แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การเช่าช่วงที่ดินพิพาทถือเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเช่าช่วงจากโจทก์ แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์แต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อของจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงต้องถือว่าจำเลยอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยจะอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว เพื่อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างจำนวน 17,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายและค่ารื้อถอนเป็นเงิน 30,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทที่เช่า และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าหรือผู้อาศัยออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้แต่เฉพาะข้อกฎหมาย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายตามวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 โจทก์เช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณสถานีรถไฟชะอวด เนื้อที่ 11.13 ไร่ ตามสัญญาเช่าที่ดิน เมื่อประมาณปี 2541 โจทก์ตกลงด้วยวาจาให้จำเลยเช่าช่วงที่ดินเปล่าบางส่วนคิดค่าเช่าเดือนละ 500 บาท และจำเลยได้ก่อสร้างอาคารบนที่ดินดังกล่าว ภายหลังจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่า ที่จำเลยฎีกาว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยได้บอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทอีกต่อไป จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้นั้น เห็นว่า การเช่าช่วงที่ดินพิพาทถือเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเช่าช่วงจากโจทก์ แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์แต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อของจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงต้องถือว่าจำเลยอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยจะอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว เพื่อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป และได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ