีจะจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลย และเมื่อพิจารณาถึงการได้ตัวจำเลยมาตามหมายจับแล้ว ได้ความตามคำเบิกความของพันตำรวจโทสุทธิพงศ์รามัญวงศ์ ว่า หลังจากสอบปากคำนางสาวสมศรี แล้วให้นางสางสาวสมศรีดูภาพถ่ายคนร้าย นางสาวสมศรีว่าภาพถ่ายของจำเลยคล้ายคลึงกับคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์จึงได้ออกหมายจับจำเลยที่พยานยืนยันว่าเป็นคนร้าย ได้พิจารณาหมายจับเอกสารหมาย จ. 30 แล้ว ออกเมื่อวันที่ 8มิถุนายน 2531 แต่จากบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวสมศรีเอกสารหมาย จ. 16 นางสาวสมศรีให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2531 อันเป็นวันเกิดเหตุนั้น ในการสอบสวนครั้งแรกพนักงานสอบสวนมิได้นำภาพถ่ายจำเลยมาให้นางสาวสมศรีดูคงมีปรากฎจากการสอบสวนเพิ่มเติมในวันที่ 20 กรกฎาคม 2531 เท่านั้น แสดงว่านางสาวสมศรีดูภาพถ่ายจำเลยภายหลังจากที่มีการออกหมายจับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.30 แล้ว คำเบิกความของพันตำรวจโทสุทธิพงศ์ที่ว่าออกหมายจับจำเลยตามคำให้การของนางสาวสมศรีจึงรับฟังไม่ได้ ทั้งเมื่อจับกุมจำเลยได้แล้วก็ไม่ปรากฎว่าพนักงานสอบสวนจัดให้นางสาวสมศรีชี้ตัวตามปกติทั่วไป และเมื่อดูภาพถ่ายที่ปรากฎในหมายจับเอกสารหมายจ. 30 กับภาพถ่ายหมาย จ. 7 ที่นางสาวสมศรีและนายประหยัดระบุว่าเป็นคนร้ายแล้ว เห็นได้ว่าเป็นภาพของคนละคนกัน พยานหลักฐานของโจทก์นอกจากที่ได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วก็ไม่มีพยานปากใดรู้เห็นว่าจำเลยเป็นคนร้ายโจทก์คงมีคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเท่านั้น ซึ่งคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีพยานเหตุผลแวดล้อมอื่น ๆ ประกอบให้เห็นว่าจำเลยเป็นคนร้ายนั้นไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยได้ และในกรณีนี้คำให้การชั้นสอบสวนก็ยังมีข้อโต้แย้งของจำเลยว่าไม่ได้ให้การด้วยความสมัครใจ จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกฆ่าผู้ตายตามที่ฟ้อง เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายแล้วเช่นนี้ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยพยานจำเลย…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่หัวกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงให้ริบ

Share