คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2878/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1(จำเลยที่ 1 ในสามสำนวนแรก) และ จ.เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 2133 และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ได้ทำสัญญาจะซื้อขายห้องแถวไม้3 ห้อง พร้อมที่ดินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ 2133 ให้แก่โจทก์ทั้ง3(โจทก์ในสามสำนวนแรก) คนละห้อง โดยให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือนแล้วจำเลยที่ 1 และ จ. ได้ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3(จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในสามสำนวนแรก) โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้ง 3 ทราบ โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้ซื้อทราบอยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 1 และจ.กับโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ยอมรับทั้งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และ จ. ผู้ขาย ซึ่งเท่ากับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ทำสัญญาตกลงกับจำเลยที่1 และ จ. (คู่สัญญาของโจทก์ทั้งสาม) ว่าตนจะชำระหนี้แก่โจทก์ทั้ง 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่2 ที่ 3 มิได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและห้องพิพาทกับโจทก์ทั้ง 3 ขึ้นใหม่ คงถือตามสัญญาเดิม เมื่อต่อมาจำเลยทั้ง 3 ได้แจ้งเรื่องการซื้อขายระหว่างจำเลยต่อโจทก์ทั้ง 3 ว่าถ้าโจทก์ทั้ง 3 ยังประสงค์จะซื้อที่ดินและห้องแถวอยู่ก็ให้ส่งเงินที่ค้างทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ภายใน 7 วัน โจทก์ทั้ง 3 มีหนังสือตอบตกลงขอให้จำเลยที่ 2 นัดวันโอนกรรมสิทธิ์ ดังนี้ย่อมเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้ง 3 ที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 สิทธิของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องผูกพันตนร่วมกับจำเลยที่ 1 และ จ. เป็นคู่สัญญารับผิดในการปฏิบัติตามสัญญานั้นต่อโจทก์ทั้งสามด้วย

ย่อยาว

คดีทั้ง 6 สำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ในสามสำนวนแรกว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ในสำนวนแรกเป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และนางจิตราภา ศุภเจตตรา เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 2133 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายห้องแถว 3 ห้องและที่ดินซึ่งห้องแถวดังกล่าวปลูกอยู่อันเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 2133 ให้กับโจทก์ทั้ง 3 คนละห้อง โจทก์ชำระมัดจำแล้วบางส่วน ที่เหลือตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือน ครั้นถึงกำหนดชำระงวดที่ 4 โจทก์ได้ส่งชำระตามกำหนด แต่จำเลยที่ 1ไม่ยอมรับ ต่อมาจำเลยที่ 1 และนางจิตราภาได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทราบอยู่ก่อนแล้วว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยที่ 1 และนางจิตราภาดังกล่าวแล้ว ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือของจำเลยทั้งสามว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้โอนไปยังจำเลยที่ 2 ที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยอมรับทั้งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และนางจิตราภาให้โจทก์ส่งเงินแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 โจทก์จึงแจ้งไปว่าพร้อมที่จะชำระเงินที่ค้างทั้งหมดในวันโอน จำเลยที่ 2 ที่ 3 กลับเพิกเฉยแล้วอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนและรับเงินที่ค้าง

จำเลยให้การว่า จำเลยที่ 1 และนางจิตราภาได้ทำสัญญาจะขายที่ดินและห้องแถวตามฟ้องแก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 กับนางจิตราภาได้ขายกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ 2133 พร้อมสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1และนางจิตราภาอันมีอยู่กับโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 จริง แต่โจทก์ประพฤติผิดเงื่อนไขขัดต่อสัญญา จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงได้บอกเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่โจทก์ตามสำนวนที่ 4, 5 และ 6 ซึ่งปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่โจทก์ทั้งสาม

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 และ จ. เจ้าของที่ดินโฉนดที่ 2133 และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินได้ทำสัญญาจะซื้อขายห้องแถวไม้ 3 ห้อง พร้อมที่ดินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ 2133 ให้แก่โจทก์ทั้ง 3 คนละห้อง โดยให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือน แล้วจำเลยที่ 1 และ จ. ได้ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้ง 3 ทราบ โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้ซื้อทราบอยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 1 และ จ. กับโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยอมรับทั้งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และ จ. ผู้ขาย ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ทำสัญญาตกลงกับจำเลยที่ 1 และ จ. (คู่สัญญาของโจทก์ทั้ง 3) ว่าตนจะชำระหนี้แก่โจทก์ทั้ง 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและห้องพิพาทกับโจทก์ทั้ง 3 ขึ้นใหม่ คงถือตามสัญญาเดิม แสดงว่าโจทก์ทั้ง 3 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ถือเอาประโยชน์จากสัญญาที่ได้ทำกันไว้ เมื่อต่อมาจำเลยทั้ง 3 ได้แจ้งเรื่องการซื้อขายระหว่างจำเลยต่อโจทก์ทั้ง 3 ว่าถ้าโจทก์ทั้ง 3 ยังประสงค์จะซื้อที่ดินและห้องแถวอยู่ก็ให้ส่งเงินที่ค้างทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ภายใน 7 วัน โจทก์ทั้ง 3 มีหนังสือตอบตกลงขอให้จำเลยที่ 2 นัดวันโอนกรรมสิทธิ์ ดังนี้ ย่อมเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้ง 3 ที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 สิทธิของโจทก์ทั้ง 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องร่วมผูกพันตนร่วมกับจำเลยที่ 1 และ จ. เป็นคู่สัญญาร่วมรับผิดในการปฏิบัติตามสัญญานั้นต่อโจทก์ทั้งสามด้วย

พิพากษากลับ ให้จำเลยร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและห้องพิพาทให้โจทก์ตามสัญญา โดยให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่ค้างอยู่คนละ 26,000บาทแก่จำเลย หากไม่สามารถโอนให้ได้ หรือสภาพแห่งหนี้ไม่อาจบังคับได้ให้จำเลยร่วมกันคืนเงินแก่โจทก์คนละ 35,000 บาท พร้อมค่าเสียหายแก่โจทก์อีกคนละ 9,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยฯ

Share