คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อฟ้องโจทก์ตอนแรกได้บรรยายว่า จำเลยจัดให้มีการฉายภาพยนตร์ เพื่อเก็บเงินจากผู้ซื้อตั๋วเข้าชมภาพยนตร์จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทง และได้บรรยายการกระทำตามข้อ (ก)(ข)(ค)และ(ง) กับอ้างมาตราในประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดฟ้องโจทก์จึงได้บรรยายแล้วว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องแต่ผู้เดียวและโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิดดังนั้น แม้ฟ้องข้อ (ข) บรรยายว่าพนักงานของจำเลยที่ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยเป็นผู้ฉีกตั๋วและข้อ (ค) บรรยายว่าพนักงานของจำเลยไม่นำกากตั๋วใส่ภาชนะโดยไม่กล่าวถึงจำเลยก็พอเห็นได้ว่าการกระทำของพนักงานของจำเลยผู้ได้รับแต่งตั้งจากจำเลย เป็นการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของผู้จัดให้มีมหรสพและผู้รับผิดชอบดำเนินการมหรสพนั้นเอง ทั้งข้อเท็จจริงก็ ฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำผิดโดยผู้ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยให้คอยรับตั๋วจากผู้ดู ไม่ฉีกตั๋วที่ได้รับจากผู้ดูแล้วไม่นำกากตั๋วใส่ภาชนะ ทันที อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลรัษฎากร โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้ จำเลยรับผิดทางอาญาได้
จำเลยจำหน่ายตั๋วเข้าชมภาพยนตร์โดยมิได้ปิดอากรมหรสพ 346ฉบับ ไม่ฉีกอากรมหรสพที่ปิดทับบนตั๋วให้ขาดเป็นสองตอน 7 ฉบับ และไม่นำกากตั๋วใส่ภาชนะทันที 143 ฉบับ เมื่อการเสียอากรมหรสพ ต้องเสียเป็นรายตัวผู้ดูตามประมวลรัษฎากร มาตรา 132 การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรตั๋วทุก ๆ ฉบับแม้ จะกระทำต่อเนื่องในการฉายภาพยนตร์รอบเดียวก็ตามแต่ก็แยกการกระทำออกจากกันได้ตามตั๋วแต่ละฉบับ จึงเป็นความผิดหลายกรรม ต่างกันรวม 496 กระทง หาใช่เป็นความผิดเพียง 3 กระทงไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล มีนายธำรงค์เป็นกรรมการผู้จัดการเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2517 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยจัดให้มีการฉายภาพยนตร์เพื่อเก็บเงินจากผู้ซื้อตั๋วเข้าชมภาพยนตร์ในรอบ 19 นาฬิกาตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายบทกระทงต่างกรรมต่างวาระกัน คือ

ก. จำเลยจำหน่ายตั๋วให้ประชาชน 346 คนเข้าดูภาพยนตร์ โดยมิได้เสียอากรมหรสพจำนวน 346 ฉบับ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 135 แห่งประมวลรัษฎากร

ข. พนักงานของจำเลยที่ได้รับตำแต่งตั้งจากจำเลยฉีกตั๋วอากรมหรสพที่ปิดทับไม่ขาดเป็นสองตอน จำนวน 7 ฉบับ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 138 แห่งประมวลรัษฎากร

ค. พนักงานของจำเลยซึ่งเฝ้าประตูฉีกตั๋วแล้วไม่นำกากตั๋วใส่ภาชนะทันทีจำนวน 143 ฉบับ เป็นการฝ่าฝืนประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 11ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2516 ข้อ 13 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 แห่งประมวลรัษฎากร

ง. จำเลยไม่แยกแผนผังที่นั่งดูของชั้นดูราคา 10 กับ 15 บาท เป็นรายอัตราค่าดู จำนวน 1 แผ่น เป็นการฝ่าฝืนประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2516 ข้อ 16 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 141 แห่งประมวลรัษฎากร

การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนประมวลรัษฎากรรวม 497 กระทงขอให้ลงโทษตามประมวลรัษฎากร มาตรา 133, 135, 141, 142, 143ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2516 ข้อ 13, 16

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายรวม 497 กระทง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 142 คือฝ่าฝืนมาตรา 135 ฐานไม่ปิดอากรแสตมป์ลงบนตั๋ว ฝ่าฝืนมาตรา 138 ฐานไม่ฉีกแสตมป์ที่ปิดบนตั๋วให้ขาดเป็นสองตอนและผิดตามมาตรา 143 ฐานไม่ปฏิบัติตามวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับที่ 11 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2516 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ปรับกระทงละ 500 บาท จำนวน 497 กระทง เป็นเงินค่าปรับ 248,500 บาท

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องและโต้เถียงว่า ข้อหา ขายตั๋วโดยไม่ปิดแสตมป์ลงบนตั๋ว ข้อหาฉีกตั๋วไม่ขาดเป็นสองตอนและข้อหาไม่นำกากตั๋วใส่ภาชนะทันทีแต่ละข้อหาเป็นความผิดกระทงเดียว

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีความผิดเฉพาะข้อหาไม่ได้แยกผังชั้นดูแต่ละราคาออกจากัน 1 กระทง ข้อหาอื่นของจำเลยเป็นความผิดรวม 496 กระทง พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยทั้งหมด 496 กระทงเป็นเงินค่าปรับ 248,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาตามข้อ 2(ข) และ (ค) ว่าตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า พนักงานของจำเลยเป็นผู้กระทำซึ่งโจทก์มิได้ฟ้องพนักงานดังกล่าวเป็นจำเลย และมิได้ระบุว่าจำเลยสมคบร่วมกันหรือจ้างวานใช้จึงจะลงโทษจำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัดซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจหรือใช้ให้กระทำไม่ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่าฟ้องโจทก์ตอนแรกได้บรรยายว่า จำเลยจัดให้มีการฉายภาพยนตร์เพื่อเก็บเงินจากผู้ซื้อตั๋วเข้าชมภาพยนตร์ จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทงแล้วได้บรรยายการกระทำตามข้อ (ก)(ข)(ค) และ (ง) กับอ้างมาตราในประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ฟ้องโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องแต่ผู้เดียว และโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิด ดังนั้น แม้ฟ้องข้อ (ข) บรรยายว่าพนักงานของจำเลยที่ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยเป็นผู้ฉีกตั๋ว และข้อ (ค) บรรยายว่าพนักงานของจำเลยไม่นำกากตั๋วใส่ภาชนะ โดยไม่กล่าวถึงจำเลยก็พอเห็นได้ว่า การกระทำของพนักงานของจำเลยผู้ได้รับแต่งตั้งจากจำเลย เป็นการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของ ผู้จัดให้มีมหรสพและผู้รับผิดชอบดำเนินการมหรสพนั้นเอง ทั้งข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันมาว่า จำเลยได้กระทำผิดโดยผู้ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยให้คอยรับตั๋วจากผู้ดู ไม่ฉีกตั๋วที่ได้รับจากผู้ดูแล้วไม่นำกากตั๋วใส่ภาชนะทันที อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลรัษฎากร มาตรา 138, 142, 141, 143 โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามฟ้องข้อ 2(ข) และ (ค) ได้

ฎีกาจำเลยข้อสุดท้ายตามข้อ 3 ที่ว่า ความผิดของจำเลยแต่ละข้อหากระทำต่อเนื่องกับในการฉายภาพยนตร์รอบเดียว จึงเป็นความผิดเพียง3 กระทง ข้อนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยจำหน่ายตั๋วเข้าชมภาพยนตร์โดยมิได้ปิดอากรมหรสพ 346 ฉบับ ไม่ฉีกอากรมหรสพที่ปิดทับบนตั๋วให้ขาดเป็นสองตอน 7 ฉบับ และไม่นำกากตั๋วใส่ภาชนะทันที 143 ฉบับ ศาลฎีกา เห็นว่าการเสียอากรมหรสพต้องเสียเป็นรายตัวผู้ดูตามประมวลรัษฎากร มาตรา 132 การกระทำของจำเลยดังกล่าว ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรตั๋วทุก ๆ ฉบับ แม้จะกระทำต่อเนื่องในการฉายภาพยนตร์รอบเดียวก็ตาม แต่ก็แยกการกระทำออกจากกันได้ตามตั๋วแต่ละฉบับ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน คือรวม 496 กระทง หาใช่เป็นความผิดเพียง 3 กระทงไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share