คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21074/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า สัญญาประกันสุขภาพของโจทก์ไม่เป็นการประกันชีวิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แต่เป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง เมื่อบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ไป ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ได้จ่ายไปแทนจากจำเลยทั้งสามซ้ำซ้อนอีกนั้น ไม่ชอบเนื่องจากตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 5 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ บริษัท หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ และหมายความรวมถึง สาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 19 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า “ประกันชีวิต” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน นอกจากบุคคลดังต่อไปนี้ (1) บริษัทและมาตรา ๓๓ บัญญัติว่า ห้ามมิให้บริษัทกระทำการดังต่อไปนี้ (1) ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ดังนั้น บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด จึงไม่อาจประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ การที่บริษัทดังกล่าวจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ จึงฟังได้ว่าเป็นการจ่ายตามข้อตกลงในสัญญาประกันสุขภาพอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิตซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับจากบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ตามสัญญา โดยไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยทั้งสามผู้ต้องรับผิดฐานละเมิด โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยทั้งสามได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,912,618.71 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,821,541.63 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,364,103.96 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน1,299,146.63 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552) จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน1,469,103.96 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน1,399,146.63 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามให้การในทำนองเดียวกันว่า ค่าเสียหายสูงเกินส่วนมิได้ให้การชัดแจ้งว่าสูงเกินส่วนอย่างไรด้วยเหตุผลใด เป็นการยอมรับค่าเสียหายตามฟ้องโจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด จ่ายไปตามสัญญาประกันสุขภาพ ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่าค่าเสียหายสูงเกินส่วน แม้จะไม่ได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าสูงเกินส่วนอย่างไร ก็ถือว่าจำเลยทั้งสามปฏิเสธจำนวนค่าเสียหายตามฟ้องแล้ว จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์มีภาระการพิสูจน์ แต่อย่างไรก็ตามการกำหนดค่าเสียหายในกรณีละเมิดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ดังนั้น จึงเป็นดุลพินิจที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7จะรับวินิจฉัยให้ตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า สัญญาประกันสุขภาพของโจทก์ ไม่เป็นการประกันชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 แต่เป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง เมื่อบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ไป ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสามได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ได้จ่ายไปแทนจากจำเลยทั้งสามซ้ำซ้อนอีกนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 5 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ บริษัท หมายความว่าบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ และหมายความรวมถึงสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตในราชอาณาจักรตามบทบัญญัตินี้ด้วย มาตรา 19 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า “ประกันชีวิต” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน นอกจากบุคคลดังต่อไปนี้ (1) บริษัท และมาตรา 33 บัญญัติว่า ห้ามมิให้บริษัทกระทำการดังต่อไปนี้ (1) ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ดังนั้น บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด จึงไม่อาจประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ การที่บริษัทดังกล่าวจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ จึงฟังได้ว่าเป็นการจ่ายตามข้อตกลงในสัญญาประกันสุขภาพอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิตซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับจากบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ตามสัญญา โดยไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยทั้งสามผู้ต้องรับผิดฐานละเมิด โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยทั้งสามได้อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลส่วนนี้จากจำเลยทั้งสาม ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเมื่อโจทก์มีหลักฐาน มานำสืบแสดงยืนยันว่ามีการรักษาพยาบาลของโจทก์ในส่วนนี้จริง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 210,700 บาท ตามเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยมิได้กล่าวด้วยว่า นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่สั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เป็นอันเพิกถอนไป เป็นการสั่งเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,679,803.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,609,846.63 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share