แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไปกับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่บริษัท บ. ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง จำเลยซึ่งเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าวมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามมาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จึงควรจะต้องรู้ว่าบริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีอยู่ การที่จำเลยมิได้เก็บรักษาเอกสารไว้ตามมาตรา 1271 อีกทั้งเมื่อจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งหลังจากนั้น 1 ปีเศษและรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่อีก 1,538,905.44บาท แต่มิได้กันเงินที่จะชำระหนี้ให้กรมสรรพากรโจทก์โดยกลับแบ่งเงินเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น อันขัดต่อมาตรา 1264 และมาตรา 1269 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ต่อมาศาลฎีกาเห็นว่าคดีในส่วนของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลางและพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาดังกล่าวนั้นถึงที่สุด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นกรรมการและเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทบีพี ดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการจัดการทรัพย์สินของบริษัท โดยนำไปชำระหนี้ของบริษัทก่อนแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือจะแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทเท่านั้น แต่ในการชำระบัญชีของบริษัท จำเลยได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายและละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท กล่าวคือบริษัทได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2535 กับภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคมและมิถุนายน 2535 ไว้ไม่ถูกต้อง โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 31ธันวาคม 2534 บริษัทยื่นแบบแสดงรายการ ภงด.50 แสดงรายได้ 3,365,611 บาทแต่บริษัทไม่ส่งมอบบัญชีและเอกสารให้เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินจึงอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) ประเมินภาษีเงินได้ นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย 62,470.83 บาท และเงินเพิ่มตามมาตรา 27 คำนวณถึงวันที่ 30 เมษายน 2538 จำนวน 32,797.19 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 95,268 บาท บริษัทอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2535 บริษัทยื่นแบบแสดงรายได้ 1,259,786.21 บาท แต่จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทยื่นรายได้ขาดไป1,895,035.67 บาท ความจริงแล้วบริษัทมีรายได้เป็นเงิน 3,154,821.88 บาท บริษัทไม่ส่งมอบบัญชีและเอกสารให้เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินจึงอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย เป็นภาษีที่บริษัทต้องชำระเพิ่มเติม 157,741.09 บาทและเงินเพิ่มตามมาตรา 27 คำนวณถึงวันที่ 22 เมษายน 2538 จำนวน 68,617.37 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 226,358 บาท บริษัทอุทธรณ์การประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนกุมภาพันธ์ 2535บริษัทยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดขายในเดือนกุมภาพันธ์ 2535 จำนวน 51,775.70บาท แต่จากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานของโจทก์พบว่าบริษัทมียอดขาย 57,200บาท บริษัทจึงเสียภาษีมูลค่าเพิ่มขาดไป 379.70 บาท และต้องเสียเงินเพิ่ม 210.73 บาทเบี้ยปรับ 379.70 บาท รวมเป็นเงิน 970 บาท บริษัทอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้แก้ไขการประเมิน คงเรียกเก็บภาษี 117.75 บาท เงินเพิ่ม65.49 บาท เบี้ยปรับ 47.10 บาท รวมเป็นเงิน 230.34 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนมีนาคม 2535 บริษัทยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดขายในเดือนมีนาคม 2535 จำนวน100,280.37 บาท แต่จากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานของโจทก์พบว่าบริษัทมียอดขาย107,300 บาท บริษัทจึงเสียภาษีมูลค่าเพิ่มขาดไป 524.08 บาท และต้องเสียเงินเพิ่ม283 บาท เบี้ยปรับ 524.98 บาท รวมเป็นเงิน 1,331 บาท บริษัทอุทธรณ์การประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้แก้ไขการประเมิน คงเรียกเก็บภาษี 32.70บาท เงินเพิ่ม 17.64 บาท เบี้ยปรับจำนวน 13.08 บาท รวมเป็นเงิน 63.42 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนมิถุนายน 2535 บริษัทแสดงยอดขายในเดือนมิถุนายน 2535 เป็นศูนย์ โดยไม่มียอดขาย แต่จากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานของโจทก์พบว่าบริษัทมียอดขาย 2,417,631 บาท บริษัทจึงเสียภาษีมูลค่าเพิ่มขาดไป 169,234.17 บาท และต้องเสียเงินเพิ่ม 83,770.91 บาท เบี้ยปรับ 338,460.34 บาท รวมเป็นเงิน 591,473บาท บริษัทอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้แก้ไขการประเมิน คงเรียกเก็บภาษี 80,899.97 บาท เบี้ยปรับ 48,539.98 บาท เงินเพิ่ม40,045.50 บาท รวมเป็นเงิน 169,485.45 บาท รวมเป็นหนี้ภาษีที่บริษัทต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 491,425.21 บาท และเงินเพิ่มตามกฎหมายในอัตราร้อยละ 1.5ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินค่าภาษี 301,262.34 บาท นับจากวันที่คิดคำนวณตามใบประเมิน จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทมีหน้าที่ต้องนำทรัพย์สินของบริษัทใช้หนี้ภาษีอากรค้างข้างต้นให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ก่อน แล้วจึงนำทรัพย์สินที่เหลือแบ่งคืนผู้ถือหุ้นหรือจะนำทรัพย์สินของบริษัทแบ่งคืนผู้ถือหุ้นแต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทเท่านั้น แต่เมื่อระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน 2535ถึงวันที่ 30 กันยายน 2536 จำเลยรู้อยู่แล้วว่าบริษัทยังมีหนี้ภาษีที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ได้จงใจฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่นำทรัพย์สินของบริษัทชำระหนี้ภาษีจำนวน 491,425.21บาท พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายให้แก่โจทก์ก่อน แต่กลับนำทรัพย์สินคือเงินจำนวน1,538,905.44 บาท ของบริษัทคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นรวม 16 คน รวมทั้งจำเลย แล้วจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2536 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ทวงถามให้บริษัทโดยจำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชีชำระหนี้ค่าภาษีดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วแต่บริษัทไม่ชำระ โจทก์ได้ฟ้องบริษัทและจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2538 ให้ร่วมกันชำระหนี้ภาษีดังกล่าวแก่โจทก์ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้บริษัทชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 491,405.21 บาท กับให้ชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากต้นเงินภาษีอากรจำนวน 301,262.34 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้ทั้งหมดมิให้เกินกว่าต้นเงินภาษีที่ต้องชำระ ให้บริษัทดังกล่าวใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท และยกฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว โจทก์อุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนของจำเลย ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรพิพากษาว่าคดีของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับฟ้องถึงชั้นมีคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลย และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 สำหรับหนี้ค่าภาษีอากรทั้งหมดตามคำพิพากษาดังกล่าวโจทก์ไม่สามารถติดตามให้บริษัทชำระแก่โจทก์ได้ เนื่องจากบริษัทได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ไม่มีทรัพย์สินที่จะนำมาชำระหนี้ได้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นจำนวนตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางดังกล่าวเป็นค่าภาษีอากร 301,262.34 บาท เบี้ยปรับ 48,600.16 บาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีอากร 301,262.34 บาท คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 155,775.62 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 647,181.31 บาท โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงชดใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2541 และมอบอำนาจให้นายวีระชัย ตันติกุล รองอธิบดีดำเนินคดีแทนโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน647,181.31 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีอากร 301,262.34 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ทำละเมิดหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์รู้ตัวผู้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีแก่จำเลย โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 เมษายน 2541 เกินกำหนด 1 ปีคดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงินเท่ากับหนี้ค่าภาษีที่บริษัทบีพี ดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด ไม่ชำระให้แก่โจทก์ แต่จำกัดวงเงินไม่เกิน 1,538,905.44 บาท ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยคำนวณถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกิน647,181.31 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง มีร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็นอธิบดีมีอำนาจทำการแทนโจทก์และมอบอำนาจให้นายวีระชัยตันติกุล รองอธิบดี ดำเนินคดีแทน บริษัทบีพี ดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2535 โดยมีจำเลยซึ่งเป็นกรรมการบริษัทเป็นผู้ชำระบัญชีจดทะเบียนเลิกการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ 30กันยายน 2536 ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีเหตุอันควรเชื่อว่าระหว่างปี 2534ถึงปี 2535 บริษัทยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง จึงออกหมายเรียกถึงจำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2537 ให้นำส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีแก่เจ้าพนักงานของโจทก์เพื่อทำการตรวจสอบ จำเลยไม่ได้ส่งมอบบัญชีและเอกสารให้แก่เจ้าพนักงานของโจทก์ เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงทำการประเมินและแจ้งการประเมินแก่จำเลยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 ให้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทพร้อมเงินเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 และปี 2535 เป็นเงิน 95,268 บาท และ 226,358 บาท ตามลำดับ ภาษีมูลคาเพิ่มของบริษัทพร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคมและมิถุนายน 2535 เป็นเงิน970 บาท 1,331 บาท และ 591,473 บาท ตามลำดับ จำเลยอุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 และปี 2535 และมีคำวินิจฉัยให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นว่าให้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคมและมิถุนายน 2535 เป็นเงิน 230.34 บาท 63.42 บาทและ 169,485.45 บาท ตามลำดับ โจทก์ฟ้องบริษัทและจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2538 ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้บริษัทชำระหนี้ค่าภาษีดังกล่าวแก่โจทก์ แต่ยกฟ้องจำเลยโดยวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยเป็นมูลละเมิดไม่ใช่คดีภาษีอากร โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาว่า คดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยและยกอุทธรณ์โจทก์ ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีไปแล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานเกิดขึ้นภายหลังขณะเสร็จการชำระบัญชีบริษัทบีพี ดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด ไม่มีหนี้สินใด จำเลยจึงคืนเงินค่าหุ้นแก่ผู้ถือหุ้น ที่จำเลยมิได้กันเงินไว้ชำระหนี้เพราะโจทก์มิได้แจ้งจำเลยให้ทราบว่ามีหนี้สินจำเลยไม่ใช่นักธุรกิจจึงไม่ทราบว่าการเลิกเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มต้องแจ้งต่อโจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันเลิกประกอบการนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทบีพี ดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด จำเลยจึงมีอำนาจและหน้าที่ในการเป็นผู้ชำระบัญชีตามที่กฎหมายบัญญัติ หน้าที่สำคัญที่ผู้ชำระบัญชีจะต้องดำเนินการก็คือการชำระสะสางการงานของบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้น ตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การที่บริษัทบีพี ดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องมีการขายสินค้าไปในราคาต่ำกว่าทุนแสดงยอดรายรับจากการขายขาดไป ทำให้การชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 และปี 2535 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2535 กับภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์มีนาคมและมิถุนายน 2535 ไม่ถูกต้องจำเลยเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าว จึงมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามมาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จำเลยจึงควรจะต้องรู้ว่าบริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีดังกล่าวแก่โจทก์ เนื่องจากยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยก่อน จำเลยจึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่ เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวเป็นการประเมินเอง หาจำต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินมาก่อนไม่ เพียงแต่หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษียื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและแจ้งการประเมินได้ต่อไปเท่านั้น อีกทั้งการชำระบัญชีจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 1271 ที่บัญญัติให้มอบบรรดาสมุดและบัญชี และเอกสารทั้งหลายของบริษัทซึ่งได้ชำระบัญชีนั้นแก่นายทะเบียนเพื่อเก็บรักษาไว้ 10 ปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี การที่จำเลยมิได้เก็บรักษาบรรดาเอกสารดังกล่าวโดยอ้างว่าไม่มีผู้เก็บรักษาจึงฟังไม่ขึ้น อีกทั้งเมื่อบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วจำเลยมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งเลิกกิจการภายหลังจากนั้น 1 ปีเศษ และรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีในเวลา 2 เดือนเศษต่อมา โดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่อีก 1,538,905.44 บาท แต่จำเลยมิได้กันเงินที่จะชำระหนี้ให้โจทก์โดยกลับแบ่งเงินดังกล่าวเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1264 และมาตรา 1269 ที่กำหนดให้ผู้ชำระบัญชีกันเงินส่วนที่บริษัทเป็นหนี้และแบ่งคืนเงินแก่ผู้ถือหุ้นเพียงแต่เท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาจำเลยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าในคดีเดิมศาลฎีกาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลย เป็นผลให้คดีในส่วนของจำเลยถือเสมือนว่าไม่เคยมีการฟ้องร้องกันมาก่อน จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสองนั้น เห็นว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ต่อมาศาลฎีกาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6211/2540เห็นว่า คดีในส่วนของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลาง และพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล กรณีต้องด้วยมาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาดังกล่าวนั้นถึงที่สุด ปรากฏว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 เมษายน 2541 ไม่เกิน 60 วัน จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปเป็นฎีกาในข้อที่ไม่เป็นสาระ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน