คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5402/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง รับขนของทางทะเล ประกันภัยทางทะเล รับช่วงสิทธิ
++ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 8 หน้า 216 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5 ++

ย่อยาว

เรื่อง รับขนของทางทะเล ประกันภัยทางทะเล รับช่วงสิทธิ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ-การค้าระหว่างประเทศกลาง ลงวันที่ ๒๕ เดือน กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๑
ศาลฎีกา รับวันที่ ๒๒ เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๒
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีนายสมฤทธิ์อุไรฤกษ์กุล เป็นผู้รับมอบอำนาจ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายต่างประเทศประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางทะเลส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ ๓และที่ ๔ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์รับประกันภัยสินค้ากระดาษหนังสือพิมพ์ออฟเซต ขนาด ๓๐ นิ้ว กับขนาด ๓๓ นิ้ว น้ำหนักรวม ๔๙๙.๙๓๒ เมตริกตันและกระดาษหนังสือพิมพ์ ขนาด ๓๐ นิ้ว น้ำหนัก ๔๘๙.๗๕๖ เมตริกตันจากบริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์ จำกัด มีข้อสาระสำคัญว่า หากสินค้าได้รับความเสียหายหรือสูญหายในระหว่างขนส่ง โจทก์จะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์ จำกัด ภายในวงเงินจำนวน ๔๘๓,๙๓๔.๑๘ ดอลลาร์สหรัฐหรือ ๑๑,๙๙๑,๘๘๘.๘๘ บาท และ ๔๗๙,๔๗๑.๑๒ ดอลลาร์สหรัฐ หรือ๑๑,๘๘๑,๒๙๔.๔๕ บาท ตามลำดับ (คิดอัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๒๔.๗๘ บาท) ผู้ขายสินค้าได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยเรือคอสแมน ๑ จากท่าเรือโนโวโรสซียสค์ (NOVOROSSIYSK)ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย มายังกรุงเทพมหานคร วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๓๘เรือคอสแมน ๑ เดินทางมาถึงเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี จำเลยที่ ๒ขนถ่ายสินค้าทั้งหมดขึ้นจากเรือคอสแมน ๑ ลงเรือลำเลียงจำนวน ๓ ลำแล้วนำไปส่งมอบให้บริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์ จำกัด ที่กรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าสินค้าเปียกน้ำทะเล จำนวน ๔๔๖ ม้วน และแกนม้วนกระดาษแฟบ จำนวน๑๗ ม้วน คิดเป็นค่าเสียหายโดยโจทก์สามารถหักค่าเสียหายได้ตามสัญญาประกันภัยร้อยละ ๑.๕ ของสินค้าทั้งหมด คงเหลือค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดจำนวน ๒,๒๑๒,๖๔๕.๐๖ บาท และ ๑,๕๘๒,๕๕๖.๖๙ บาทตามลำดับ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓,๗๙๕,๒๐๑.๗๕ บาท บริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์จำกัด ได้เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมชำระบริษัทดังกล่าวจึงเรียกร้องเอาจากโจทก์ตามสัญญาประกันภัย โจทก์ได้จ่ายเงินค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้บริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์ จำกัด ไปแล้วและขายทอดตลาดสินค้าที่เปียกน้ำทะเลได้เงินจำนวน ๒,๔๒๑,๕๐๐ บาทจึงเหลือค่าเสียหายที่โจทก์รับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวมาเรียกร้องจากจำเลยทั้งสี่ได้จำนวน ๑,๓๗๓,๗๐๑.๗๕ บาท จำเลยทั้งสี่ต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๘ จนถึงวันฟ้องรวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้นจำนวน ๑,๔๓๗,๔๙๔.๒๐ บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๑,๔๓๗,๔๙๔.๒๐ บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน๑,๓๗๓,๗๐๑.๗๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้รับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลตามคำฟ้องและไม่มีอำนาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ ๑เป็นเจ้าของเรือคอสแมน ๑ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยจำเลยที่ ๑ ได้ให้บริษัทมาร์เทรด ชิปปิ้ง แอนด์ ทรานสปอร์ตจีเอ็มบีเอช ซึ่งอยู่ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเช่าเรือคอสแมน ๑ไปเพื่อขนส่งสินค้าดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ผู้ออกใบตราส่ง ส่วนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่เคยประกอบกิจการรับจ้างขนส่งสินค้าเป็นทางค้าปกติ และไม่เคยร่วมขนส่งหรือขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงกับไม่เคยเป็นผู้จัดหาว่าจ้างเรือลำเลียงเพื่อขนส่งสินค้าดังกล่าว จำเลยที่ ๒ที่ ๓ และที่ ๔ ประกอบกิจการเป็นตัวแทนเรือเท่านั้น โดยได้รับมอบหมายจากบริษัทมาร์เทรด ชิปปิ้ง แอนด์ ทรานสปอร์ต จีเอ็มบีเอช ผู้เช่าเรือ-คอสแมน ๑ ให้เป็นตัวแทนในการดำเนินงานธุรกิจการรับขนของทางทะเลเมื่อเรือคอสแมน ๑ เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในวันที่ ๑ สิงหาคม๒๕๓๘ สินค้าดังกล่าวสัมผัสกับน้ำ จำนวน ๑๗๖ ม้วน คิดเป็นค่าเสียหายจำนวนไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผู้รับตราส่งไม่ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือแก่ผู้ขนส่ง ณ ท่าปลายทางก่อนรับมอบของ หรือภายใน ๑ วันทำการถัดจากวันรับมอบของ หรือภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันรับมอบของว่าสินค้าเสียหาย แสดงว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบของซึ่งมีสภาพ จำนวน น้ำหนัก และรายละเอียดอื่น ๆ ตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง ตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ หากสินค้าดังกล่าวเสียหายจริงก็เป็นเพราะความผิดของผู้ส่งสินค้าหรือผู้ขายสินค้าที่เมืองท่าต้นทางที่บรรจุหีบห่อสินค้าไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่เหมาะสมกับสภาพของสินค้าโดยไม่ใช้สิ่งห่อหุ้มที่กันน้ำหรือความชื้นได้ และในระหว่างเดินทางจากเมืองโนโวโรสซียสค์ ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย มายังท่าเรือปลายทางในช่วงระหว่างวันที่ ๑๕ ถึง ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๘ นั้น เรือคอสแมน ๑เผชิญกับพายุคลื่นลมแรงมาก ทำให้เรือโยกคลอนและน้ำทะเลซัดท่วมระวางเรือ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าดังกล่าวกระแทกกันจนเสียรูปทรงและสัมผัสกับน้ำบางส่วนได้ ผู้ขนส่งทางทะเลไม่ต้องรับผิดตามมาตรา ๕๒(๑)(๒)(๙) และ (๑๓) แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. ๒๕๓๔ จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๑,๓๗๓,๗๐๑.๗๕ บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๘ ธันวาคม๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกินจำนวน ๖๓,๗๙๒.๔๕ บาท ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ที่ ๓ และที่ ๔ ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดซึ่งจดทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย สำนักงานสาขาอยู่ในประเทศไทยและได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการประกันภัย โดยมีนายสมฤทธิ์อุไรฤกษ์กุล เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินกิจการในประเทศไทย โจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าประเภทกระดาษม้วนจากบริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์ จำกัดในวงเงินจำนวน ๑๑,๙๙๑.๘๘๘.๔๘ บาท และ ๑๑,๘๘๑,๒๙๔.๔๕ บาทตามลำดับ ซึ่งบริษัทเอ็ฟ.เจ.เอลสเนอร์ จำกัด ผู้ขายสินค้าดังกล่าวให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้ขนส่งสินค้าทางทะเลโดยใช้เรือคอสแมน ๑ จากท่าเรือโนโวโรสซียสค์ ประเทศสหพันธรัฐรัสเซียมายังกรุงเทพมหานครเพื่อส่งให้บริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์ จำกัด ผู้ซื้อเมื่อเรือคอสแมน ๑ ได้รับสินค้าไว้ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ ๑ ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขายเป็นหลักฐาน ผู้ซื้อได้ชำระราคาสินค้าให้ผู้ขายโดยผ่านทางธนาคาร แล้วผู้ขายได้โอนใบตราส่งให้แก่ผู้ซื้อเป็นผู้ทรงใบตราส่งต่อมาเรือคอสแมน ๑ เดินทางมาจอดที่ท่าเรือเกาะสีชัง จำเลยที่ ๒ขนถ่ายสินค้าดังกล่าวลงเรือลำเลียง แล้วนำสินค้านั้นไปส่งมอบที่คลังสินค้าของบริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์ จำกัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการในระหว่างขนถ่ายสินค้าพบว่าสินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหาย บริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์ จำกัด ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ทรงใบตราส่งในฐานะผู้รับตราส่งจึงแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ส่งบริษัทแอสโซซิเอเต็ดมารีนเซอร์เวเยอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด ไปสำรวจความเสียหาย พบว่าสินค้าเปียกน้ำทะเล จำนวน ๔๔๖ ม้วน และแกนม้วนกระดาษแฟบจำนวน๑๗ ม้วน คำนวณค่าเสียหายตามมูลค่าประกันภัยโดยหักค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยออกร้อยละ ๑.๕ ของสินค้าทั้งหมดแล้ว เป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน ๓,๗๙๕,๒๐๑.๗๕ บาท บริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์ จำกัดเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากโจทก์และจำเลยที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๒ไม่ยอมชำระ โจทก์จึงชำระเงินค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่บริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์จำกัด เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๘ และวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๘ตามลำดับ หลังจากหักราคาสินค้าที่เปียกน้ำทะเลซึ่งขายทอดตลาดได้เงินจำนวน ๒,๔๒๑,๕๐๐ บาท ออกแล้ว คงเหลือค่าเสียหายอีกเป็นเงิน๑,๓๗๓,๗๐๑.๗๕ บาท จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ทรงใบตราส่งในฐานะผู้รับตราส่งพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๘ธันวาคม ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน ๖๓,๗๙๒.๔๕ บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน ๑,๔๓๗,๔๙๔.๒๐ บาท
จำเลยที่ ๑ นำสืบว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐไซปรัส และเป็นเจ้าของเรือคอสแมน ๑ ได้ให้บริษัทโกลเบิลคอนเทนเนอร์ไลนส์ (บาฮามาส)จำกัด เช่าเรือดังกล่าวไป ต่อมาผู้เช่าให้บริษัทมาร์เทรด ชิปปิ้ง แอนด์ทรานสปอร์ต จีเอ็มบีเอช เช่าช่วงเรือดังกล่าวไปขนส่งสินค้าตามคำฟ้องจากท่าเรือโนโวโรสซียสค์ ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย มายังท่าเรือกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นผู้ออกใบตราส่งสินค้าดังกล่าวเมื่อเรือคอสแมน ๑ เดินทางมาจอดที่ท่าเรือเกาะสีชัง ได้ขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียง เมื่อขนถ่ายเสร็จพบว่า สิ่งห่อหุ้มสินค้าดังกล่าวเปียกน้ำจำนวน ๑๖๕ ม้วน และฉีกขาดจำนวนรวม ๒๓ ม้วน ผู้เช่าเรือให้จำเลยที่ ๒ว่าจ้างบริษัทอิมโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ไปสำรวจสินค้า บริษัทดังกล่าวสำรวจแล้วพบว่าสินค้าดังกล่าวเปียกน้ำจำนวนเพียง ๑๗๗ ม้วน ตรงกับที่บริษัทแอสโซซิเอเต็ดมารีนเซอร์เวเยอรส์ (ไทยแลนด์) จำกัด สำรวจความเสียหายไว้ หลังจากผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าดังกล่าวในวันที่ ๒สิงหาคม ๒๕๓๘ แล้วไม่เคยทวงถามจำเลยที่ ๑ หรือนายเรือให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหาย และเหตุที่สินค้าดังกล่าวเปียกน้ำก็เนื่องจากระหว่างขนส่งในวันที่ ๑๕ ถึง ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๘ เรือคอสแมน ๑ ได้เผชิญกับคลี่นลมพายุอย่างร้ายแรง ทำให้เรือโยกคลอน น้ำทะเลซัดเข้ามาในระวางเรือเป็นเหตุให้สินค้ากระแทกกันและสัมผัสกับน้ำบางส่วนนายเรือจึงทำหนังสือปฏิเสธความรับผิดชอบทางทะเลไว้ นอกจากนี้ยังเป็นความผิดของผู้ส่งสินค้าที่บรรจุหีบห่อสินค้าไม่มั่นคงแข็งแรง และไม่เหมาะสมกับสภาพของสินค้าโดยไม่ใช้สิ่งห่อหุ้มที่กันน้ำหรือความชื้นได้
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นว่า จำเลยที่ ๑เป็นเจ้าของเรือเดินทะเลชื่อคอสแมน ๑ เรือลำนี้บรรทุกสินค้ากระดาษหนังสือพิมพ์ออฟเซต ขนาด ๓๐ นิ้ว และ ๓๓ นิ้ว หนัก ๔๙๙.๙๓๒ เมตริกตันและกระดาษหนังสือพิมพ์ขนาด ๓๐ นิ้ว หนัก ๔๘๙.๗๕๖ เมตริกตัน มาจากท่าเรือโนโวโรสซียสค์ ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย มาถึงเกาะสีชัง อำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๘ จากนั้นได้ขนถ่ายสินค้าดังกล่าวจากเรือคอสแมน ๑ ลงเรือลำเลียงจำนวน ๓ ลำ เพื่อนำสินค้าไปส่งมอบให้บริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์ จำกัด ผู้รับตราส่งที่อำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวบางส่วนได้รับความเสียหายโจทก์ซึ่งรับประกันภัยสินค้านั้นไว้ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไปแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ประการแรกว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของเรือคอสแมน ๑ และปรากฏตามใบตราส่งสินค้าเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔ ว่า บริษัทเอฟ.เอช.เบิร์ต เทิลลิ่งเกเซลล์ชาฟต์ เอ็ม.บี.เอช. จำกัด ในฐานะตัวแทนของผู้ขนส่งคือบริษัทจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกใบตราส่งทั้งสองฉบับดังกล่าว ใบตราส่งเป็นเอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของและเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่า ใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔ ไม่ใช่เอกสารของจำเลยที่ ๑ และบริษัทเอฟ.เอช.เบิร์ตเทลลิ่ง เกเซลล์ชาฟต์เอ็ม.บี.เอช. จำกัด ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ ๑ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ให้ผู้อื่นเช่าเรือคอสแมน ๑ ไปแล้ว ตามสัญญาเช่าเรือเอกสารหมาย ล.๓นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๑ มีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและคำเบิกความของนายปัญญา จงวิลาส ที่อ้างลอย ๆ ว่า บริษัทเอฟ.เอช.เบิร์ตเทิลลิ่งเกเซลล์ชาฟต์ เอ็ม.บี.เอช. ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ทั้ง ๆ ที่ข้อความในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔ ระบุไว้ชัดเจนว่าบริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ผู้ขนส่ง และที่นายปัญญาเบิกความว่าจำเลยที่ ๑ ให้บริษัทโกลเบิลคอนเทนเนอร์ไลนส์ (บาฮามาส) จำกัดเช่าเรือคอสแมน ๑ ไปตามสัญญาเช่าเรือโดยมีกำหนดระยะเวลา(Time Charter) พร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.๓ นั้น นายปัญญายอมรับว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเช่าเรือดังกล่าว และบริษัทโกลเบิลคอนเทนเนอร์ไลนส์ (บาฮามาส) จำกัด ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาเช่าฉบับนี้ คงมีแต่ลายมือชื่อของบริษัทคอนดอสมารีน เซอร์วิสจำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนเจ้าของเรือและนายหน้าในการเช่าเรือเท่านั้นที่ลงชื่อไว้ฝ่ายเดียวในข้อตกลงแนบท้ายสัญญาเช่าเรือดังกล่าวเอกสารหมาย จ.๒๔ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ดังที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สินค้าที่ขนส่งเสียหายเนื่องจากหรือเป็นผลมาจากเหตุสุดวิสัย ภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลซึ่งจะทำให้จำเลยที่ ๑ ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งจนเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสินค้าที่ขนส่งเสียหายเป็นผลมาจากเหตุสุดวิสัยภยันตราย หรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเล การที่จำเลยที่ ๑ นำสืบแต่เพียงว่านายเรือคอสแมน ๑ ได้ทำหนังสือปฏิเสธความรับผิดชอบทางทะเลไว้ตามเอกสารหมาย ล.๖ และคำแปลเอกสารหมาย ล.๗ ว่า ในระหว่างการดำเนินการของเที่ยวเดินทางและเมื่อวันที่ ๑๕ ถึง ๒๒ กรกฎาคม๒๕๓๘ เรือคอสแมน ๑ ได้เผชิญกับสภาวะอากาศเลวร้ายด้วยกำลังลมแรงถึงระดับ ๙ ตามมาตราบิวฟอร์ต (Beaufort Scale) ทะเลมีคลื่นจัดและสูงมาก ทำให้เรือโคลงและถูกน้ำซัดอย่างหนัก แต่ไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นสนับสนุน ทั้งไม่ปรากฏว่าตัวเรือหรือสิ่งของในเรือได้รับความเสียหายข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอฟังว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลมาจากเหตุสุดวิสัย ภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลดังที่จำเลยที่ ๑ กล่าวอ้างในอุทธรณ์ ที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่าโนตารีปับลิกของประเทศไทยได้ลงชื่อรับรองในหนังสือปฏิเสธความรับผิดชอบทางทะเลของนายเรือตามเอกสารหมาย ล.๖ ไว้ด้วย แสดงว่าโนตารีปับลิกได้สอบสวนแล้วเห็นว่าเป็นความจริง จึงลงชื่อรับรองให้นั้น เห็นว่า โนตารีปับลิกมีหน้าที่รับรองแต่เพียงว่านายเรือคอสแมน ๑ ได้ทำหนังสือปฏิเสธความรับผิดชอบทางทะเลไว้ตามเอกสารหมาย ล.๖ เท่านั้น ส่วนข้อความในหนังสือดังกล่าวจะตรงกับความจริงหรือไม่โนตารีปับลิกไม่อาจให้การรับรองหรือยืนยันได้เพราะโนตารีปับลิกมิได้รู้เห็นเหตุการณ์ที่นายเรือประสบมาดังกล่าว ข้อเท็จจริงมิได้เป็นดังที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ จำเลยที่ ๑ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งต่อผู้รับตราส่ง โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยสินค้าที่ขนส่งมาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ ๑ ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ ๑ จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่าใด โจทก์มีนางสาวศศิวิมล เจริญทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายสินไหมขนส่งของทางทะเลของโจทก์เบิกความเป็นพยานว่าเมื่อเรือคอสแมน ๑ เดินทางมาถึงท่าเรือเกาะสีชัง ได้มีการขนถ่ายสินค้าที่ขนส่งจากเรือคอสแมน ๑ ลงเรือลำเลียง เพื่อนำสินค้าดังกล่าวมาส่งที่คลังสินค้าของผู้รับตราส่งที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการระหว่างการขนถ่ายสินค้าได้ตรวจพบว่าสินค้าดังกล่าวเปียกน้ำและแกนม้วนกระดาษแฟบ โจทก์จึงให้บริษัทแอสโซซิเอเต็ด มารีน เซอร์เวเยอรส์(ไทยแลนด์) จำกัด ไปสำรวจความเสียหาย ผลการสำรวจได้ความจากนายเกรียงศักดิ์ พรรณโรจน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทดังกล่าวว่า พยานได้ไปสำรวจความเสียหายที่เรือคอสแมน ๑ ซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ที่เกาะสีชังและสำรวจที่คลังสินค้าของบริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์ จำกัด ผู้รับตราส่งที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พบว่าสินค้าเปียกน้ำทะเลจำนวน ๔๔๖ ม้วน และแกนม้วนกระดาษแฟบจำนวน ๑๗ ม้วน ตามรายงานการสำรวจเอกสารหมาย จ.๙ ปรากฏตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายปัญญา จงวิลาส ผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ ๑ ยอมรับในเรื่องนี้ว่าเมื่อขนถ่ายสินค้าที่ขนส่งลงเรือลำเลียงเสร็จพบว่าสินค้าดังกล่าวเปียกน้ำและสิ่งห่อหุ้มฉีกขาดจำนวนหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าสินค้านั้นเกิดการเสียหายขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๑ จริง ที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่าสินค้าดังกล่าวเสียหายขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๑ จำนวนเพียง๑๗๗ ม้วน ตามรายงานสรุปความเสียหายเอกสารหมาย ล.๑ และ ล.๕ความเสียหายนอกเหนือจากนี้เกิดขึ้นจากการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือลำเลียงสู่ท่าและนำขึ้นรถยนต์บรรทุกไปยังคลังสินค้าของผู้รับตราส่ง จำเลยที่ ๑จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายส่วนนี้นั้น ปรากฏตามคำเบิกความของนายปัญญาและรายงานสรุปความเสียหายเอกสารหมาย ล.๑ ว่า รายงานสรุปความเสียหายเอกสารหมาย ล.๑ เป็นรายงานที่จำเลยที่ ๒ ทำขึ้นเพียงให้นายเรือลงชื่อ แต่นายเรือไม่ยอมลงชื่อในรายงานดังกล่าวรายงานสรุปความเสียหายฉบับนี้จึงรับฟังไม่ได้ ส่วนรายงานการสำรวจเอกสารหมาย ล.๕ ที่บริษัทอิมโก้ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ทำรายงานนั้นได้ความจากจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๒ ว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ว่าจ้างให้บริษัทอิมโก้ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้สำรวจและปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๕ ว่า บริษัทดังกล่าวทำการสำรวจขณะที่สินค้าอยู่ในเรือคอสแมน ๑ การสำรวจความเสียหายขณะที่สินค้าอยู่ในเรือเช่นนี้ย่อมไม่แน่นอน จำเลยที่ ๒ จึงระบุไว้ในตอนท้ายของรายงานสรุปเอกสารหมาย ล.๑ ว่าไม่ทราบจำนวนของสินค้าที่เปียกน้ำจะต้องตรวจอีกครั้งหนึ่งระหว่างขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือลำเลียง ณคลังสินค้าของผู้รับตราส่ง ซึ่งผลการสำรวจความเสียหายตามเอกสารหมาย ล.๑ และ ล.๕ ดังกล่าวต่างกับการสำรวจความเสียหายของบริษัทแอสโซชิเอเต็ด มารีน เซอร์เวเยอรส์ (ไทยแลนด์) จำกัดตามเอกสารหมาย จ.๙ ที่ทำการสำรวจ ณ ที่เรือคอสแมน ๑ และได้ตรวจนับสินค้าที่เสียหายระหว่างขนถ่ายจากเรือลำเลียงเข้าเก็บในคลังสินค้าของผู้รับตราส่ง ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าสินค้าที่ขนส่งเปียกน้ำทะเลทั้งหมด จำนวน ๔๔๖ ม้วน และแกนม้วนกระดาษแฟบอีกจำนวน ๑๗ ม้วน ตามที่โจทก์นำสืบ ไม่ใช่เสียหายจำนวนเพียง๑๗๗ ม้วน ดังที่จำเลยที่ ๑ นำสืบและอุทธรณ์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นนี้ให้.

Share