คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5379/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในส่วนของคดีอาญาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง แม้คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน 2 ชุด จะมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดหรือไม่ ก็เป็นดุลยพินิจในการพิจารณาพยานหลักฐานเท่าที่คณะอนุกรรมการแต่ละชุดรวบรวมได้ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกาฬสินธุ์และโจทก์ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าจำเลยบริจาคเงิน 5,000 บาท แก่ชุมชนจริงอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (2) เมื่อโจทก์มีคำสั่งให้เลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอกุฉินารายณ์ เขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ และมีการจัดให้มีการเลือกตั้งตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่จากจำเลยได้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยจะได้รับโทษทางอาญาด้วยหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 537,525 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 537,525 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 537,525 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 ธันวาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกคำขอให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอกุฉินารายณ์ เขตเลือกตั้งที่ 2 ในวันที่ 14 มีนาคม 2547 และผลการรวมคะแนนเลือกตั้งปรากฏว่าจำเลยได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุด แต่มีผู้ร้องเรียนว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2546 จำเลยกระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่จำเลย โจทก์พิจารณารายงานการสืบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ตลอดจนพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า จำเลยกระทำการตามที่ถูกร้องเรียน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 และมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยเป็นเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่มีคำสั่ง และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอกุฉินารายณ์ เขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ รวมทั้งดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2547 มีค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นเงิน 537,525 บาท ในส่วนคดีอาญาพนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์มีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 15 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 แต่ไม่ชำระ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดหลังที่โจทก์แต่งตั้งมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์เอง โจทก์ย่อมชี้นำได้โดยการให้คุณให้โทษแก่คณะอนุกรรมการชุดหลังได้ ย่อมไม่มีความเป็นกลางหรือไม่เที่ยงธรรม ส่วนคณะอนุกรรมการสืบสวนชุดแรกเป็นบุคคลภายนอกไม่มีส่วนได้เสียกับผู้ใดให้ความเห็นว่า จำเลยไม่มีความผิด ให้ยุติเรื่อง ถือว่าโจทก์มีพยาน 2 ชุด ให้การแตกต่างกันในสาระสำคัญ ย่อมมีพิรุธสงสัย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลย แม้กระทั่งพนักงานอัยการได้พิจารณาอีกชั้นหนึ่งแล้ว มีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย เมื่อจำเลยไม่ได้มอบเงิน 5,000 บาท แก่คณะกรรมการจัดงานประจำปีเจ้าปู่สามขา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในส่วนของคดีอาญาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง แม้คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน 2 ชุด จะมีความเห็นแตกต่างกัน ก็เป็นดุลยพินิจในการพิจารณาจากพยานหลักฐานเท่าที่คณะอนุกรรมการแต่ละชุดรวบรวมได้ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกาฬสินธุ์และโจทก์ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (2) เมื่อโจทก์มีคำสั่งให้เลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอกุฉินารายณ์ เขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ และมีการจัดให้มีการเลือกตั้งตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในการจัดให้มีการการเลือกตั้งใหม่จากจำเลยได้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยได้รับโทษทางอาญาด้วยหรือไม่ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ชอบด้วยเหตุผลแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้มอบเงิน 5,000 บาท แก่คณะกรรมการจัดงานประจำปีเจ้าปู่สามขา พยานจำเลยเป็นประจักษ์พยานโดยตรงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าพยานโจทก์ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า เห็นว่า โจทก์มีนายเฉลิม ผู้ไปร่วมงานเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า มีผู้บริจาคเงิน 2 คน คือ นายประเสริฐและจำเลย และมีนายสุปัน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 11 กับนายประมวล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสามขา เบิกความสนับสนุน ซึ่งทั้งสองคนเป็นกรรมการจัดงานและอยู่ในงานนั้นด้วยยืนยันว่า ได้ยินเสียงพิธีกรประกาศว่า นายประเสริฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์บริจาคเงิน 15,000 บาท และจำเลยบริจาคเงิน 5,000 บาท โดยมีนางสมภาร กำนันตำบลสามขา เป็นตัวแทนรับมอบ สอดคล้องต้องกันกับคำเบิกความของนายเฉลิม นอกจากนี้โจทก์ยังมีสำเนาบัญชีรายรับรายจ่ายงานเจ้าปู่สามขามาประกอบ ส่วนพยานจำเลยมีนางสมภาร นายบุญส่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสามขา และนายควบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 เบิกความว่า นายประเสริฐกล่าวเปิดงานและมอบเงินบริจาคแก่นางสมภารโดยไม่ได้พูดถึงจำนวนเงินที่บริจาค แต่บัญชีรายรับรายจ่ายงานเจ้าปู่สามขา มีข้อความระบุในรายการบริจาคทั่วไปว่า นายประเสริฐบริจาค 15,000 บาท และจำเลยบริจาค 5,000 บาท ซึ่งนายบุญส่งตอบคำถามค้านทนายโจทก์ยอมรับว่า พยานเคยเห็นบัญชีรายรับรายจ่ายดังกล่าวโดยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 17 นำมามอบให้ชาวบ้านทุกคนและคณะกรรมการจัดงานทุกคนจะได้รับเอกสารดังกล่าวด้วย ดังนั้น ที่จำเลยนำสืบว่านายประเสริฐกล่าวเปิดงานและมอบเงินบริจาคแก่นางสมภารโดยไม่ได้พูดถึงจำนวนเงินที่บริจาคจึงไม่น่าเชื่อถือ ทั้งยังไม่ปรากฏว่ามีใครคัดค้านเอกสารดังกล่าวตั้งแต่แรกว่าไม่ถูกต้อง ส่วนนายควบตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในวันเกิดเหตุพยานทราบว่าจำเลยมีเป้าหมายที่จะลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาขามเพื่อไปลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอกุฉินารายณ์ เขตเลือกตั้งที่ 2 ซึ่งเจือสมกับพยานหลักฐานโจทก์ที่ว่าจำเลยกระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย ซึ่งอยู่ในช่วงเวลา 60 วัน ก่อนครบวาระสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยบริจาคเงิน 5,000 บาท แก่ชุมชนสามขาจริง การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (2) เมื่อโจทก์มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยภายหลังวันลงคะแนนและจำเลยที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้รับการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น โจทก์จึงมีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 96 วรรคท้าย นอกจากนี้ มาตรา 99 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ให้ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายในการให้มีการเลือกตั้งใหม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า มีค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นเงิน 537,525 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งเงินที่ได้ชดใช้ให้ตกเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการเลือกตั้งใหม่นั้น
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งอันมีมูลความผิดทางอาญา จึงเป็นคดีละเมิด มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันทราบเหตุให้รับผิดและทราบผู้ต้องรับผิด แต่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 9 ปีเศษ คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เห็นว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แต่เป็นการเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ เป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่กำหนดให้มีอายุความ 10 ปี หาใช่อายุความ 1 ปี นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2547 และฟ้องคดีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share