แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ซองกระสุนปืนพกกึ่งอัตโนมัติของกลางเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด อันเป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 2 (12) ซึ่งเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตามฟ้องโจทก์ แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2552) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 กำหนดให้ซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 20 นัด เป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ จึงถือได้ว่าบทบัญญัติของกฎกระทรวงดังกล่าวที่บัญญัติไว้ภายหลังการกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีซองกระสุนปืนชนิดบรรจุกระสุนปืนได้ 15 นัด ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 101/1, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 6, 7, 55, 72, 78 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, ริบเมทแอมเฟตามีน ซองกระสุนปืนพกกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม. อาวุธปืนยาวอัดลม ขนาด .177 (4.5 มม.) และเครื่องวิทยุคมนาคมของกลาง โดยเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง วรรคสาม, 55, 78 (ที่ถูก มาตรา 78 วรรคหนึ่ง) พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 23 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 8 ปี และปรับ 800,000 บาท ฐานมีอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนปืน ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ จำคุก 2 ปี ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคม จำคุก 1 ปี คำรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเฉพาะความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนและเครื่องวิทยุคมนาคม มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษเฉพาะความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสาม เมื่อลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แล้ว รวมจำคุก 11 ปี 12 เดือน และปรับ 800,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับได้เกินหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี ริบเมทแอมเฟตามีน ซองกระสุนปืนพกกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม. อาวุธปืนยาวอัดลม ขนาด .177 (4.5 มม.) และเครื่องวิทยุคมนาคมของกลาง โดยให้เครื่องวิทยุคมนาคมของกลางไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษปรับ 6,000 บาท สถานเดียว ไม่ลงโทษจำคุก ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 4,000 บาท เมื่อรวมโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว เป็นจำคุก 8 ปี 8 เดือน และปรับ 804,000 บาท ให้ยกฟ้องความผิดฐานมีอาวุธปืน (ซองกระสุนปืน) ที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง ไม่ริบซองกระสุนปืนของกลางและให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืน (ซองกระสุนปืน) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และต้องริบซองกระสุนปืนพกกึ่งอัตโนมัติของกลางหรือไม่ เห็นว่า แม้ซองกระสุนของกลางดังกล่าวเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด อันเป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 2 (12) ซึ่งเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตามฟ้องโจทก์ แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2552) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 โดยกำหนดไว้ในข้อ 1 ว่า ให้ยกเลิกความใน (12) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(12) ซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินยี่สิบนัด เว้นแต่ซองกระสุนที่ใช้กับปืนลูกกรดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่เกิน 5.6 มม.” ดังนี้ ถือได้ว่าตามบทบัญญัติของกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2552) ที่บัญญัติไว้ภายหลังการกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนปืนได้ 15 นัด ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง โดยไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืน (ซองกระสุนปืน) ที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองและต้องริบซองกระสุนของกลางหรือไม่อีก
พิพากษายืน