แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้พิทักษ์มิใช่เป็นผู้แทนของคนเสมือนไร้ความสามารถ ดังเช่นในกรณีของคนไร้ความสามารถที่ต้องให้ผู้อนุบาลกระทำการแทน ซึ่งการเสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ถือเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่คนเสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 (10) ดังนี้ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยมี อ. เป็นผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่า อ. เป็นผู้ลงชื่อแต่งทนายความ และทนายความลงชื่อในคำฟ้องในฐานะโจทก์และผู้เรียงพิมพ์ ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้มาเบิกความต่อศาล โดย อ. เบิกความแทน จึงเท่ากับเป็นการที่ผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถโดยไม่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์และบกพร่องในเรื่องความสามารถของผู้ที่จะมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้แก้ไขเพื่อให้คำฟ้องสมบูรณ์เสียแต่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจนคดีล่วงเลยมาสู่ศาลฎีกาเช่นนี้แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรมของนายปรีดาลงวันที่ 10 มิถุนายน 2553 ฉบับที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และพินัยกรรมลงวันที่ 18 มิถุนายน 2553 บังคับให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดเลขที่ 169655 เลขที่ดิน 277 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยส่งมอบอาวุธปืนขนาด .44 และขนาด 11 มม. พร้อมทะเบียนอาวุธปืนเพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งกันระหว่างโจทก์และจำเลยคนละกึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ส่งมอบให้จำเลยชำระเงินในส่วนของโจทก์ 50,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรมของนายปรีดา ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2553 ฉบับที่ 1 และฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2553 และพินัยกรรมลงวันที่ 10 มิถุนายน 2553 ฉบับที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินเลขที่ 169655 เลขที่ดิน 277 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ให้โจทก์ และให้โจทก์แบ่งอาวุธปืนให้จำเลยครึ่งหนึ่ง วิธีการแบ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 กับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2553 ฉบับที่ 1 ที่ยกบ้านสองชั้นหนึ่งห้องบนที่ดินโฉนดเลขที่ 666 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เฉพาะส่วนของโจทก์ให้แบ่งกันคนละครึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสาวอิศราภรณ์ บุตรของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า ที่ศาลมีคำสั่งให้นางบุญสนอง เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของนางสาวอิศราภรณ์นั้น มีผลเพียงนางบุญสนองไม่สามารถที่จะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ด้วยตนเอง เพราะต้องได้รับความยินยอมของนางสาวอิศราภรณ์ผู้พิทักษ์ก่อน ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 บัญญัติไว้เท่านั้น แต่มิได้มีผลทำให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้ที่มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ แทนคนเสมือนไร้ความสามารถ เนื่องจากผู้พิทักษ์มิใช่เป็นผู้แทนของคนเสมือนไร้ความสามารถ ดังเช่นในกรณีของคนไร้ความสามารถที่ต้องให้ผู้อนุบาลกระทำการแทน ซึ่งการเสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ถือเป็นการอย่างหนึ่งอย่างใดที่คนเสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 (10) หากเป็นในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม และคำสั่งของศาลดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 วรรคสามและวรรคสี่ ดังนี้ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โดยมีนางสาวอิศราภรณ์เป็นผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่า นางสาวอิศราภรณ์ผู้พิทักษ์เป็นผู้ลงชื่อแต่งทนายความ และทนายความลงชื่อในคำฟ้องในฐานะโจทก์และผู้เรียงพิมพ์ ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้มาเบิกความต่อศาลโดยนางสาวอิศราภรณ์ผู้พิทักษ์เป็นผู้มาเบิกความแทน จึงเท่ากับเป็นการที่ผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถโดยไม่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน คำฟ้องของโจทก์จึงมิใช่เป็นเรื่องที่คนเสมือนไร้ความสามารถฟ้องคดีโดยได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ หรือศาลมีคำสั่งให้ผู้พิทักษ์ฟ้องคดีแทนในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถเสนอคดีต่อศาลได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบโดยประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ตามเงื่อนไขของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์และบกพร่องในเรื่องความสามารถของผู้ที่จะมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้แก้ไขเพื่อให้คำฟ้องสมบูรณ์เสียแต่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจนคดีล่วงเลยมาสู่ศาลฎีกาเช่นนี้แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นจึงไม่ชอบ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นตามที่โจทก์และจำเลยฎีกาอีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ