คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3175/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สติกเกอร์พีวีซีใสกาวพิเศษที่ซื้อจากโจทก์เมื่อจำเลยนำไปผลิตชิ้นงานแล้วปรากฎว่าลอกแผ่นสติกเกอร์ไม่ออกเพราะเหตุกาวเหนียวเกินไป แม้โจทก์ใช้มือแกะสามารถลอกสติกเกอร์ออกได้ แต่ในการใช้งานของบริษัท ด. ต้องใช้เครื่องจักรเป็นตัวลอกสติกเกอร์ให้ติดกับกล่องนม เมื่อเครื่องจักรไม่สามารถลอกสติกเกอร์ได้ตามวัตถุประสงค์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยผลิตสติกเกอร์ไม่ดีหรือบริษัท ด. ติดตั้งเครื่องจักรไม่ได้มาตรฐาน จึงฟังได้ว่า สินค้าสติกเกอร์พีวีซีใสกาวพิเศษของโจทก์ชำรุดบกพร่องในลักษณะกาวเหนียวเกินไป เป็นเหตุให้เมื่อจำเลยนำไปใช้แล้วไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งใช้เป็นปกติ โจทก์ในฐานะผู้ขายสินค้าต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 วรรคแรก
ใบสั่งซื้อสินค้าที่จำเลยเป็นผู้สั่งซื้อทางโทรสารไปยังโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยสั่งซื้อสติกเกอร์ 15 ม้วน โดยให้ส่งภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2544 และยังมีคำสั่งว่า “อีก 67 ม้วนใหญ่ให้ส่งเดือนมกราคม 2545 แต่ยังไม่ต้องผลิตจะแจ้งอีกครั้งหนึ่ง” เห็นได้ว่าจำเลยสั่งซื้อสติกเกอร์จากโจทก์ 82 ม้วน โดยให้ส่งก่อน 15 ม้วน ส่วนที่เหลืออีก 67 ม้วน ให้โจทก์จัดเตรียมเพื่อที่จะส่งมอบให้ตามที่แจ้งต่อไป จำเลยสั่งซื้อสินค้าประเภทสติกเกอร์จากโจทก์มานานหลายปีโดยไม่มีปัญหา ดังนั้น ตามวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญาซื้อขายโดยสภาพหรือโดยเจตนาของคู่สัญญา ย่อมไม่อาจระบุได้ว่าจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลาที่กำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 388 เนื่องจากใบสั่งซื้อและพฤติการณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้กำหนดให้ชัดแจ้งและยืนยันให้เด็ดขาดว่า หากโจทก์ไม่ส่งสินค้าให้จำเลยภายในกำหนดให้ถือว่าใบสั่งซื้อดังกล่าวเป็นอันยกเลิกทันที ฉะนั้นการที่จำเลยจะใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยบอกปัดไม่ยอมรับสินค้าจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ มาตรา 387 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ปฏิบัติเช่นนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญาโดยบอกปัดไม่ยอมรับสินค้าและชำระราคาได้ กรณีหาใช่เป็นเรื่องสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนเวลาบังคับไว้แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง จำเลยต้องรับผิดชำระค่าสินค้าที่ค้างทั้งหมดต่อโจทก์รวมเป็นเงิน 1,516,209 บาท และดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ส่งมอบสินค้าครั้งสุดท้ายจนถึงวันฟ้องอีก 28,429 บาท รวมเป็นเงิน 1,544,638 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,516,209 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 972,848 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 643,461 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยจะต้องชำระราคาสติกเกอร์พีวีซีใสกาวพิเศษจำนวน 1,237,305 บาท แก่โจทก์หรือไม่ และโจทก์จะต้องรับผิดในค่าเสียหายอันเนื่องจากสินค้าดังกล่าวชำรุดบกพร่องหรือไม่ เพียงใด โจทก์มีนายพัฒนา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า จำเลยแจ้งโจทก์ว่าเมื่อนำสินค้าดังกล่าวไปผลิตเป็นชิ้นงานแล้ว ปรากฏว่าลอกแผ่นสติกเกอร์ไม่ออกเพราะเหตุกาวเหนียวเกินไป แต่เมื่อโจทก์รับงานกลับมาตรวจสอบก็พบว่าสามารถลอกออกได้ ส่วนจำเลยมีนายธนากร ผู้จัดการทั่วไปบริษัทที. ซี. เอเชีย (2000) จำกัด เบิกความว่า จำเลยนำสติกเกอร์พีวีซีใสที่สั่งซื้อจากโจทก์ดังกล่าวไปผลิตเป็นสินค้าสติกเกอร์ดัชมิลล์ลุ้นโชค 2002 ส่งให้บริษัทที. ซี. เอเชีย (2000) จำกัด นำไปจำหน่ายให้บริษัทดัชมิลล์ จำกัด เมื่อบริษัทดัชมิลล์ จำกัด นำไปเข้าเครื่องลอกติดกล่องนมปรากฏว่าตัวสติกเกอร์ไม่หลุดลอกออกจากกระดาษ เพราะกาวในกระดาษสติกเกอร์เหนียวเกินไป บริษัทดัชมิลล์ จำกัด จึงเชิญตัวแทนโจทก์ จำเลยและบริษัทที. ซี. เอเชีย (2000) จำกัด มาประชุมรับทราบปัญหา โจทก์รับสติกเกอร์ดังกล่าวไปแก้ไขปัญหากาวไม่ลอกออกจากม้วน และได้ส่งตัวอย่างมาทดลองก็พบว่าการอบความร้อนทำให้สติกเกอร์กรอบมีผลให้เมื่อแกะสติกเกอร์ออกจากกล่องนมจะทำให้สติกเกอร์ขาดไม่สามารถนำสติกเกอร์มาใช้ได้ โดยมีหนังสือของบริษัทดัชมิลล์ จำกัด ที่มีไปถึงจำเลยมีเนื้อความสอดคล้องกันสนับสนุน เห็นว่า แม้โจทก์ใช้มือแกะและสามารถลอกสติกเกอร์ออกได้ แต่ในการใช้งานของบริษัทดัชมิลล์ จำกัด ต้องใช้เครื่องจักรเป็นตัวลอกสติกเกอร์ให้ติดกับกล่องนม เมื่อเครื่องจักรไม่สามารถลอกสติกเกอร์ได้ตามวัตถุประสงค์โดยโจทก์ไม่นำสืบว่า จำเลยผลิตสติกเกอร์ไม่ดีหรือบริษัทดัชมิลล์ จำกัด ติดตั้งเครื่องจักรไม่ได้มาตรฐานตามที่ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สินค้าสติกเกอร์พีวีซีใสกาวพิเศษของโจทก์บางส่วนชำรุดบกพร่องในลักษณะกาวเหนียวเกินไป เป็นเหตุให้เมื่อจำเลยนำไปใช้แล้วไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งใช้เป็นปกติ โจทก์ในฐานะผู้ขายสินค้าจึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 วรรคแรก
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับเอาสติกเกอร์พีวีซีใสกาวพิเศษจำนวน 11 ม้วน และชำระราคา 178,904 บาท แก่โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์รับในคำแก้ฎีกาว่า โจทก์ส่งมอบสินค้ารายการดังกล่าวให้จำเลยล่าช้าจริง จึงมีปัญหาว่า การที่โจทก์ส่งมอบสินค้าล่าช้า จำเลยจะบอกปัดไม่รับชำระหนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์เอกสารหมาย จ.16 ซึ่งเป็นใบสั่งซื้อสินค้าที่จำเลยเป็นผู้สั่งซื้อทางโทรสารไปยังโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยสั่งซื้อสติกเกอร์ 15 ม้วน โดยมีคำสั่งให้ส่งภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2544 และยังมีคำสั่งว่า “อีก 67 ม้วนใหญ่ให้ส่งเดือนมกราคม 2545 แต่ยังไม่ต้องผลิตจะแจ้งอีกครั้งหนึ่ง” ตามเอกสารดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำเลยสั่งซื้อสติกเกอร์จากโจทก์ 82 ม้วน โดยให้ส่งก่อนจำนวน 15 ม้วน ส่วนที่เหลืออีก 67 ม้วน ให้โจทก์จัดเตรียมเพื่อที่จะส่งมอบให้ตามที่แจ้งต่อไป ซึ่งข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของคู่ความปรากฏว่า จำเลยได้สั่งซื้อสินค้าประเภทสติกเกอร์จากโจทก์ต่อเนื่องกันมานานหลายปีโดยไม่มีปัญหา ดังนั้น ตามวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญาซื้อขายโดยสภาพหรือโดยเจตนาของคู่สัญญา ย่อมไม่อาจระบุได้ว่าจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลาที่กำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 เนื่องจากใบสั่งซื้อและพฤติการณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้กำหนดให้ชัดแจ้งและยืนยันเด็ดขาดว่า หากโจทก์ไม่ส่งสินค้าให้จำเลยภายในกำหนดให้ถือว่าใบสั่งซื้อฉบับดังกล่าวเป็นอันยกเลิกทันที ฉะนั้น การที่จำเลยจะใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยบอกปัดไม่ยอมรับสินค้าจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ซึ่งบัญญัติเป็นหลักทั่วไปว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ปฏิบัติเช่นนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญาโดยบอกปัดไม่ยอมรับสินค้าและชำระราคาได้ กรณีหาใช่เป็นเรื่องสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนเวลาบังคับไว้แต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชดใช้ราคาสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์จำนวน 178,904 บาท ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 643,361 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 10 เมษายน 2545) ต้องไม่เกิน 28,429 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share