แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ขอแก้คำฟ้องว่าผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อคือ น. มิใช่ ส. เป็นการแก้ไขให้ตรงต่อความเป็นจริงเพราะโจทก์ผิดหลงพิมพ์ผิดไป เป็นการแก้ไขเล็กน้อยจึงแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ไปในราคาและจะต้องผ่อนชำระงวดละเดือนละเท่าใด จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์เพียง 6 งวด ผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 7 เป็นต้นมาโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์นำออกขายทอดตลาดได้ราคา 782,000 บาท เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า เหตุแห่งการบอกเลิกสัญญาสืบเนื่องมาจากเหตุใด และการขายทอดตลาดได้ในราคาดังกล่าวต่ำกว่าราคาที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป จึงเป็นความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ส่วนสภาพของรถยนต์ในขณะขายทอดตลาดหรือสถานที่ ๆขายทอดตลาดเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบเท่านั้น ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. แต่จำเลยที่ 1 มีเงินไม่เพียงพอจึงต้องหาธุรกิจเช่าซื้อมาช่วยดำเนินการให้ โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือและโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เป็นของโจทก์ จากนั้นโจทก์จึงนำรถยนต์มาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อ การกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงิน
จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ในระหว่างที่รถยนต์ยังอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ยึดรถยนต์คืน
ค่าเสียหายอันเกิดจากโจทก์ขายรถยนต์แล้วยังขาดราคาค่าเช่าซื้ออยู่อีกจำนวนหนึ่ง เป็นค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการผิดสัญญา และเป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าขาดประโยชน์โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดรายได้ ส่วนการกำหนดอัตราค่าปรับอีกร้อยละ 2 บาท ต่อเดือน จากจำนวนเงินดังกล่าว เป็นเบี้ยปรับที่คู่สัญญาอาจกำหนดไว้ได้ในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคา เป็นค่าเสียหายอันสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 มิใช่ค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 562 เมื่อกฎหมายลักษณะเช่าซื้อมิได้บัญญัติอายุความในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ โจทก์มอบอำนาจให้นายวรวุฒิ วรธิพรหมมา ฟ้องและดำเนินคดีแทนและนายวรวุฒิได้มอบอำนาจช่วงให้นายวินัย เจริญจิตสวัสดิ์ ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์มอบอำนาจให้นางสาวนิตยา อนันตศิริจินดา ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2539 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อออดี้ หมายเลขทะเบียน9ฬ-1402 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ ในราคา 1,452,336.60 บาท โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด ผิดสัญญา ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 515,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยเบี้ยปรับร้อยละ 2 ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ประกอบกิจการให้กู้ยืมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังตกเป็นโมฆะ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบและได้ราคาต่ำกว่าเป็นจริง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการขายทอดตลาดที่ได้ราคาต่ำกว่าราคาค่าเช่าซื้อค่าเสียหายจำนวน 450,000 บาท เป็นค่าเช่าซื้อค้างชำระ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว สัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยที่ 1กับโจทก์ รถยนต์พิพาทสามารถขายได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท หากนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าเพียงเดือนละไม่เกิน 3,000 บาท โจทก์ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถคืน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับร้อยละ 2 ต่อเดือน ข้อตกลงที่ให้เรียกค่าปรับดังกล่าวเป็นค่าเสียหายซ้ำซ้อนขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นโมฆะฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 380,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยเบี้ยปรับร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 การแก้ไขคำฟ้องจะต้องกระทำเสียก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานเว้นแต่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์ขอมอบอำนาจช่วงให้นายวินัย เจริญจิตสวัสดิ์ ดำเนินคดีแทนซึ่งโจทก์มีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้ว และทำเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องก็ได้ ส่วนที่โจทก์ขอแก้คำฟ้องว่าผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อคือนางสาวนิตยา อนันตศิริจินดา มิใช่นายสุรเดชภูมิชัย เป็นการแก้ไขให้ตรงต่อความเป็นจริงเพราะโจทก์ผิดหลงพิมพ์ผิดไปเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงแก้ไขได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องเรื่องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและการขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทไม่ชัดเจนเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ไปในราคาและจะต้องผ่อนชำระงวดละเดือนละเท่าใด จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์เพียง6 งวด ผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 7 เป็นต้นว่าโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ และยึดรถยนต์นำออกขายทอดตลาดได้ราคา 782,000 บาท เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาเพียงพอที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจได้ว่า เหตุแห่งการบอกเลิกสัญญาสืบเนื่องมาจากเหตุใด และการขายทอดตลาดได้ในราคาดังกล่าวซึ่งต่ำกว่าราคาที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป จึงเป็นความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ส่วนสภาพของรถยนต์ในขณะขายทอดตลาดหรือสถานที่ ๆ ขายทอดตลาดเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบเท่านั้น ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในชั้นยื่นคำให้การจำเลยทั้งสองต่อสู้คดีแต่เพียงว่า โจทก์ประกอบกิจการให้กู้ยืม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง การให้กู้ยืมตกเป็นโมฆะ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบโจทก์ได้ความว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรวม 22 ข้อ ปรากฏตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารหมาย จ.1 และตามวัตถุประสงค์ข้อ 1 คือ “ให้เช่า ให้เช่าซื้อ…” การกระทำของโจทก์อยู่ในวัตถุประสงค์และกิจการดังกล่าวนี้ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง สำหรับเรื่องนิติกรรมอำพรางนั้น การที่จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัดขอนแก่นชุมพลกลการ แต่จำเลยที่ 1 มีเงินไม่เพียงพอจึงต้องหาธุรกิจเช่าซื้อมาช่วยดำเนินการให้ โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือและโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เป็นของโจทก์จากนั้นโจทก์จึงนำรถยนต์พิพาทมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อการกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงิน…
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดประโยชน์ ค่าขาดราคาเช่าซื้อ และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้วตามหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.7 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ในระหว่างที่รถยนต์ยังอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ยึดรถยนต์คืน แม้โจทก์จะมิได้นำพยานมาสืบยืนยันว่าอาจนำออกให้เช่าได้เดือนละ 20,000บาท ก็ตาม แต่เป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่าในระหว่างที่รถยนต์ยังอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์จากการใช้สอยโดยไม่ต้องไปเช่ารถยนต์ผู้อื่นทั้งค่าขาดประโยชน์ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เดือนละ 10,000 บาท นั้น คิดเป็นรายวันเพียงวันละ 300 บาทเศษ จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว สำหรับค่าเสียหายจำนวน 350,000 บาท นั้น เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากโจทก์ขายรถยนต์แล้วยังขาดราคาค่าเช่าซื้ออยู่อีกจำนวนหนึ่ง ค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการผิดสัญญา และเป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าขาดประโยชน์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดรายได้ ส่วนการกำหนดอัตราค่าปรับอีกร้อยละ 2 บาท ต่อเดือน จากจำนวนเงินดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่คู่สัญญาอาจกำหนดไว้ได้ ในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่ประการใด
จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและขอให้ศาลกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้เสียใหม่เห็นว่า ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคา ค่าเสียหายทั้งสองจำนวนเป็นค่าเสียหายอันสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 มิใช่ค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 562 เมื่อกฎหมายลักษณะเช่าซื้อมิได้บัญญัติอายุความในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความนั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจโดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ รวมถึงความสุจริตในการต่อสู้คดีศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจเหมาะสมแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน