คำวินิจฉัยที่ 52/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชน ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา อ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นขอรังวัดออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีหลักฐาน และได้นำรังวัดทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ ซึ่งผู้ฟ้องคดีโต้แย้งคัดค้านแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับสอบสวนเปรียบเทียบและมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้สำนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีพิจารณาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ทำการสอบสวนเปรียบเทียบให้ออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้สำนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีประสานความร่วมมือกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสิงห์บุรีตรวจสอบกำหนดขอบเขตและเนื้อที่วัดร้างให้มีความแน่นอนเพื่อมิให้เกิดปัญหาโต้แย้งสิทธิระหว่างประชาชนและวัด ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินมีโฉนดและที่ดินแปลงพิพาทมาจากบุตรของผู้เช่าที่ดินเดิมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเสียชีวิตแล้ว สัญญาเช่าจึงระงับ การที่บุตรของผู้เช่าที่ดินนำที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มาขายให้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การโอนที่ดินของวัดหรือ ที่ธรณีสงฆ์ต้องตราเป็นกฎหมาย บุคคลใดจะกล่าวอ้างหรือยกอายุความขึ้นต่อสู้วัดหาได้ไม่การสอบสวนเปรียบเทียบการโต้แย้งสิทธิในที่ดินและมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงชอบด้วยกฎหมาย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการสอบสวนเปรียบเทียบการโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่ขอรังวัดชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการสอบสวนเปรียบเทียบการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แล้วมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นสำคัญ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share