คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหาย 4 คนได้ทราบว่าที่วัด พ. มีพระเครื่องซึ่งเป็นของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีให้เช่าบูชา โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดดังกล่าวเป็นผู้นำออกให้เช่าผู้เสียหายทั้งสี่จึงไปเช่าพระเครื่องจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1รับรองว่าพระเครื่องดังกล่าวเป็นพระเครื่องที่ได้มาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ซึ่งความจริงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไม่เคยทรงจัดสร้างพระเครื่องดังกล่าวและไม่เคยทรงพระราชทานแก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โฆษณาให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงการให้เช่าพระเครื่อง หากเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายทั้งสี่ทราบข่าวมาเองแล้วมาติดต่อขอเช่าพระเครื่องจากจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน คงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการให้เช่าพระเครื่องส่วนหนึ่งไปปรับปรุงซ่อมศาลากรรมฐานของวัดดังกล่าว แต่พฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการร้ายแรงนำความเสื่อมเสียมาสู่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีและพุทธศาสนาจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยมีพระเครื่องสมเด็จพุฒาจารย์โตพรหมรังสี แบบและชนิดต่าง ๆ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงจัดสร้างขึ้นแล้วพระราชทานแก่จำเลยที่ 1 โดยทรงให้มหาดเล็กจากสำนักพระราชวังนำมามอบให้จำเลยที่ 1 จำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ทำให้นายประโยชน์ กลิ่นอุดงนางดารัตน์ กลิ่นอดุง นายพิพัฒน์ ลี้สกุล พระครูปลัดมนูถาวโรนายกฤษดา พุทธจริยา และพระครูวินัยจอมเทพปราณี ผู้เสียหายทั้งหกกับพวกหลงเชื่อว่าเป็นความจริง และซื้อพระเครื่องดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 แต่ความจริงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไม่เคยทรงจัดสร้างพระเครื่องดังกล่าว และไม่เคยทรงพระราชทานแก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ผลิตและจัดหาพระเครื่องดังกล่าวมามอบให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จำหน่ายโดยทุจริตเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมพระเครื่องแบบต่าง ๆ จำนวน9,132 องค์ บล๊อกพิมพ์พระเครื่อง 7 อัน สมุดรายนามผู้เช่าพระเครื่องเอกสารต่าง ๆ ซึ่งจำเลยทั้งสองมีไว้ใช้ในการกระทำความผิด และเงินจำนวน 79,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองได้มาจากการกระทำความผิดพร้อมทั้งยึดพระเครื่องจำนวน 6 องค์ จากผู้เสียหายซึ่งจำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343, 83 ริบของกลาง กับให้ร่วมกันคืนเงินจำนวน 500 บาท1,000 บาท 1,000 บาท 1,000 บาท 1,000 บาท และ 1,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งหก
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 (ที่ถูกเป็นมาตรา 343 วรรคแรก) ให้วางโทษจำคุกมีกำหนด 4 ปี และริบของกลางที่ยึดมาได้จากผู้เสียหายนอกนั้นให้คืนแก่เจ้าของ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายแต่ละรายตามที่ผู้เสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 (มีระบุในฟ้อง) สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นว่ากองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ โดยท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ได้มีหนังสือขอให้กองปราบปราม กรมตำรวจ ทำการสืบสวนหาข้อเท็จจริงในกรณีที่มีผู้นำเหรียญพระออกจำหน่ายทั่วไปโดยแอบอ้างว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสร้างเหรียญพระดังกล่าวขึ้นเพื่อจำหน่าย อันไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ต่อมาพันตำรวจโทประสิทธิ์ ศรีอักษร ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสืบสวน จึงได้สอบสวนและจับกุมจำเลยทั้งสอง โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ขณะจับกุมเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ณวัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และดำเนินการให้จำเลยที่ 1 สละสมณเพศ กับตรวจค้นพบเงินสดจำนวน 79,000 บาท กับพระเครื่องแบบต่าง ๆ พร้อมสมุดรายนามผู้เช่าพระและเอกสารต่าง ๆ จากจำเลยที่ 1 จึงยึดไว้เป็นของกลาง
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามฟ้องโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ได้ความจากคำเบิกความของพระครูวินัยจอมเทพปราณี พระครูปลัดมนูถาวโรและนายกฤษ พุทธจริยา ผู้เสียหายพยานโจทก์ใจความส่วนใหญ่ตรงกันว่าได้ทราบว่าที่วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร มีพระเครื่องซึ่งเป็นของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้เช่าบูชา โดยจำเลยที่ 1 ที่เป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดดังกล่าวเป็นผู้นำออกให้เช่าครั้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2530 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา พระครูวินัยจอมเทพปราณี พระครูปลัดมนูถาวโร และนายกฤษดา จึงไปเช่าพระเครื่องจากจำเลยที่ 1 โดยพระครูวินัยจอมเทพปราณีเช่าพระเครื่องสมเด็จทรงเจดีย์สามชั้น 1 องค์ ราคา 1,000 บาท พระครูปลัดมนูถาวโรเช่าพระสมเด็จเก้าชั้น 1 องค์ ราคา 1,000 บาท และนายกฤษดาเช่าพระสมเด็จทรงครุฑ 1 องค์ ราคา 1,000 บาท นายพิพัฒน์ ลี้สกุล ผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความว่า ในวันที่ 24 เมษายน หรือพฤษภาคม 2530 เวลาประมาณ11 นาฬิกา ได้ไปเช่าพระเครื่องจากจำเลยที่ 1 โดยเช่าพระสมเด็จคะแนน1 องค์ ราคา 1,000 บาท พยานโจทก์ทั้งสี่ได้จ่ายเงินค่าเช่าพระเครื่องให้จำเลยที่ 1 ไปแล้ว โดยจำเลยที่ 1 รับรองว่าพระเครื่องดังกล่าวเป็นพระเครื่องที่ได้มาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พยานโจทก์ทั้งสี่ได้เช่าพระเครื่องไปจากจำเลยที่ 1 จริง แต่ตามสำนวนไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ได้โฆษณาให้ประชาชนทราบถึงการให้เช่าพระเครื่อง หากเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายทั้งสี่ทราบข่าวมาเองแล้วมาติดต่อขอเช่าพระเครื่องจากจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน คงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341เท่านั้น แม้จะได้ความจากคำเบิกความของพระครูวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร พยานโจทก์ และพระครูวินัยจอมเทพปราณีว่า จำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการให้เช่าพระเครื่องส่วนหนึ่งไปปรับปรุงซ่อมแซมศาลากรรมฐานของวัดดังกล่าว แต่พฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการร้ายแรงนำความเสื่อมเสียมาสู่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพุทธศาสนา จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินให้แก่พระครูวินัยจอมเทพปราณี พระครูปลัดมนูถาวโร นายกฤษดาพุทธจริยา และนายพิพัฒน์ ลี้สกุล ผู้เสียหายตามจำนวนที่ให้แก่จำเลยที่ 1 ไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share