คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4249/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 เป็นบทความผิดลักษณะฉกรรจ์ของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 กฎหมายหาได้บัญญัติแยกการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 กับความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาตามมาตรา 328 ออกต่างหากจากกันไม่
ศาลแขวงไม่มีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 328 เพราะเกินอำนาจพิจารณาพิพากษา และได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดตามมาตรา 328 ไปแล้วเท่านั้น หาใช่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 326 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 326 จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๘๓ , ๘๔ , ๓๒๖ , ๓๒๘ , ๓๓๒ พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘ ให้จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหน้าหนังสือพิมพ์
ชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๒๘ เนื่องจากเป็นความผิดที่มีอัตราโทษสูงเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาโจทก์แถลงขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๒๖ จำคุก ๓ เดือน กับให้จำเลยที่ ๑ จัดให้มีการโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน และข่าวภาพรายวัน มีกำหนดเวลา ๗ วัน ติดต่อกัน คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยที่ ๑ ใส่ความโจทก์โดยการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๒๘ ดังนั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ กระทำความผิดตามมาตรา ๓๒๘ ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จำเลยที่ ๑ ก็ไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๒๖ อีก เห็นว่า ในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ป.อ. มาตรา ๓๒๖ บัญญัติว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา ๓๒๘ บัญญัติว่า “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ฯลฯ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท” ตามบทบัญญัติสองมาตราดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาตามมาตรา ๓๒๘ เป็นบทความผิดลักษณะฉกรรจ์ของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา ๓๒๖ ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติให้เป็นเหตุที่ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้นอันเป็นการลำดับการลงโทษเป็นขั้น ๆ ไปตามลักษณะฉกรรจ์ ทั้งผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาอันเป็นเหตุให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา ๓๒๘ นั้น ผู้กระทำจะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งครบองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา ๓๒๖ มาก่อนแล้ว กฎหมายหาได้บัญญัติแยกการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา ๓๒๖ กับความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาตามมาตรา ๓๒๘ ออกต่างหากจากกันดังข้อฎีกาของจำเลยที่ ๑ ไม่ เพียงแต่ว่าเมื่อเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาตามมาตรา ๓๒๘ แล้ว ก็ไม่จำต้องยกมาตรา ๓๒๖ ขึ้นปรับบทลงโทษอีกเท่านั้น เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ ๑ หมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณามีข้อความตามฟ้องในหนังสือพิมพ์ โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยที่ ๑ ย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นตามมาตรา ๓๒๖ อันเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวแล้ว เพียงแต่ว่าศาลชั้นต้นในคดีนี้ซึ่งเป็นศาลแขวงไม่มีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๓๒๘ เพราะเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงและได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดตามมาตรา ๓๒๘ ไปแล้วเท่านั้น หาใช่ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๓๒๖ แต่เป็นความผิดตามมาตรา ๓๒๘ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง อันจะต้องพิพากษายกฟ้องตามที่จำเลยที่ ๑ อ้างขอมาในฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๒๖ จึงชอบแล้ว…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด ๓ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา ๒๙ , ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.

Share