คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3311/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ได้ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 ยังบัญญัติว่า การพยายามนำของซึ่งยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรเป็นความผิดอยู่ ถือไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ยกเลิกความผิดฐานนี้ และมาตราดังกล่าวกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ แต่ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ดังนั้น จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3
มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 บัญญัติให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อคดีนี้มีการคืนของกลางให้เจ้าของไปแล้วและศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยไม่ปรับ กรณีจึงไม่มีเงินค่าปรับและของกลางที่จะสั่งจ่ายเป็นเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 8 ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2, 27, 99 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 137, 264, 267, 268 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ เอกสารรายการเกี่ยวกับพาหนะ (ตม.2) ใบขนส่งสินค้าพิเศษของกลาง และจ่ายสินบนนำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 264 (ที่ถูก 264 วรรคแรก), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 (ที่ถูก 264 วรรคแรก), 267, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 267 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน จำคุกคนละ 2 เดือน ฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม เนื่องจากจำเลยทั้งสามเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอมนั้นเอง จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและฐานร่วมกันใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จเนื่องจากจำเลยทั้งสามเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเอง จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จแต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพยายามนำรถออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี 2 เดือน ริบหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ เอกสารรายการเกี่ยวกับพาหนะ (ตม.2) และใบขนสินค้าพิเศษของกลาง กับให้จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับร้อยละยี่สิบของราคารถยนต์บรรทุกของกลางตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 และ 8 วรรคสอง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม ฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี เมื่อรวมโทษจำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันพยายามนำรถออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรให้ถูกต้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกคนละ 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังยุติได้ว่า วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ร้อยตำรวจเอกอภิชาติ และร้อยตำรวจตรีชาญณรงค์ กับพวก จับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมยึดรถยนต์กระบะบรรทุก ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บม 6850 สกลนคร มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ เอกสารรายการเกี่ยวกับพาหนะ (ตม.2) ใบขนสินค้าพิเศษ และหนังสือผ่านแดนชั่วคราวของจำเลยที่ 2 เป็นของกลาง ต่อมาจำเลยที่ 3 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนส่งรถยนต์กระบะบรรทุกของกลางมีแผ่นป้ายทะเบียนที่ปรากฏ บม 6850 สกลนคร หมายเลขประจำเครื่องยนต์ที่ปรากฏ 1 KD – 9987416 หมายเลขตัวรถ (แชสซี) ที่ปรากฏ MROCS 12 C 900029408 ไปตรวจพิสูจน์ ปรากฏว่าพบการแก้ไขที่บริเวณหมายเลขตัวรถ (แชสซี) ของรถยนต์ของกลาง โดยใช้ยางซิลิโคนปิดทับบริเวณหมายเลขตัวรถ (แชสซี) เดิม และตอกเลขหมายที่ปรากฏอยู่ก่อนการตรวจพิสูจน์ (MROCS 12 C 900029408) ทับลงบนยางซิลิโคน เมื่อทำการแกะยางซิลิโคนออกพบหมายเลขตัวรถ (แชสซี) เดิมของรถยนต์ของกลางคือเลขหมาย MROGZ 39 G 206048507 เลขหมายที่ปรากฏอยู่ก่อนการตรวจพิสูจน์ (MROCS 12 C 900029408) ไม่ใช่หมายเลขตัวรถ (แชสซี) เดิมของรถยนต์ของกลาง รถหมายเลขทะเบียน บม 6850 สกลนคร จดทะเบียนโดยใช้หมายเลขตัวรถ (แชสซี) MROCS 12 G 900029408 หมายเลขเครื่องยนต์ 2 KD-7165798 ส่วนรถที่ใช้หมายเลขตัวรถ (แชสซี) MROCS 12 C 900029408 ไม่พบข้อมูลในระบบทะเบียน และรถยนต์กระบะบรรทุกของกลางตรวจสอบพบเป็นหมายเลขตัวรถ (แชสซี) MROGZ 39 G 206048507 หมายเลขเครื่องยนต์ 1 KD – 9947816 ซึ่งจดทะเบียนเป็นหมายเลข ผฉ 7587 ชลบุรี มีบริษัทอยุธยา แคปปิตอล ออโตลีส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ มีชื่อนายสายัณห์ เป็นผู้ครอบครอง ส่วนแผ่นป้ายทะเบียนรถหมายเลขทะเบียน บม 6850 สกลนคร เป็นแผ่นป้ายที่ทางราชการออกให้ รถยนต์กระบะบรรทุกของกลางราคาประเมิน 300,000 บาท
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า จำเลยทั้งสามร่วมกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกอภิชาติ ร้อยตำรวจตรีชาญณรงค์ และดาบตำรวจดำรงค์ ผู้ร่วมจับกุมเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ขณะพยานทั้งสามปฏิบัติหน้าที่อยู่ห้องสืบสวนตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคายซึ่งอยู่ห่างจากด่านพรมแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ประมาณ 500 เมตร ร้อยตำรวจเอกอภิชาติได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคายที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด่านพรมแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ให้ไปร่วมตรวจสอบรถยนต์ต้องสงสัยว่าน่าจะมีการสวมซากเนื่องจากภายในห้องเครื่องของรถไม่มีแผ่นเพลทหรือแผ่นอลูมิเนียมที่ระบุรายละเอียดข้อมูลของรถ ชื่อบริษัทผู้ผลิต ยี่ห้อ รุ่น สี ปีที่ผลิต ขนาดเครื่องยนต์ และหมายเลข (แชสซี) ของรถติดอยู่ ซึ่งรถทุกคันมีแผ่นเพลทติดอยู่ภายในห้องเครื่องด้านซ้ายใกล้หม้อแบตเตอรี่ เมื่อร้อยตำรวจเอกอภิชาติกับพวกเดินทางไปถึงเห็นรถยนต์กระบะบรรทุกยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บม 6850 สกลนคร จอดอยู่เลยตู้ตรวจคนเข้าเมือง 5D ฝั่งขาออกไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับเด็กหญิง 1 คน ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ข้างรถคันดังกล่าว ร้อยตำรวจเอกอภิชาติขอตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับรถจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยื่นหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ ใบคู่มือจดทะเบียน หนังสือผ่านแดนชั่วคราวของจำเลยที่ 2 รายการเกี่ยวกับพาหนะ (ตม.2) และใบขนสินค้าพิเศษ และหนังสือผ่านแดนชั่วคราวของจำเลยที่ 1 ให้ดู ร้อยตำรวจเอกอภิชาติตรวจเอกสารแล้วไม่พบพิรุธ ช่วงดังกล่าวจำเลยที่ 1 แสดงท่าทางนิ่งเฉย ส่วนจำเลยที่ 2 มีอาการวิตกกังวล กระสับกระส่ายและหน้าซีด จำเลยที่ 1 บอกว่าจะพาจำเลยที่ 2 และบุตรจำเลยที่ 2 ไปเที่ยวสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจำเลยที่ 2 ก็บอกว่าจะพาบุตรไปเที่ยวสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หลังจากนั้นพยานทั้งสามขอตรวจสอบตัวรถต่อหน้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 พบว่าภายในห้องเครื่องของรถไม่มีแผ่นเพลทติดอยู่ พยานทั้งสามสันนิษฐานว่ารถคันดังกล่าวน่าจะเป็นรถที่ไม่ถูกต้อง ดัดแปลงเอารถที่ได้มาโดยไม่ชอบ เช่นเป็นรถที่มีการขายซากหรือรถที่หลุดจำนำแล้วนำมาสวมทะเบียน การสวมซาก หมายถึงการนำตัวถังรถกับเครื่องยนต์ของอีกคันหนึ่ง และโครงรถยนต์มาประกอบเข้าเป็นตัวรถยนต์แล้วตอกเลขประจำตัวถังของรถให้ตรงกับคู่มือรถที่จะนำรถไปขาย บางครั้งอาจจะเป็นรถสวมทะเบียนคือมีใบคู่มือจดทะเบียนฉบับจริง แล้วไปหารถยี่ห้อรุ่นเดียวกันกับคู่มือจดทะเบียนที่มีอยู่แล้วนำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ หากเจ้าหน้าที่ตรวจไม่ละเอียดก็จะสามารถนำรถออกไปขายที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ แล้วปลดหมายเลขทะเบียนรถออกกลับมาเพื่อนำไปสวมคันอื่นที่มียี่ห้อลักษณะเดียวกันนำออกไปขายได้อีก ครั้นสอบถามจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของรถเกี่ยวกับแผ่นเพลทที่หายไป จำเลยที่ 1 บอกว่าไม่รู้เรื่อง จำเลยที่ 2 ว่าจ้างให้ขับรถของกลางไปขายที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นเงิน 5,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 มีอาการวิตกกังวล ไม่พูดอะไร จึงทำการตรวจสอบหมายเลขตัวรถ (แชสซี) จากหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ ใบคู่มือจดทะเบียน รายการเกี่ยวกับพาหนะ (ตม.2) และใบขนสินค้าพิเศษ ปรากฏว่ามีหมายเลขตัวรถ (แชสซี) ตรงกันคือหมายเลข MROCS 12 G 900029408 เสร็จแล้วตรวจสอบหมายเลขตัวรถ (แชสซี) จากรถที่บริเวณล้อหน้าขวาใช้ไฟฉายส่องดูปรากฏว่าเป็นหมายเลข MROCS 12 C 900029408 ซึ่งไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวว่าเป็นอักษรตัว G แต่ที่ตัวรถระบุเป็นอักษรตัว C ตัวอักษรและตัวเลขที่ติดอยู่ที่ตัวรถมีลักษณะไม่เป็นระเบียบ สม่ำเสมอ จากนั้นพยานทั้งสามจึงจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมยึดรถยนต์กระบะบรรทุก หนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ หนังสือผ่านแดนชั่วคราวของจำเลยที่ 2 เอกสารรายการเกี่ยวกับพาหนะ (ตม.2) และใบขนสินค้าพิเศษเป็นของกลาง ชั้นจับกุมแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ร่วมกันพยายามลักลอบนำรถยนต์ออกนอกราชอาณาจักรโดยสำแดงข้อมูลอันเป็นเท็จ แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานในประการที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ปลอมและใช้เอกสารปลอม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาร่วมกันพยายามลักลอบนำรถยนต์ออกนอกราชอาณาจักรโดยสำแดงข้อมูลอันเป็นเท็จ ข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ และแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่าร่วมกันพยายามลักลอบนำรถยนต์ออกนอกราชอาณาจักรโดยสำแดงข้อมูลอันเป็นเท็จ ปลอมและใช้เอกสารปลอม จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยจำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 3 สามีจำเลยที่ 2 มีอู่ซ่อมรถชื่อ จ.เจริญยนต์ ตั้งอยู่อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 3 เป็นคนจัดหารถและเตรียมเอกสารเกี่ยวกับรถของกลาง จำเลยที่ 1 ไม่รู้เรื่องมีชื่อเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์รถ จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถเป็นเงิน 5,000 บาท โดยจำเลยที่ 3 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 1 ให้ขับรถของกลางไปส่งให้แก่นายทุนเป็นคนสัญชาติลาวชื่อเฮียหลีที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีจำเลยที่ 2 และบุตรจำเลยที่ 2 นั่งรถไปด้วยกัน จำเลยที่ 2 จะเป็นคนบอกเส้นทางและขั้นตอนการยื่นเอกสารตั้งแต่จุดตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคายกระทั่งข้ามไปฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำเลยที่ 1 จะได้รับค่าจ้างหลังจากส่งมอบรถเรียบร้อยแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำรับว่า ก่อนเกิดเหตุมีเฮียหลีเป็นคนสัญชาติลาวโทรศัพท์มาหาจำเลยที่ 2 บอกให้ช่วยหารถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า แบบวีโก้ 1 คัน จำเลยที่ 3 จึงจัดหารถและเตรียมเอกสารรถยนต์กระบะบรรทุกของกลาง แล้วนำรถไปแก้ไขหมายเลขตัวรถให้ตรงกับเอกสารรถที่มีอยู่ จากนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันดำเนินการให้มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะบรรทุกของกลาง เสร็จแล้วจำเลยที่ 2 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้ขับรถยนต์กระบะบรรทุกของกลางไปส่งให้แก่เฮียหลีที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยจำเลยที่ 2 และบุตรจำเลยที่ 2 เดินทางไปด้วยเพื่อบอกเส้นทางและเป็นผู้นัดหมายสถานที่กับเฮียหลี ซึ่งจำเลยที่ 2 เคยทำลักษณะคดีนี้มาหลายครั้ง ในคืนเกิดเหตุร้อยตำรวจเอกอภิชาติให้จำเลยที่ 2 โทรศัพท์บอกจำเลยที่ 3 มามอบตัว แต่จำเลยที่ 3 ไม่มาโดยอ้างว่าอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และโจทก์มีดาบตำรวจตรีจักรี เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคายเป็นพยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ขณะพยานปฏิบัติหน้าที่ตรวจคนขาออกประจำตู้ 5D ด่านถาวรสะพานมิตรภาพไทย-ลาว มีจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และเด็กหญิงศิรประภา บุตรจำเลยที่ 2 พากันเดินมาที่ตู้ 5D แล้วจำเลยที่ 1 นำหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ ใบคู่มือจดทะเบียนรถหมายเลขทะเบียน บม 6850 สกลนคร หนังสือผ่านแดนชั่วคราวของจำเลยที่ 2 พร้อมเด็กหญิงศิรประภา และเอกสารรายการเกี่ยวกับพาหนะ (ตม.2) และหนังสือเดินทางของจำเลยที่ 1 ยื่นต่อพยาน พยานตรวจสอบหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ ใบคู่มือจดทะเบียนรถมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จากนั้นพยานตรวจดูรูปถ่ายของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และบุตรจำเลยที่ 2 ในหนังสือเดินทางและหนังสือผ่านแดนชั่วคราวเปรียบเทียบกับตัวจำเลยที่ 1 ที่ 2 และเด็กหญิงศิรประภา เห็นว่ามีใบหน้าตรงกัน ซึ่งมีแสงสว่างจากหลอดไฟนีออนติดอยู่ที่ตู้ 5D เห็นหน้าทั้งสามคนชัดเจน พยานจึงประทับตราอนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร และนายวีระศักดิ์ เจ้าพนักงานศุลกากรชำนาญงานประจำด่านศุลกากรหนองคายเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า วันเกิดเหตุขณะพยานปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบรถและทำใบขนสินค้าพิเศษให้แก่บุคคลที่จะนำรถข้ามไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่ตู้ 6A และ 6D พยานตรวจเอกสารใบขนสินค้าพิเศษ ใบคู่มือจดทะเบียนรถคันของกลาง มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ หนังสือผ่านแดนชั่วคราวของจำเลยที่ 1 จากนั้นพยานให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบขนสินค้าพิเศษต่อหน้าพยาน เสร็จแล้วพยานจึงประทับตราและลงลายมือชื่ออนุญาตในหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศให้แก่จำเลยที่ 1 นอกจากนี้ โจทก์ยังมีนางนวพร เจ้าพนักงานขนส่งชำนาญงานเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2557 เวลา 14.50 นาฬิกา จำเลยที่ 1 นำสำเนาคู่มือจดทะเบียนรถเป็นหน้ารายการจดทะเบียนหมายเลขทะเบียน บม 6850 สกลนคร หมายเลขตัวรถ (แชสซี) MROCS 12 G 900029408 หมายเลขเครื่องยนต์ 2 KD-7165798 มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ รายการเสียภาษี บัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 มายื่นขอหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ หลังพยานตรวจดูเอกสารทั้งหมดแล้วให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองเอกสาร เสร็จแล้วพยานให้จำเลยที่ 1 กรอกข้อความในแบบคำขอหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ พยานตรวจสอบเอกสารของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับหมายเลขทะเบียนรถ ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ยี่ห้อรถ สีรถ หมายเลขตัวรถ (แชสซี) และหมายเลขเครื่องยนต์จากระบบฐานข้อมูลของสำนักงานขนส่งจังหวัดหนองคาย เห็นว่าถูกต้องตรงกันจึงออกหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศให้แก่จำเลยที่ 1 พันตำรวจตรีเจษฎา พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองหนองคายเป็นพยานเบิกความว่า ขณะพยานปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนเวร ร้อยตำรวจเอกอภิชาติกับพวกควบคุมตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมของกลางมาส่ง พยานจึงจัดทำบัญชีของกลางคดีอาญาไว้ และตรวจสอบข้อมูลรถของกลางที่สำนักงานขนส่งจังหวัดหนองคายปรากฏว่ารถหมายเลขทะเบียน บม 6850 สกลนคร จดทะเบียนโดยใช้หมายเลขตัวรถ (แชสซี) MROCS 12 G 900029408 หมายเลขเครื่องยนต์ 2 KD-7165798 สีเทา พยานส่งรถของกลางไปตรวจพิสูจน์หาร่องรอยการขูดลบแก้ไขที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 4 จังหวัดขอนแก่น พบการแก้ไขที่บริเวณหมายเลขตัวรถ (แชสซี) มีการใช้ยางซิลิโคนปิดทับไว้บริเวณหมายเลขตัวรถเดิม และมีการตอกเลขหมายใหม่จากเลขเดิมคือหมายเลข MROGZ 39 G 206048507 เป็นหมายเลข MROCS 12 C 900029408 ซึ่งหมายเลขตัวรถเลขเดิม เป็นรถหมายเลขทะเบียน ผฉ 7587 ชลบุรี มีบริษัทอยุธยา แคปปิตอล ออโตลีส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และมีชื่อนายสายัณห์ เป็นผู้ครอบครอง ส่วนป้ายทะเบียน บม 6850 สกลนคร เป็นป้ายทะเบียนจริงที่ทางราชการออกให้ รถยนต์กระบะบรรทุกของกลางราคาประเมิน 300,000 บาท ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสามว่าร่วมกันพยายามลักลอบนำรถยนต์โดยสำแดงข้อมูลรถยนต์อันเป็นเท็จ ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้หรืออ้างเอกสารราชการอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เป็นน้องชายจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 3 ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 1 บอกว่าจะว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขับรถไปเที่ยวสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้จำเลยที่ 1 จัดส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไปให้จำเลยที่ 3 เพื่อทำหนังสือผ่านแดน จำเลยที่ 1 ได้จัดส่งไปให้จำเลยที่ 3 จำนวน 4 ใบ วันที่ 13 มิถุนายน 2557 จำเลยที่ 1 เดินทางมาเยี่ยมนายพนารัตน์ บุตรชาย ซึ่งมาฝึกงานอยู่อู่ซ่อมรถของจำเลยที่ 3 ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 พาจำเลยที่ 1 ไปที่สำนักงานขนส่งจังหวัดหนองคาย ยื่นเรื่องขอหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ โดยจำเลยที่ 3 เป็นคนจัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับรถทั้งหมด จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่า มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะบรรทุกของกลาง ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เพียงแต่รับจ้างขับรถพาจำเลยที่ 2 และบุตรจำเลยที่ 2 ไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยจะได้รับค่าจ้าง 5,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 ประกอบอาชีพเปิดอู่ซ่อมรถ ชื่อ จ. เจริญยนต์เพื่อการเกษตร ตั้งอยู่อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจการอู่ซ่อมรถ ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ซื้อรถยนต์กระบะบรรทุกของกลางจากนายประเสริฐ โดยไม่รู้ว่ามีการแก้ไขหมายเลขตัวรถ (แชสซี) วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องชายขับรถยนต์กระบะบรรทุกของกลางพาจำเลยที่ 2 ไปเยี่ยมบิดาซึ่งป่วยอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและนำรถไปให้ท้าวทองเป็นคนสัญชาติลาวดูก่อนซื้อขายกัน จำเลยที่ 3 ไม่ได้เดินทางไปด้วยเนื่องจากนัดหมายไปดูรถกับลูกค้าที่จังหวัดอุดรธานี ต่อมาเมื่อทราบว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมยึดรถไว้ จำเลยที่ 3 ไม่สามารถเดินทางมาหาทั้งสองคนได้เพราะดูรถกับลูกค้ายังไม่เสร็จ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง สำหรับความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า มีการปลอมหมายเลขตัวรถของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ผฉ 7587 ชลบุรี โดยคนร้ายขูดลบแก้ไขหมายเลขตัวรถของรถยนต์ทะเบียน ผฉ 7587 ชลบุรี แล้วนำหลักฐานใบคู่มือทะเบียนรถของรถยนต์หมายเลขทะเบียน บม 6850 สกลนคร ที่ทางราชการออกให้มาสวมแทนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ผฉ 7587 ชลบุรี ซึ่งความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสาร ทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานคนใดเบิกความว่าเห็นจำเลยทั้งสามร่วมกันทำปลอมหมายเลขตัวถังรถดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ร่วมกันใช้เอกสารปลอม ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และร่วมกันใช้เอกสารราชการอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จและความผิดฐานร่วมกันพยายามนำรถออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรให้ถูกต้องเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร นั้น พยานโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเอกสารหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ ใบคู่มือจดทะเบียน หนังสือผ่านแดนชั่วคราว เอกสารรายการเกี่ยวกับพาหนะ (ตม.2) ใบขนสินค้าพิเศษ ไปยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเพื่อเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยขออนุญาตนำรถยนต์กระบะบรรทุกของกลางออกไปนอกราชอาณาจักรแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคายจับกุมเพราะเจ้าพนักงานตำรวจพบว่ารถของกลางไม่มีแผ่นอลูมิเนียม (แผ่นเพลท) ที่บ่งบอกชื่อบริษัทผู้ผลิต ยี่ห้อและสีรถ ปีที่ผลิต รุ่น ขนาดเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถัง ฯลฯ ร้อยตำรวจเอกอภิชาติสอบถามว่าจำเลยที่ 1 จะไปไหน จำเลยที่ 1 บอกว่าจะพาแม่กับลูก (จำเลยที่ 2 และบุตรของจำเลยที่ 2) ไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนจำเลยที่ 2 บอกว่าจะพาลูกไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในช่วงดังกล่าวจำเลยที่ 2 มีสีหน้าท่าทางกระวนกระวาย ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่มีพิรุธ ร้อยตำรวจเอกอภิชาติถามจำเลยที่ 1 ว่าแผ่นเพลทหายไปไหน จำเลยที่ 1 บอกว่าไม่ทราบ ไม่รู้เรื่อง จำเลยที่ 2 ให้มาขับรถ ร้อยตำรวจเอกอภิชาติได้แยกสอบปากคำจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่รู้ที่มาของรถคันของกลาง ไม่รู้ว่าซื้อมาเมื่อไหร่ ที่ไหน ราคาเท่าไหร่ จำเลยที่ 1 บอกว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 โทรศัพท์ให้จำเลยที่ 1 มาขับรถคันของกลางเพื่อนำไปส่งมอบให้กับนายทุนชื่อเฮียหลีที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถจะได้รับค่าจ้าง 5,000 บาท เมื่อส่งมอบรถ ส่วนจำเลยที่ 2 มีหน้าที่บอกเส้นทางตั้งแต่ไปถึงจุดตรวจว่าจะต้องทำอะไรยื่นเอกสารตรงไหน ร้อยตำรวจเอกอภิชาติสอบปากคำจำเลยที่ 2 รับว่ารถคันของกลางเป็นรถสวมซาก หมายความว่า เอาข้อมูลรถที่ใช้การไม่ได้เป็นการขายซากรถเอาหมายเลขทะเบียน หมายเลขประจำรถทุกอย่างมาสวมทับรถอีกคันที่ได้มาโดยไม่ชอบ เช่น รถถูกขโมยมา ส่วนที่ไม่มีเพลทเนื่องจากหากนำแผ่นเพลทรถคันอื่นมาติดข้อมูลจะไม่ตรงกัน จำเลยที่ 2 รับว่า จำเลยที่ 3 เป็นคนทำโดยจำเลยที่ 3 มีอู่ซ่อมรถและทำตัวถังรถที่อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 2 บอกว่าก่อนเกิดเหตุเฮียหลีเป็นคนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โทรศัพท์มาหาจำเลยที่ 2 แจ้งว่าให้หารถกระบะ ยี่ห้อโตโยต้าวีโก้ให้สักหนึ่งคัน จำเลยที่ 3 จึงหารถให้ และไปทำหนังสือผ่านแดนอนุญาตนำรถเข้าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยทำเรื่องให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถหมายเลขทะเบียน บม 6850 สกลนคร โดยจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ทำเอกสารที่มีชื่อจำเลยที่ 1 และจัดเตรียมเอกสารที่ไปยื่นขออนุญาตรถระหว่างประเทศ จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 1 ให้มาขับรถของกลางโดยจะให้ค่าจ้าง 5,000 บาท ไปส่งให้เฮียหลี จำเลยที่ 2 จะเป็นคนประสานกับเฮียหลีทางโทรศัพท์ว่าจะไปพบกันที่ไหน จำเลยที่ 2 บอกว่าทำลักษณะนี้มาหลายครั้ง แต่ไม่เคยถูกจับ สำหรับจำเลยที่ 3 ในชั้นสอบสวนปฏิเสธว่ารถของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 เห็นว่า พยานโจทก์แต่ละปากล้วนเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสาม คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในการดำเนินการซื้อขายรถยนต์กระบะบรรทุกของกลางและไม่รู้เห็นเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เป็นของจำเลยที่ 1 แต่เป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ให้นายเกรียงเดช เป็นผู้ดำเนินการ และจำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตว่า ในวันที่มีการทำหนังสืออนุญาตนำรถออกไปนอกประเทศเป็นการทำบัตรผ่านแดนไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเท่านั้น อย่างน้อยที่สุดขณะที่จำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวข้างต้นเพื่อจะผ่านแดนไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำเลยที่ 1 ย่อมจะต้องเห็นเอกสารที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถของกลาง แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ทักท้วงต่อจำเลยที่ 2 และเจ้าพนักงานว่าตนไม่ใช่เจ้าของรถ ทั้งพยานโจทก์ปากนางนวพรเบิกความยืนยันว่า พยานได้ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารต่าง ๆ ในการทำหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ ซึ่งมีหน้าสำเนาคู่มือจดทะเบียนรถหมายเลขทะเบียน บม 6850 สกลนคร ที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ด้วย เจือสมกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่รับว่า จำเลยที่ 3 พาจำเลยที่ 1 ไปที่ทำการขนส่งจังหวัดหนองคายโดยจำเลยที่ 3 ทำเอกสารทั้งหมดแล้วให้จำเลยที่ 1 ยื่นเอกสารและจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ข้อเท็จจริงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ดำเนินการให้จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาทเพื่อสะดวกที่จะนำรถผ่านแดน ที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าไม่รู้เห็นเกี่ยวกับรถคันพิพาทว่ามีชื่อเป็นของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อรถยนต์กระบะบรรทุกของกลางมาโดยชอบด้วยกฎหมายจากนายประเสริฐ ก่อนการซื้อขายมีการนำรถไปตรวจสภาพที่สำนักงานขนส่งจังหวัดสกลนครก่อนที่จะโอนรถย้ายเข้าจังหวัดสกลนคร ในช่วงเกิดเหตุมีเจตนาที่จะใช้รถเดินทางไปเยี่ยมบิดาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ป่วยที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไม่มีเจตนากระทำความผิด นั้น จำเลยที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพต่อร้อยตำรวจเอกอภิชาติรับว่า รถของกลางเป็นรถสวมซากของรถคันอื่นโดยไม่ชอบและรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นคนกระทำโดยมีอู่ซ่อมรถและทำตัวถังเพื่อส่งรถของกลางไปขายให้เฮียหลีที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 2 กลับอ้างว่ารถของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ให้การชั้นสอบสวนอ้างว่า รถของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 นำมาซ่อมสีบริเวณกันชนหน้าที่อู่ซ่อมรถของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 เป็นคนขอให้พาไปเที่ยวที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งขัดแย้งกับทางนำสืบในชั้นพิจารณาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่เบิกความว่า รถของกลางจำเลยที่ 3 ซื้อมาจากนายประเสริฐ โดยถูกต้อง ไม่ทราบมาก่อนว่ามีการสวมทะเบียน พิจารณาแล้วหากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อรถของกลางมาโดยสุจริตก็ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนและแม้นางรัชนีกร เจ้าพนักงานขนส่งชำนาญการ พยานจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถามค้านว่า ก่อนการซื้อขายมีการตรวจสภาพรถยนต์และเอกสารถูกต้องตรงกันจึงดำเนินการจดทะเบียนโอนรถให้เป็นทะเบียน บม 6850 สกลนคร ก็ไม่สามารถชี้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำโดยสุจริตเพราะเจ้าพนักงานขนส่งอาจตรวจสภาพรถเพียงภายนอกไม่มีการตรวจพิสูจน์หมายเลขตัวถังโดยผู้เชี่ยวชาญ และรถยนต์ที่มีการตรวจสภาพนั้นก็ไม่แน่ว่าจะเป็นรถคันเดียวกันกับรถยนต์กระบะบรรทุกของกลางหรือไม่ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้ว่ารถของกลางเป็นรถที่มีการแก้ไขหมายเลขตัวรถซึ่งเป็นการปลอมเอกสารและจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนชื่อในทะเบียนรถเป็นของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 รู้ว่ารถของกลางมีการปลอมเลขตัวถังรถเพื่อนำไปขายให้กับเฮียหลีที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้หมายเลขตัวถังรถของกลางปลอม ร่วมกันแจ้งให้นางนวพร เจ้าพนักงานขนส่งชำนาญงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและร่วมกันใช้เอกสารราชการอันเป็นเท็จ ร่วมกันแจ้งความเท็จต่อดาบตำรวจจักรี และความผิดฐานร่วมกันพยายามนำรถออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
เนื่องจากระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 โดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 ยังบัญญัติว่า การพยายามนำของซึ่งยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรเป็นความผิดอยู่ ถือไม่ได้ว่าพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ยกเลิกความผิดฐานนี้ และมาตราดังกล่าวกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ แต่ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ดังนั้นจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณกว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และเห็นว่า โทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดโทษสูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมกับรูปคดี
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับร้อยละยี่สิบของราคารถยนต์บรรทุกของกลางตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 และมาตรา 8 วรรคสอง นั้น เห็นว่า มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อคดีนี้มีการคืนของกลางให้เจ้าของไปแล้ว และศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยไม่ปรับ กรณีจึงไม่มีเงินค่าปรับและของกลางที่จะสั่งจ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 วรรคสอง ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีนี้ให้จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับร้อยละยี่สิบของราคารถยนต์บรรทุกของกลางมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสาร ส่วนความผิดฐานร่วมกันพยายามนำรถออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรให้ถูกต้องเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี เมื่อรวมกับความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จซึ่งจำคุกคนละ 1 ปี เป็นจำคุกจำเลยทั้งสามรวมคนละ 2 ปี ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share