แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ปัญหาว่าเจ้าของรวมคนอื่น ๆ จะฟ้องขับไล่เจ้าของรวมคนหนึ่งได้หรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จึงเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ปัญหาข้อนี้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง การที่เจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น เจ้าของรวมคนอื่น ๆ ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่ นายนิกร คำมุง นายประเสริฐ คำมุง และจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน และเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดิน น.ส.3 ก. ซึ่งได้มาโดยพินัยกรรมจากบิดา โดยมีบ้านเลขที่ 272 ของจำเลยที่ได้มาโดยพินัยกรรมฉบับเดียวกันปลูกอยู่บนที่ดิน จำเลยได้รื้อบ้านออกแล้วสร้างบ้านหลังใหม่แทนหลังเดิม ต่อมาจำเลยได้ต่อเติมชายคาบ้านออกไปด้านหลัง ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรื้อสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านเลขที่ 272 พร้อมชายคาส่วนที่ต่อเติมออกไปจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 272 เฉพาะส่วนตามแนวเส้นสีส้มในแผนที่พิพาทออกไปจากที่ดิน น.ส.3 ก.
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินจำนวนสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าของรวมจะฟ้องขับไล่เจ้าของรวมได้หรือไม่ แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่าในศาลชั้นต้น แต่ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จึงเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหานี้ในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสอง เห็นว่า เจ้าของรวมคนหนึ่งหากใช้สิทธิขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น เจ้าของรวมคนอื่น ๆ ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคแรก ดังนั้น การที่จำเลยก่อสร้างอาคารเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่พิพาทเดือดร้อน ย่อมเป็นการขัดต่อการใช้สิทธิของโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามกฎหมาย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน