คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7713/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างโจทก์และจำเลย โดยคิดจากจำนวนนักเรียนที่เรียนวิชาคอมพิวเตอร์ไม่น้อยกว่า 700 คน ต่อ 1 ภาคการศึกษากรณีที่มีน้อยกว่า 700 คน ให้ถือว่าจำนวนนักเรียนเป็น 700 คน จำเลยเป็นผู้เก็บค่าเล่าเรียน คนละ 700 บาท ส่งแก่โจทก์ทุกภาคการศึกษา จำเลยจะได้ผลตอบแทนเป็นเงินร้อยละ 15 ของค่าเล่าเรียนที่เก็บได้ โดยโจทก์เป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ตกแต่งจัดสร้างห้องเรียนคอมพิวเตอร์ให้จำเลย 1 ห้อง เมื่อครบ 4 ปีแล้ว โจทก์จะมอบคอมพิวเตอร์ วัสดุอุปกรณ์ห้องเรียน และหลักสูตรการเรียนการสอนให้จำเลยทั้งหมด เมื่อผลของสัญญามิได้กระทบต่อสิทธิหรือประโยชน์ของคนโดยทั่วไป จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนรูปแบบหนึ่งซึ่งใช้บังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 และ 369 ไม่ใช่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีหรือเป็นสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายเงินผ่อน จึงเป็นธรรมและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150
การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องจัดหานักเรียนเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ให้ได้ภาคการศึกษาละ 700 คน และกำหนดให้จำเลยจะต้องเก็บค่าเล่าเรียนจากเด็กนักเรียนคนละ 700 บาทต่อหนึ่งภาคการศึกษา โดยจำเลยจะต้องนำเงินค่าเล่าเรียนส่งแก่โจทก์ในภาคการศึกษาที่ 1 และที่ 2 ตามที่กำหนด ย่อมหมายถึงว่าจำเลยจะต้องเก็บเงินจากนักเรียนเหล่านั้นให้ได้ หากจำเลยเก็บไม่ได้จำเลยก็ต้องรับผิดในเงินส่วนนั้น ซึ่งตามความประสงค์ของคู่สัญญาย่อมจะเข้าใจตรงกันเช่นนั้น โจทก์มิได้มาลงทุนจัดสร้างห้องคอมพิวเตอร์เองและว่าจ้างให้จำเลยเป็นผู้หานักเรียนมาเรียนวิชาคอมพิวเตอร์และว่าจ้างจำเลยให้เป็นตัวแทนเก็บค่าเล่าเรียนของนักเรียนแก่โจทก์แต่อย่างใด มิฉะนั้นโจทก์คงจะไม่ตอบแทนจำเลยเมื่อเก็บเงินครบ 4 ปีแล้ว โดยยกกรรมสิทธิ์เครื่องคอมพิวเตอร์วัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้แก่จำเลย ทั้งจำเลยก็ได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนในการศึกษาภาคที่ 1 ดังนั้น เมื่อภาคการศึกษาที่ 2 จำเลยหาเงินมาชำระแก่โจทก์ไม่ครบจึงต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญา
จำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ 3 ภาคการศึกษา โจทก์จึงยึดเครื่องคอมพิวเตอร์คืนไป เท่ากับโจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญาต่อกัน คู่กรณีย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิมโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าตอบแทนที่จำเลยค้างชำระในภาคการศึกษาที่ 2 ปี 2537ที่ขาดอยู่และในภาคการศึกษาที่ 1 ปี 2538 รวมเป็นเงิน 583,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่ากับเรียกค่าเสียหายส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคสาม การที่ศาลกำหนดค่าเสียหายเป็นเงิน 250,000 บาทจึงเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 627,568.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 583,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มีลักษณะเป็นการเช่าซื้อ หรือซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เงินผ่อน ซึ่งโจทก์ต้องการหลีกเลี่ยงภาษีและสามารถทำกำไรให้โจทก์ได้มากกว่า เป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 583,000 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 166,500 บาท นับแต่วันที่ 30พฤศจิกายน 2537 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 416,500 บาทนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 17,930.90 บาท และ 26,638.65 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 250,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยกับโจทก์ได้ทำสัญญาต่างตอบแทน โครงการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์พร้อมวัสดุอุปกรณ์ตกแต่งห้องเรียนคอมพิวเตอร์และการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนในการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยชำระเงินตามสัญญาให้โจทก์สำหรับภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2537แล้วครบถ้วนในภาคการศึกษาที่ 2 จำเลยชำระเงินให้โจทก์เพียง 250,000 บาท ขาดอยู่อีก166,500 บาท ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2538 จำเลยมิได้ชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าสัญญาต่างตอบแทนโครงการจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ภายในโรงเรียนเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า สัญญาต่างตอบแทนตามเอกสารหมาย จ.4มีลักษณะเป็นสัญญาที่แบ่งผลประโยชน์ระหว่างโจทก์และจำเลย โดยคิดจากจำนวนนักเรียนที่เรียนวิชาคอมพิวเตอร์ไม่น้อยกว่า 700 คน ต่อ 1 ภาคการศึกษาโดยเก็บค่าเล่าเรียนคนละ 700 บาท ต่อ 1 ภาคการศึกษา ส่งแก่โจทก์ โดยจำเลยจะได้ผลตอบแทนเป็นเงินร้อยละ 15 ของค่าเล่าเรียนที่เก็บได้ โจทก์เป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ตกแต่งจัดสร้างห้องเรียนคอมพิวเตอร์ให้จำเลย 1 ห้อง เมื่อครบ 4 ปีแล้ว โจทก์จะมอบคอมพิวเตอร์ วัสดุอุปกรณ์ ห้องเรียน และหลักสูตรการเรียนการสอนให้จำเลยทั้งหมด ผลของสัญญามิได้กระทบต่อสิทธิหรือประโยชน์ของคนโดยทั่วไป สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนรูปแบบหนึ่งซึ่งใช้บังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 และ 369 ไม่ใช่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีหรือเป็นสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายเงินผ่อนจึงเป็นธรรมและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการที่สองว่า จำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 7 และข้อ 8 ไม่มีข้อความใดระบุว่าเมื่อนักเรียนไม่ยอมชำระค่าเรียนคอมพิวเตอร์ จำเลยต้องรับผิดชำระแทนเด็กนักเรียนครบถ้วนนั้น เห็นว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4ในตอนต้นระบุว่า คู่สัญญาฝ่ายที่หนึ่งคือโจทก์ คู่สัญญาฝ่ายที่สองคือจำเลย ในตอนต่อมาระบุว่า

ข้อ 7 คู่สัญญาฝ่ายที่สองรับว่า จะต้องส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้น และต้องจัดวิชาคอมพิวเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนภายในโรงเรียน โดยนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3ทุกคนเรียนวิชาคอมพิวเตอร์โดยจะต้องมีจำนวนนักเรียนที่เรียนคอมพิวเตอร์ไม่น้อยกว่า 700 คน ในกรณีที่มีนักเรียนที่เรียนคอมพิวเตอร์น้อยกว่า 700 คน ให้ถือว่าจำนวนนักเรียนเป็น 700 คน

ข้อ 8 คู่สัญญาฝ่ายที่สองจะต้องเป็นผู้เก็บค่าเล่าเรียนวิชาคอมพิวเตอร์จากเด็กนักเรียนทุกระดับชั้นในอัตราคนละ 700 บาท (เจ็ดร้อยบาทถ้วน) ต่อหนึ่งภาคการศึกษา

ข้อ 9 คู่สัญญาฝ่ายที่สองจะต้องนำเงินผลตอบแทนตามสัญญาข้อ 8 ส่งมอบให้แก่คู่สัญญาฝ่ายที่หนึ่งทุกภาคการศึกษา โดยในภาคการศึกษาที่ 1 ต้องส่งภายในวันที่ 30 มิถุนายน และในภาคการศึกษาที่ 2 ต้องส่งภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน

ดังนี้ เห็นว่า ในการตีความสัญญานั้นต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 368 เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องจัดหานักเรียนเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ให้ได้ภาคการศึกษาละ 700 คน ตามข้อ 7 และกำหนดให้จำเลยจะต้องเก็บค่าเล่าเรียนจากเด็กนักเรียนคนละ 700 บาท ต่อหนึ่งภาคการศึกษา ตามข้อ 8 โดยจำเลยจะต้องนำเงินค่าเล่าเรียนส่งแก่โจทก์ในภาคการศึกษาที่ 1 และที่ 2 ตามที่กำหนด ย่อมหมายถึงว่าจำเลยจะต้องเก็บเงินจากนักเรียนเหล่านั้นให้ได้ หากจำเลยเก็บไม่ได้จำเลยก็ต้องรับผิดในเงินส่วนนั้น ซึ่งตามความประสงค์ของคู่สัญญาย่อมจะเข้าใจตรงกันเช่นนั้น โจทก์มิได้มาลงทุนจัดสร้างห้องคอมพิวเตอร์เองและว่าจ้างให้จำเลยเป็นผู้หานักเรียนมาเรียนวิชาคอมพิวเตอร์และว่าจ้างจำเลยให้เป็นตัวแทนเก็บค่าเล่าเรียนแก่โจทก์แต่อย่างใด มิฉะนั้นโจทก์คงจะไม่ตอบแทนจำเลยเมื่อเก็บเงินครบ 4 ปีแล้ว โดยยกกรรมสิทธิ์เครื่องคอมพิวเตอร์ วัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้แก่จำเลยตามสัญญาข้อ 11 ทั้งจำเลยก็ได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนในการศึกษาภาคที่ 1 โดยจำเลยเบิกความว่าในภาคการศึกษาที่ 1 ปี 2537 จำเลยเก็บเงินได้เพียง 200,000 บาท จำเลยจึงได้กู้ยืมเงินบุคคลอื่นมาชำระแก่โจทก์จนครบถ้วนดังนั้น เมื่อภาคการศึกษาที่ 2 ปี 2537 จำเลยหาเงินมาชำระแก่โจทก์ไม่ครบจึงต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายว่าจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ลงทุนทั้งหมดไม่เกิน 500,000 บาท และโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยแล้วทั้งหมด 666,500 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังอาจนำเครื่องคอมพิวเตอร์คืนไปติดตั้งที่อื่น น่าจะคุ้มค่ากับความเสียหายแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันอยู่แล้วว่า จำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ 3 ภาคการศึกษาโจทก์จึงยึดเครื่องคอมพิวเตอร์คืนไป ซึ่งเท่ากับโจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญาต่อกัน คู่กรณีย่อมกลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิม โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าตอบแทนที่จำเลยค้างชำระในภาคการศึกษาที่ 2 ปี 2537 ที่ขาดอยู่อีก 166,500 บาทและในภาคการศึกษาที่ 1 ปี 2538 เป็นเงิน 416,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในเงินทั้งสองจำนวน เท่ากับเรียกค่าเสียหายส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสามนั่นเอง ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน250,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share