คำวินิจฉัยที่ 51/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชน จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า โจทก์ซื้อที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง ส.ค. ๑ จากจำเลยที่ ๑ โดยโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แต่จำเลยที่ ๑ ได้นำ ส.ค. ๑ ไปขอออกโฉนดที่ดินโดยจำเลยที่ ๓ ได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๕๒๐๖ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งรวมที่ดินแปลงพิพาทของโจทก์เข้าไปด้วย ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๕๒๐๖ ออกทับซ้อนกับที่ดินแปลงพิพาทของโจทก์ที่ซื้อมาจากจำเลยที่ ๑ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๑๕๔๒๐๖ เป็นโมฆะ และให้ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ ๒ ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๕๒๐๖ ได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๕๒๐๖ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ทับซ้อนกับที่ดินแปลงพิพาทของโจทก์ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

Share