แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 40 เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยได้ทราบคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จหาใช่ความผิดต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอยู่จนถึงวันฟ้องไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทราบคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2532 แล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2533 อายุความจึงเริ่มนับถัดจากวันที่ก่อสร้างอาคารพิพาทแล้วเสร็จ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 7 ตุลาคม 2541 เกินกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (5)
ฟ้องของโจทก์บรรยายเพียงว่าจำเลยได้ก่อสร้างอาคารพิพาทรุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่ไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น มิได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ อันเป็นองค์ประกอบความผิดของบทบัญญัติในมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 40, 42, 66 ทวิ, 67, 69, 70 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และให้ปรับจำเลยอีกวันละไม่เกิน 120,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40, 42, 66 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 67, 69, 70 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการก่อสร้างอาคาร จำคุก 4 เดือน และปรับ 100,000 บาท และให้ปรับอีกวันละ 5,000 บาท นับแต่วันทราบคำสั่ง คือวันที่ 2 ตุลาคม 2532 ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคาร จำคุก 4 เดือน และปรับ 100,000 บาท และให้ปรับอีกวันละ 5,000 บาท นับแต่วันทราบคำสั่ง คือวันที่ 2 ตุลาคม 2532 ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง รวมจำคุก 8 เดือน และปรับ 200,000 บาท และให้ปรับอีกวันละ 10,000 บาท นับแต่วันทราบคำสั่ง คือวันที่ 2 ตุลาคม 2532 ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2531 บริษัทกะตะกรุ๊ป จำกัด โดยนายประมุขและจำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารเป็นอาคาร 4 ชั้น 1 หลัง อาคาร 3 ชั้น 1 หลัง อาคาร 2 ชั้น 2 หลัง และอาคารชั้นเดียว 8 หลัง ซึ่งอาคารทั้งหมดก่อสร้างเพื่อพาณิชยกรรมทำกิจการโรงแรมบนที่ดินโฉนดเลขที่ 36411 ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เจ้าพนักงานท้องถิ่นอนุญาตให้ก่อสร้างตามใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2533 คงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า คดีโจทก์ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 เป็นความผิดต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังฝ่าฝืนจนถึงวันฟ้อง อายุความยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับทราบคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ หาใช่ความผิดต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอยู่จนถึงวันฟ้องดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทราบคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2532 แล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2533 อายุความจึงเริ่มนับถัดจากวันที่ก่อสร้างอาคารพิพาทแล้วเสร็จ แต่ปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 7 ตุลาคม 2541 เกินกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า ฟ้องโจทก์ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานนี้ว่าจำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคาร 4 ชั้น 1 หลัง ล้ำเข้าไปในบริเวณที่ 1 เป็นระยะ 21 เมตร ซึ่งเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 20 (พ.ศ.2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งที่ 6501/218 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2532 ให้รื้อถอนอาคารดังกล่าว และจำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ จำเลยทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว แต่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าว ไม่ทำการรื้อถอนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เห็นว่า ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ตามกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่งคำสั่งดังกล่าวต้องเป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้มีการแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งอำนาจในการสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงานหรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยให้ดำเนินการรื้อถอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 (11) หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10″ ข้อเท็จจริงที่ว่าอาคารส่วนที่จำเลยก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่ไม่อนุญาตให้ก่อสร้างโดยผิดกฎหมายนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ จึงเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาถึงอำนาจในการออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารของเจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่ฟ้องของโจทก์บรรยายเพียงว่าจำเลยได้ก่อสร้างอาคารพิพาทรุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่ไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น มิได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้อันเป็นองค์ประกอบความผิดของบทบัญญัติในมาตรา 42 ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน