แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้มีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานภายหลังจากที่ได้มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้นก็ตาม ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐานที่บัญญัติเพิ่มเติมดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนหลังไปทันที นับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น
ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติวรรคหก ของมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่บัญญัติว่าผู้ร้องต้องร้องขอให้ศาลสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินไปในคราวเดียวกัน และผู้ร้องก็มิได้มีคำร้องขอดังกล่าวเพิ่มเติมมาในภายหลังที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัตินี้ ศาลจึงไม่อาจสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าเงินที่ ส. กับพวกชิงทรัพย์ไปเป็นของผู้เสียหายที่ได้มาโดยสุจริต ผู้เสียหายจึงมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจาก ส. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ผู้คัดค้านทั้งสอง ซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้เสียหายจึงเป็นผู้มีสิทธิในฐานะเจ้าของเงินที่แท้จริง และยังถือได้ว่าเป็นผู้รับโอนสิทธิโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนที่จะติดตามเอาเงินคืนจาก ส. กับพวกตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ด้วย เมื่อ ส. นำเงินของผู้เสียหายไปซื้อหุ้นและวางเป็นหลักประกันในบัญชี (ซื้อขาย) หลักทรัพย์ และได้เงินปันผลจากหุ้นที่ซื้อซึ่งเป็นทรัพย์สินและดอกผลของผู้เสียหายที่ ส. ต้องคืนแก่ผู้เสียหาย ทรัพย์สินนั้นจึงไม่ตกเป็นของแผ่นดิน โดยผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับช่วงสิทธิรับเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวนี้แทน
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2561)
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกพนักงานอัยการผู้ร้องทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้อง และเรียกบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) กับบริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้านทั้งสองสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ตามลำดับ
ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด พร้อมดอกผลของทรัพย์สินที่เกิดขึ้น ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสองสำนวนยื่นคำคัดค้านขอให้คุ้มครองสิทธิตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินคือ หุ้นทั้ง 2 รายการ มูลค่าประมาณ 1,444,250 บาท และเงินหลักประกันในบัญชีหลักทรัพย์กับเงินในบัญชีธนาคารอีก 2 รายการ มูลค่า 258,942.95 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นมิให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 4 รายการ ของนายสายฟ้า ได้แก่ หุ้นบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) 40,000 หุ้น ราคาประเมิน 1,190,000 บาท หุ้นบริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) 3,000 หุ้น ราคาประเมิน 254,250 บาท พร้อมดอกผล และเงินหลักประกันในบัญชีหลักทรัพย์บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 092 xxx-x ชื่อบัญชีนายสายฟ้า จำนวน 203,529.29 บาท กับเงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาคลองจั่น เลขที่บัญชี 156 – 5 – 25xxx-x ชื่อบัญชีนายสายฟ้า จำนวน 55,413.66 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของผู้คัดค้านทั้งสองให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จ้างบริษัทกรุงเทพเซอร์เว็กซ์ จำกัด ขนส่งเงินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับประกันภัยสำหรับเงินไว้จากบริษัทกรุงเทพเซอร์เว็กซ์ จำกัด โดยผู้คัดค้านที่ 1 ร่วมรับประกันภัยในสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ ผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมรับประกันภัยในสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเงินที่เอาประกันภัย มีอายุการคุ้มครอง 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2556 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 นายสายฟ้ากับพวกร่วมกันชิงทรัพย์เงินจากพนักงานขนเงินบริษัทกรุงเทพเซอร์เว็กซ์ จำกัด ที่กำลังขนเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางปะอิน ไป 15,590,000 บาท หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจ ตำรวจภูธรภาค 1 สืบทราบและจับนายสายฟ้ากับนายวีระจักร์ ดำเนินคดีข้อหาชิงทรัพย์เงินดังกล่าว เจ้าพนักงานตำรวจติดตามยึดเงินคืนได้ 6,600,000 บาท ยังไม่ได้คืน 8,990,000 บาท ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายสายฟ้ากับนายวีระจักร์เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวันที่ 19 มีนาคม 2556 ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 265, 268, 289 (7) ประกอบมาตรา 80, 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 42 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 คดีดังกล่าวถึงที่สุด เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2556 บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) ส่งแบบรายงานการทำธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (ปปง. 1 – 03) แจ้งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินว่าผู้ทำธุรกรรมชื่อนายสายฟ้า นำเงินที่ได้จากการชิงทรัพย์ดังกล่าวมาซื้อหุ้นที่บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,000,000 บาท และวันที่ 2 กันยายน 2556 บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) มีหนังสือแจ้งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ว่านายสายฟ้าได้โทรศัพท์จากเรือนจำประสงค์จะขายหุ้นทั้งหมดที่อยู่ที่บริษัท ต่อมาคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้อายัดทรัพย์ของนายสายฟ้ากับพวกไว้ชั่วคราวคือ หุ้นบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) 40,000 หุ้น ราคา 1,190,000 บาท และหุ้นบริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) 3,000 หุ้น ราคา 254,250 บาท ที่ซื้อผ่านบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 092 xxx-x กับเงินหลักประกันบัญชีหลักทรัพย์ดังกล่าวชื่อบัญชีนายสายฟ้า จำนวน 203,529.29 บาท และเงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาคลองจั่น เลขที่บัญชี 156 – 5 – 25xxx-x ชื่อบัญชีนายสายฟ้า จำนวน 55,413.66 บาท และมีมติส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณาขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ยึดไว้ดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน หลังเกิดเหตุชิงทรัพย์ดังกล่าว บริษัทกรุงเทพเซอร์เว็กซ์ จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 15,590,000 บาท ให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และผู้คัดค้านทั้งสองชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทกรุงเทพเซอร์เว็กซ์ จำกัด โดยผู้คัดค้านที่ 1 ชำระเงิน 6,573,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 ชำระเงิน 2,817,000 บาท รวมเป็นเงิน 9,390,000 บาท โดยแบ่งเป็นชำระค่าเสียหาย 8,990,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 400,000 บาท และผู้คัดค้านทั้งสองได้เป็นโจทก์ฟ้องนายสายฟ้าและนายวีระจักร์เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 17 มิถุนายน 2557 ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 6,293,000 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,697,000 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองประการแรกก่อนว่า ความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติป้องกันและการปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2556 โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 อันเป็นการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานดังกล่าวนี้ในภายหลังจากที่นายสายฟ้าได้กระทำความผิดมูลฐานนี้จะมีผลบังคับย้อนหลังหรือไม่นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า เพื่อเป็นการตัดวงจรมิให้ผู้ประกอบอาชญากรรมนำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมากระทำการในรูปแบบต่างๆ อันเป็นการฟอกเงินเพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ทำให้ยากแก่การปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมาย ซึ่งแม้จะมีผลเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลก็ตาม แต่ก็จะมีผลกระทบต่อเฉพาะผู้ประกอบอาชญากรรมและผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยเท่านั้น ส่วนบุคคลผู้เป็นสุจริตชนนั้นจะไม่มีผลกระทบด้วยแต่ประการใด ทั้งไม่เป็นการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย หากแต่เป็นการบังคับทางแพ่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานนั้นตกเป็นของแผ่นดินอันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนคนสุจริตทั่วไป ดังนั้น แม้จะมีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) ในภายหลังจากที่ได้มีการกระทำความผิดมูลฐานดังกล่าวก็ตาม ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความผิดฐานนี้ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนไปทันทีนับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานอันบัญญัติเพิ่มเติมดังกล่าวนี้ได้
นอกจากนี้ที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่า ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมวรรคหกของมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ให้เลขาธิการขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วยในคราวเดียวกัน และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานควรต้องยกคำร้องและให้ไปดำเนินการตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏชัดตามบทบัญญัติว่า พนักงานอัยการผู้ร้องต้องร้องขอไปในคราวเดียวกับการร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน ดังนั้น เมื่อในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้มาโดยที่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทกฎหมายดังกล่าวมานี้แล้วและผู้ร้องก็มิได้มีคำร้องขอให้ศาลสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายเพิ่มเติมมาในภายหลังจากที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัตินี้แล้วศาลจึงมิอาจสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายตามที่ฎีกาได้ ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายทั้งสองประการที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างมานั้นฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองประการสุดท้ายว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นเจ้าของที่แท้จริง ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือได้มาซึ่งประโยชน์โดยสุจริตตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าเงินที่นายสายฟ้ากับพวกชิงทรัพย์ไปนั้นเป็นของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และเป็นเงินที่ได้มาจากการประกอบธุรกิจธนาคารโดยสุจริต ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจากนายสายฟ้าผู้ชิงเงินไปโดยผิดกฎหมายและไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เมื่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทกรุงเทพเซอร์เว็กซ์ จำกัด ที่ตกเป็นลูกหนี้ต้องชดใช้เงินที่ถูกชิงไปตามสัญญาข้อตกลงรับจ้างขนเงิน และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินที่ถูกนายสายฟ้ากับพวกชิงเอาไปแล้ว บริษัทกรุงเทพเซอร์เว็กซ์ จำกัด ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อันเกี่ยวกับเงินที่ถูกชิงไปด้วยอำนาจกฎหมาย มีสิทธิติดตามและเอาเงินจำนวนที่ชดใช้ไปดังกล่าวคืนจากนายสายฟ้ากับพวกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 227 และเมื่อผู้คัดค้านทั้งสองได้ร่วมกันชดใช้เงินตามสัดส่วนของตนให้แก่บริษัทกรุงเทพเซอร์เว็กซ์ จำกัด ในฐานะผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ผู้คัดค้านทั้งสองย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทกรุงเทพเซอร์เว็กซ์ จำกัด ที่มีสิทธิติดตามเอาเงินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คืนจากนายสายฟ้ากับพวกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 ดังนั้น ผู้คัดค้านทั้งสองจึงเป็นผู้มีสิทธิในฐานะเจ้าของเงินที่แท้จริงด้วยการรับช่วงสิทธิมาจากเจ้าของเงินที่แท้จริงตามลำดับที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว และยังถือได้ว่าเป็นผู้รับโอนสิทธิที่จะติดตามเอาเงินคืนจากนายสายฟ้ากับพวกโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เมื่อนายสายฟ้านำเงินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไปซื้อหุ้นและไปวางไว้เป็นหลักประกันในบัญชี (ซื้อขาย) หลักทรัพย์ ทั้งยังได้เงินปันผลจากหุ้นที่ซื้อมาดังกล่าวด้วยนั้นล้วนเป็นทรัพย์สินและดอกผลของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่นายสายฟ้าไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ต้องคืนให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับช่วงสิทธิรับเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวนี้แทน ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลแพ่งให้ทรัพย์สินทั้ง 4 รายการ พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ