คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8803/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยใช้ถ้อยคำพูดกับโจทก์ว่า “กูเบื่อผู้ชายแก่ ๆ ควยเล็ก เซ็กส์ห่วย หัวล้าน ตัวเตี้ย ๆ หน้าเหี้ยใจยังเหี้ย หัวขโมยแบบมึงเต็มที” และ “กูมีความพร้อมทุกอย่าง สาวสวยเหมาะสมกับหนุ่ม ๆ แข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ พร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรยาก กูแต่งงานกับมึงเพื่อประชด อ. เจ็บ ก็แค่นั้น กูไม่ได้พิศวาสมึงเลย…” และส่งข้อความทางโทรศัพท์ว่า “เดี๋ยวกูจะไปนอนให้คนอื่นเอา” เป็นถ้อยคำหยาบคาย อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนอันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และ (6) ส่วนการที่โจทก์ไม่กลับบ้านนานนับสัปดาห์ ไม่ยอมหลับนอนกับจำเลย ออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาอยู่ด้วยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ไม่อุปการะเลี้ยงดู จึงเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. 1516 (6) เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้หย่ากัน โจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คู่ความจึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้อีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247
เงินฝากในบัญชีธนาคารและสลากออมสิน นั้น โจทก์นำสืบว่า ระหว่างสมรสจำเลยนำเงินส่วนที่โจทก์มอบให้ไปเปิดบัญชีเงินฝากและซื้อสลากออมสิน ทางนำสืบจำเลยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยได้มาอย่างไร จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากโจทก์ที่ให้เงินมาในระหว่างเป็นสามีภริยา จึงเป็นการได้มาภายหลังจากที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ กรณีต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคท้ายว่า เงินฝากในบัญชีธนาคาร และสลากออมสินเป็นสินสมรส ชายและหญิงพึงได้ส่วนเท่ากัน โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรสดังกล่าวกึ่งหนึ่งมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันฟ้องหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) และ 1533
รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า โจทก์ซื้อมาใส่ชื่อจำเลยในใบคู่มือจดทะเบียน ก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ จำเลยนำสืบประกอบภาพในสื่อสังคมออนไลน์ (facebook) ที่ลงภาพเพื่อขอบคุณโจทก์ มีของใช้ส่วนตัวของจำเลยวางในรถ มีสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยแปะกระจกรถ โจทก์ได้แสดงความเห็นในเชิงหยอกล้อการขับรถของจำเลย และโจทก์เองก็มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ถือว่าโจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา เป็นสินส่วนตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ต้องคืนรถทั้งสองคันดังกล่าวที่โจทก์เอาไปให้จำเลย
เดิมจำเลยได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์เดือนละ 100,000 บาท โจทก์รับว่าไม่ได้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยก่อนฟ้องเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อสามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 และจำเลยไม่มีหลักฐานมายืนยันรายได้ก่อนสมรสกับโจทก์ ที่ศาลล่างกำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยเดือนละ 50,000 บาท เหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยขอค่าอุปการะเลี้ยงดูภายหลังจากหย่าไปจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่นั้น เนื่องจากการหย่าเป็นความผิดของทั้งสองฝ่าย ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูส่วนนี้ให้
จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปในบ้านใช้สเปรย์ฉีดพ่นทรัพย์สินได้รับความเสียหายนั้น เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่ได้อาศัยเหตุแห่งการหย่าและการเรียกค่าทดแทนตามฟ้องเดิมเป็นมูลหนี้ แต่เป็นการกล่าวอ้างการกระทำอีกตอนหนึ่งของโจทก์อันเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างจากฟ้องเดิม
ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องแย้งในข้อนี้มานั้นชอบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะฟ้องใหม่เพื่อเรียกค่าซ่อมแซมทรัพย์สินดังกล่าวภายในอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ให้จำเลยแบ่งสินสมรสจากเงินฝากประจำธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และสลากออมสินกึ่งหนึ่งแก่โจทก์เป็นเงิน 2,050,000 บาท พร้อมดอกผลจนถึงวันแบ่งสินสมรส เมื่อหย่าแล้วโจทก์ได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ด้วยเงินสินสมรสดังกล่าวในส่วนของจำเลยจำนวน 2,050,000 บาท พร้อมดอกผลถึงวันแบ่ง ส่งมอบและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 214006 พร้อมบ้านเลขที่ 8/56 ซอยลาดปลาเค้า 77 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ราคา 21,900,000 บาท รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ไฮลักซ์ หมายเลขทะเบียน ฎธ 844 กรุงเทพมหานคร ราคา 993,000 บาท รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ อี 250 ซีจีไอ หมายเลขทะเบียน ฎฮ 333 กรุงเทพมหานคร ราคา 3,900,000 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และหากจำเลยทำให้ทรัพย์สินเสื่อมลงจนไม่อาจส่งมอบหรือจดทะเบียนโอนแก่โจทก์ได้ ขอให้กำหนดค่าทดแทนเป็นเงินเท่ากับราคาที่ซื้อทรัพย์นั้นทั้งหมดรวมเป็นเงิน 26,793,000 บาท รวมค่าทดแทนแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 28,843,000 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย หากโจทก์ไม่ยอมจดทะเบียนหย่าให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยเดือนละ 100,000 บาท นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือนมกราคม 2557 รวมเป็นเงิน 400,000 บาท และค่าอุปการะเลี้ยงดูกรณีโจทก์จำเลยต้องหย่าขาดจากกันอันเนื่องจากความผิดของโจทก์อีกเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่ ถึงแก่ความตาย หรือมีเหตุอื่นตามกฎหมาย ให้โจทก์คืนรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ หมายเลขทะเบียน ฎฮ 333 กรุงเทพมหานคร รวมค่าตกแต่งภายในและเปลี่ยนล้อแมกซ์ราคา 4,150,000 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ยี่ห้อไอโฟน (i Phone) 4 S และ Samsung Note 2 ราคาเครื่องละ 20,000 บาท กระเป๋าถือ 2 ใบ ยี่ห้อ Prada และ Balenciaga ราคาใบละ 50,000 บาท นาฬิกายี่ห้อโรเล็กซ์ (Rolex) 1 เรือน ราคา 100,000 บาท และถุงใส่เงินสดจำนวน 100,000 บาท หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคารวม 4,490,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไป ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายกรณีหมิ่นประมาทจำเลยจำนวน 5,000,000 บาท และค่าซ่อมแซมทรัพย์สินภายในบ้านของจำเลยเป็นเงิน 300,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,190,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย ให้จำเลยแบ่งสินสมรสจากเงินฝากประจำในบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และสลากออมสินของธนาคารออมสิน ให้โจทก์กึ่งหนึ่งโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 (ข) และมาตรา 1533 ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยนับแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือนมกราคม 2557 รวม 4 เดือน เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพิพากษาจนกว่าจะหย่าขาดจากกัน ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายในการซ่อมแซมทรัพย์สินจำนวน 100,000 บาท คืนกระเป๋าถือจำนวน 2 ใบ ราคาใบละ 50,000 บาท นาฬิกา 1 เรือน ราคา 100,000 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ราคา 19,900 บาท แก่จำเลย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน สำหรับรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ หมายเลขทะเบียน ฎฮ 333 กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์จำเลยแบ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 คำขออื่นของโจทก์และจำเลยนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 214006 พร้อมบ้านเลขที่ 8/56 ซอยลาดปลาเค้า 77 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ฎธ 844 กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์ด้วยกึ่งหนึ่ง และให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้ คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นในส่วนฟ้องแย้งเฉพาะประเด็นนี้ให้แก่จำเลย และคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์เฉพาะประเด็นนี้ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยนอกจากนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์จำเลยรู้จักกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ประกอบพิธีหมั้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 แล้วจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2554 ก่อนจดทะเบียนสมรสโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 214006 พร้อมบ้านเลขที่ 8/56 ซอยลาดปลาเค้า 77 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ใส่ชื่อจำเลยในโฉนดที่ดิน โจทก์ซื้อรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ หมายเลขทะเบียน ฎฮ 333 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ไฮลักซ์ หมายเลขทะเบียน ฎธ 844 กรุงเทพมหานคร จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 และ 13 กันยายน 2554
สำหรับประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยฎีกาในเรื่องเหตุฟ้องหย่าว่าเป็นความผิดของอีกฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวนั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยโดยอาศัยเหตุหย่าอันเป็นความผิดของทั้งสองฝ่าย เหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลย ได้แก่การที่จำเลยใช้วาจาหยาบคายไม่เหมาะสมถ้อยคำมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์ซึ่งเป็นสามีอย่างร้ายแรง โดยการส่งข้อความทางโทรศัพท์ว่า “เดี๋ยวกูจะไปนอนให้คนอื่นเอา” และใช้ถ้อยคำพูดกับโจทก์ว่า “กูเบื่อผู้ชายแก่ ๆ ควยเล็ก เซ็กส์ห่วย หัวล้านตัวเตี้ย ๆ หน้าเหี้ยและใจยังเหี้ย หัวขโมยแบบมึงเต็มที” และยังพูดอีกว่า “กูมีความพร้อมทุกอย่าง สาวสวยเหมาะสมกับหนุ่ม ๆ แข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ พร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรยาก กูทำได้ทุกอย่าง เลิกกับอั๋น (ชื่อเล่นของคู่รักเก่าของจำเลย) ถึงรับแต่งงานหลอก ๆ กับมึงเพื่อประชดอั๋นเจ็บ ก็แค่นั้นแหละ กูไม่ได้รักพิศวาสกับมึงเลย รู้ป่ะ มึงไม่มีค่าอะไรสำหรับกูเลยรู้ตัวไว้ด้วย เรื่องราวที่ผ่านมาไม่มีค่าอะไรเลยสักนิด ทุกอย่างไร้ค่า พอเสร็จจากมึงแล้วก็จะได้ไปพบคนดีที่คู่ควรสักที ขอบคุณที่ทำให้รู้ว่ากูคิดไม่ผิดเลยที่ด่ามึงเหี้ย มึงเลวทรามกว่านั้น” และยังถือได้ว่าประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (3) และ (6) ในส่วนของโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ประพฤติตนอันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงด้วยการไม่กลับบ้านเป็นเวลานานนับสัปดาห์ ครั้นเมื่อกลับมาก็ไม่ยอมนอนกับจำเลย โดยแยกไปนอนห้องรับแขก แล้วล็อกประตูห้อง โจทก์ออกจากบ้านแล้วไม่กลับมาอยู่กับจำเลยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 รวมทั้งไม่ช่วยเหลือส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูจำเลยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยจำเลยไม่สมัครใจ จึงมีเหตุที่จำเลยฟ้องหย่าโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1516 (6) ด้วยเช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่ากันดังกล่าว โจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งกันในประเด็นนี้ คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คู่ความจึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับประเด็นข้อพิพาทเรื่องที่ดินโฉนดเลขที่ 214006 พร้อมบ้านเลขที่ 8/56 ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นทรัพย์ของฝ่ายใด โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นคนซื้อด้วยเงินตัวเองจึงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยโต้แย้งว่าโจทก์ให้เป็นของหมั้น จึงเป็นของจำเลย ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทนายโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ตกลงกับจำเลยได้แล้ว ทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ ในเรื่องเกี่ยวกับที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวต่อกันอีก กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้อีกต่อไป
คงมีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยตามข้อพิพาทที่ยังเหลืออยู่ประการแรกว่า เงินฝากในธนาคารและสลากออมสินเป็นสินสมรสหรือไม่ ทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า ระหว่างสมรสจำเลยนำเงินส่วนที่โจทก์มอบให้ฝากเข้าบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,500,000 บาท และซื้อสลากออมสินจำนวน 1,600,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยได้มาอย่างไร ซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานให้มีน้ำหนักรับฟังว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว เงินในบัญชีดังกล่าวและสลากออมสินจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากโจทก์ที่ให้เงินมาในระหว่างเป็นสามีภริยารวมอยู่ด้วยกัน อันได้มาภายหลังที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ กรณีจึงต้องถือตามข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคท้ายว่า เงินฝากในบัญชีธนาคารดังกล่าวและสลากออมสินเป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยา ชายและหญิงพึงได้ส่วนเท่ากัน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรสดังกล่าวกึ่งหนึ่งมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 (ข) และ 1533
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า โจทก์ต้องคืนรถยนต์แก่จำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ หมายเลขทะเบียน ฎฮ 333 กรุงเทพมหานคร โจทก์ซื้อใส่ชื่อจำเลยในคู่มือจดทะเบียน เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2554 ส่วนรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ฎธ 844 กรุงเทพมหานคร โจทก์ซื้อเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ใส่ชื่อจำเลยในใบคู่มือจดทะเบียน เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม และ 13 กันยายน 2554 ตามลำดับ ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ซึ่งจำเลยนำสืบประกอบภาพในสื่อสังคมออนไลน์ (facebook) ที่ลงเพื่อขอบคุณโจทก์ การมีของใช้ส่วนตัวของจำเลยไว้ในรถ มีสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยแปะกระจกรถ รวมทั้งโจทก์ได้แสดงความเห็นในเชิงหยอกล้อการขับรถของจำเลย และโจทก์เองก็มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ให้โดยเสน่หา เมื่อโจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หาถือว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (1) โจทก์จึงต้องคืนรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ หมายเลขทะเบียน ฎฮ 333 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ไฮลักซ์ หมายเลขทะเบียน ฎธ 844 กรุงเทพมหานคร ที่เอาไปจากจำเลยให้แก่จำเลย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามฟ้องแย้งหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า จำเลยเคยได้รับเงินค่าอุปการเลี้ยงดูจากโจทก์ภายหลังจากสมรสเดือนละ 100,000 บาท แต่เหตุที่ทำให้โจทก์และจำเลยต้องระหองระแหงไม่อาจอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขต่อไปได้จนเป็นเหตุหย่านั้น ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากการที่จำเลยทำให้โจทก์ระแวงสงสัยหึงหวงและไม่ไว้ใจเนื่องจากจำเลยเก็บรักษาคลิปที่ร่วมประเวณีกับนายอั๋นไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริงซึ่งเป็นคนรักเก่าของจำเลยไว้ จนกระทั่งโจทก์มาพบ ส่วนโจทก์เองก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ยอมหลับนอนกับจำเลยเช่นแต่ก่อน โดยโจทก์ยอมรับว่า โจทก์ก็มิได้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลย 4 เดือน ก่อนฟ้องจริง เมื่อสามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 และจำเลยก็ไม่มีหลักฐานมายืนยันรายได้ก่อนสมรสกับโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยเดือนละ 50,000 บาท แก่จำเลยนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือนมกราคม 2557 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะหย่าขาดจากกันนั้นนับว่าเหมาะสมดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยขอค่าอุปการะเลี้ยงดูภายหลังจากหย่ากันแล้วอีกเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่นั้น เนื่องจากการหย่าอันเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นความผิดของทั้งสองฝ่าย ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูส่วนนี้ให้ ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยให้เหตุผลในเรื่องนี้มาละเอียดดีแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยสำหรับประเด็นฟ้องแย้งที่อ้างว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปในบ้านใช้สเปรย์ฉีดพ่นทรัพย์สินเสียหาย โดยเรียกค่าซ่อมแซม 300,000 บาท และศาลชั้นต้นกำหนดให้ 100,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่ได้อาศัยเหตุแห่งการหย่าและการเรียกค่าทดแทนตามฟ้องเดิมเป็นมูลหนี้ แต่เป็นการกล่าวอ้างการกระทำอีกตอนหนึ่งของโจทก์อันเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกันกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยในข้อนี้มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่เห็นสมควรไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะฟ้องใหม่เพื่อเรียกค่าซ่อมแซมทรัพย์สินดังกล่าวภายในกำหนดอายุความนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประเด็นสำหรับทรัพย์สินเครื่องใช้สอยส่วนตัวที่โจทก์ฎีกามาอันประกอบด้วยกระเป๋าถือ 2 ใบ นาฬิกาข้อมือโรเล็กซ์ 1 เรือน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง นั้น ปรากฏตามฎีกาของโจทก์ว่าไม่ติดใจในทรัพย์สินส่วนตัวดังกล่าวของจำเลย เพียงแต่บ่ายเบี่ยงให้จำเลยไปรับเองที่ศาลชั้นต้นหรือสำนักงานวางทรัพย์สิน ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับในประเด็นข้อพิพาทในข้อนี้แล้วว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของจำเลย โจทก์จึงต้องคืนกระเป๋าถือ นาฬิกาข้อมือและโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวแก่จำเลย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์คืนรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ หมายเลขทะเบียน ฎฮ 333 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ไฮลักซ์ หมายเลขทะเบียน ฎธ 844 กรุงเทพมหานคร แก่จำเลย สำหรับประเด็นเรื่องที่ดินโฉนดเลขที่ 8/56 ให้เป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2559 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share