แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญาเช่าช่วงกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุผลพร้อมหลักฐานอันสมควรเป็นลายลักษณ์อักษรแก่โจทก์หากประสงค์จะบอกเลิกสัญญา แต่ปรากฏว่าจำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์โดยไม่ปรากฏเหตุผลหรือหลักฐานใด ๆ ดังนั้น สัญญาเช่าช่วงจึงยังไม่เลิกกันตามที่จำเลยแสดงเจตนาไป แต่หลังจากนั้นแล้วจำเลยมิได้ดำเนินการอะไรขึ้นใหม่อันเป็นการแสดงว่าประสงค์จะกลับเข้าดำเนินการตามสัญญาต่อไปอีก จึงต้องถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเสนอเลิกสัญญาเช่าช่วงต่อไปไม่มีกำหนดเวลา สำหรับฝ่ายโจทก์แม้ไม่เห็นด้วยกับการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวของจำเลยโดยมีหนังสือไปถึงจำเลยชี้แจงเกี่ยวกับสิทธิตามสัญญาเช่าช่วงที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายกับเรียกให้จำเลยส่งแผนผังการก่อสร้างไปให้โจทก์ตรวจตามสัญญาเช่าช่วงแต่มิได้มีการบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยในฐานะที่จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดี กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าสัญญาเลิกกันโดยจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเมื่อโจทก์ฟ้องคดีได้มีคำขอให้จำเลยไปจดทะเบียนเลิกการเช่าช่วงที่ดินพิพาท ถือได้ว่าเป็นการสนองรับการบอกเลิกสัญญาของจำเลย ทำให้สัญญาเช่าช่วงพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเลิกกันโดยปริยาย โดยยังไม่อาจถือได้ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาได้ แต่เป็นกรณีที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง
จำเลยได้ตอกเสาเข็มลงในที่ดินพิพาท ต่อมามีเหตุจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยมีหน้าที่ต้องถอนเสาเข็มเหล่านี้ออกไปเพื่อทำที่ดินพิพาทให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย แต่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่าย อย่างน้อยหากโจทก์จะสร้างอาคารในลักษณะเดียวกันเสาเข็มเหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์ แต่ถ้าโจทก์ต้องมีการก่อสร้างอย่างอื่นเสาเข็มนี้ไม่อาจใช้ประโยชน์ได้และต้องมีการรื้อถอน โจทก์ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยเหตุที่จำเลยไม่สามารถทำให้โจทก์กลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่อาจทราบได้ว่าเป็นกรณีใด แต่สำหรับทางได้เสียและความเสี่ยงในปัจจุบันโจทก์มีมากกว่าเมื่อปรารถนาถึงความรับผิดชอบของการทำให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะเดิมด้วยการรื้อถอนเสาเข็มทั้งหมดตกอยู่แก่ฝ่ายจำเลย แต่เป็นกรณีที่ทำได้ยากมากและไม่สมควรทำอันเป้นสาเหตุให้โจทก์ได้รับความเสี่ยง ถือเป็นความเสียหายในปัจจุบันที่ศาลเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 395,082,588.50 บาท พร้อมค่าปรับอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนจากต้นเงิน 1,800,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยไปจดทะเบียนเลิกเช่าช่วง และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 392,886,588.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาผู้ร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 2,196,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยไปจดทะเบียนเลิกการเช่าช่วงที่ดินทุกแปลงตามสัญญาเช่าช่วงที่ดินลงวันที่ 8 ตุลาคม 2535 ระหว่างโจทก์กับจำเลย รวม 2 ฉบับ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท
โจทก์และจำเลย/ผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2535 จำเลยทำสัญญาเช่าช่วงที่ดินพิพาท 2 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 จากโจทก์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ปลูกสร้างอาคารแสดงและศูนย์บริการรถยนต์ฮอนด้า มีกำหนดระยะเวลา 21 ปี นับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2535 ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2556 นอกจากค่าเช่าที่ต้องชำระกันเป็นรายปีแล้ว ในวันทำสัญญาจำเลยได้ชำระเงินค่าเช่าล่วงหน้าสำหรับการเช่าช่วง 9 ปีแรก เป็นเงิน 6,886,600 บาท และ 10,329,900 บาท แก่โจทก์ จำเลยจะสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กมีความสูงไม่ต่ำกว่า 8 ชั้น โดยมีโครงสร้างสามารถรับน้ำหนักของอาคารได้ไม่ต่ำกว่า 12 ชั้น ให้เสร็จสิ้นก่อนสัญญาครบกำหนดและยอมให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าช่วง โดยจำเลยจะเสนอแผนผังการก่อสร้างให้โจทก์พิจารณาภายใน 2 ปี ได้มีการจดทะเบียนการเช่าช่วงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และโจทก์มอบที่ดินพิพาทตามสัญญาให้จำเลยเข้าครอบครองแล้ว จำเลยตอกเสาเข็มขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตรยาว 22 เมตร จำนวน 137 ต้น ลงในจุดต่างๆ ของที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.16 แต่ยังไม่มีการสร้างอาคารบนที่ดินพิพาท วันที่ 11 สิงหาคม 2540 จำเลยมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.12 บอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 2 กันยายน 2540 ตามเอกสารหมาย จ.13 ชี้แจงเกี่ยวกับสิทธิตามสัญญาเช่าและเรียกค่าเสียหายและหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.14 ให้ส่งแผนผังการก่อสร้างอาคารไปให้โจทก์ตรวจ
มีปัญหาต้องพิจารณาตามฎีกาของโจทก์เป็นประการแรกว่า สัญญาที่เช่าที่ดินพิพาทเลิกกันเมื่อใด และจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่านับแต่ทำสัญญาเช่าช่วงที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2535 เป็นต้นมา คงมีแต่จำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามหนังสือลงวันที่ 11 สิงหาคม 2540 เอกสารหมาย จ.12 ซึ่งจำเลยนำสืบโดยมีนายยรรยง ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยเบิกความว่า เหตุที่จำเลยบอกเลิกสัญญาเนื่องจากที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในซอย สภาพทำเลไม่เหมาะแก่การสร้างอาคารและแสดงและศูนย์บริการรถยนต์ตามที่ฝ่ายจำเลยประสงค์จะเช่าที่ดิน แต่จำเลยเช่าที่ดินพิพาทเพราะโจทก์แจ้งว่าจะมีถนนใหญ่ตัดผ่านที่ดินดังกล่าวภายใน 2 ถึง 3 ปี เป็นถนนที่มี 4 ช่องทางจราจรผ่านทางด้านหลังเชื่อมระหว่างถนนพระราม 3 กับถนนสาทร แต่จนถึงวันบอกเลิกสัญญาก็ยังไม่มีถนนดังกล่าว ประกอบกับมีการลดค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 จึงเป็นกรณีที่มีเหตุขัดข้องอันเป็นผลให้จำเลยไม่สามารถดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์แห่งการเช่าได้ เป็นการนำสืบว่า จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงก่อนกำหนดโดยอาศัยสัญญาเช่าช่วงเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ข้อ 11 กรณีที่ 2 และข้อ 12 กรณีที่ 2 ตามลำดับ แต่ตามข้อสัญญาดังกล่าว จำเลยมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุผลพร้อมหลักฐานอันสมควรเป็นลายลักษณ์อักษรแก่โจทก์ ซึ่งตามหลังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.12 ไม่ปรากฎเหตุผลหรือหลักฐานใดๆ ดังที่จำเลยนำสืบเลย ดังนั้น สัญญาเช่าช่วงทั้งสองฉบับจึงยังไม่เลิกกันตามที่จำเลยแสดงเจตนาไป แต่หลังจากนั้นแล้วจำเลยมิได้ดำเนินการอะไรขึ้นใหม่อันเป็นการแสดงว่าประสงค์จะกลับเข้าดำเนินการตามสัญญาต่อไปอีก จึงต้องถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเสนอเลิกสัญญาดังกล่าวของจำเลย โดยมีหนังสือไปถึงจำเลยตามเอกสารหมาย จ.13 ชี้แจงเกี่ยวกับสิทธิตามสัญญาเช่าช่วงที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหาย กับหนังสือตามเอกสารหมาย จ.14 เรียกให้จำเลยส่งแผนผังการก่อสร้างอาคารไปให้โจทก์ตรวจตามสัญญาเช่าช่วงเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 9 และหมาย จ.9 ข้อ 10 แต่มิได้มีการบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยในฐานะที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดี กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าสัญญาเลิกกันโดยจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีได้มีคำขอให้จำเลยไปจดทะเบียนเลิกการเช่าช่วงที่ดินพิพาท ถือได้ว่าเป็นการสนองรับการบอกเลิกสัญญาของจำเลย ทำให้สัญยาเช่าช่วงพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเลิกกันโดยปริยายโดยยังไม่อาจถือได้ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยได้รับสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 สัญญาเช่าช่วงพิพาทจึงถือว่าเลิกกันตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 เมื่อไม่อาจถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาได้ แต่เป็นกรณีที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายคือโจทก์จำเลยจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปมีว่า โจทก์จำเลยจะต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมอย่างไร เกี่ยวกับเงินอันจะต้องใช้คืนนั้น คงมีแต่โจทก์ที่ได้รับเงินไว้จากจำเลย เงินจำนวนแรกคือค่าเช่าล่วงหน้า 9 ปี จำนวน 6,886,600 บาท ตามสัญญาเช่าช่วงเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 3.1 กับจำนวน 10,329,900 บาท ตามสัญญาเช่าช่วงเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 3.1 เงินจำนวนที่สองคือค่าเช่ารายปีตามข้อ 3.2 ของสัญญาทั้งสองฉบับที่จำเลยชำระไปแล้วตั้งแต่ปี 2535 ถึงปี 2540 สำหรับเงินจำนวนแรกคือ ค่าเช่าล่วงหน้านั้น ตามสัญญาเช่าช่วงเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 11 กรณีที่ 2 และเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 12 กรณีที่ 2 ได้กำหนดเรื่องกรณีเลิกสัญญาเช่าช่วงก่อนกำหนดไว้ว่าผู้เช่าช่วงคือจำเลยไม่ประสงค์จะขอรับคืนจึงเป็นเงินที่โจทก์ไม่ต้องคืนแก่จำเลย ส่วนเงินจำนวนที่สองคือค่าเช่ารายปีนั้น เนื่องจากโจทก์ได้มอบที่ดินพิพาทให้จำเลยครอบครองทำประโยชน์นับแต่วันทำสัญญากันตลอดมา อันเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ เงินจำนวนนี้จึงถือว่าเป็นการที่จำเลยชดใช้คืนตามควรค่าแห่งการได้ใช้ทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม โจทก์ไม่ต้องคืนให้แก่จำเลยเช่นกัน นอกจากนี้ เมื่อสัญญาเลิกกัน ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 จำเลยยังคงใช้ทรัพย์คือที่ดินพิพาทในปี 2551 อีก 1 ปี ซึ่งกรณีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 2,196,000 บาท จำเลยมิได้ฎีกาจึงฟังยุติในชั้นอุทธรณ์ว่าจำเลยต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์จึงได้รับเงินจากจำเลยไปแล้ว 24,716,500 บาท กับเงินอีก 2,196,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สำหรับจำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเดิมเหมือนก่อนทำสัญญาเช่า ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทำให้เกิดความเสียหายอะไรแก่ที่ดินพิพาท คงมีแต่กรณีที่จำเลยได้ตอกเสาเข็มลงไปในที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าว การสร้างอาคารบนที่ดินพิพาทตามสัญญาเช่าช่วงเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 5 ที่ต้องสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความสูงไม่ต่ำกว่า 8 ชั้น โดยมีโครงสร้างสามารถรับน้ำหนักของอาคารได้ไม่ต่ำกว่า 12 ชั้น จะต้องตอกเสาเข็มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร ยาว 22 เมตร จำนวน 631 ต้น จำเลยตอกไปแล้ว 137 ต้น โดยกระจายไปตามที่ต่าง ๆ ในที่ดินพิพาทตามเครื่องหมายสีแดง การตอกเสาเข็มในลักษณะเช่นนี้ โจทก์นำสืบว่าเป็นโทษแก่ฝ่ายโจทก์ เพราะในอนาคตโจทก์อาจต้องมีการสร้างอาคารที่สูงกว่าทำให้ใช้เสาเข็มเหล่านี้ไม่ได้ หรือเป็นกรณีที่จำเป็นต้องใช้ที่ซึ่งอยู่ใต้ดินเล่นทำที่จอดรถ ก็จะมีปัญหาต้องตัดเสาเข็มดังกล่าว หรืออาจต้องถอนเสาเข็มออก จำเลยนำสืบว่า การตอกเสาเข็มลักษณะนี้ถึงอย่างไรก็เป็นประโยชน์แก่โจทก์ในการก่อสร้างอาคารต่อไป เพราะใช้เป็นส่วนหนึ่งของฐานรากได้อยู่แล้วต่างฝ่ายต่างมีวิศวกรมาเบิกความสนับสนุน แต่ตามทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายรับข้อเท็จจริงกันว่า การที่จะให้มีการถอนเสาเข็มทั้งหมดออกไปจากที่ดินพิพาทเป็นเรื่องที่ยากลำบากต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก อีกทั้งปกติไม่มีการกระทำเช่นนั้นได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หากตีความโดยเคร่งครัด จำเลยมีหน้าที่ต้องถอนเสาเข็มเหล่านี้ออกไปแล้วทำที่ดินพิพาทให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย เพื่อให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่เมื่อการกระทำเช่นนั้นมีลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่ายและอย่างน้อยหากโจทก์จะต้องสร้างอาคารในลักษณะเช่นเดียวกันหรือใกล้เคียงกับที่ทำสัญญากัน เสาเข็มเหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์แน่นอน ถ้ากรณีเป็นเช่นนี้ก็ถือได้ว่าการตอกเสาเข็มของจำเลยเป็นการงานอันได้กระทำที่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ อันจำเลยควรได้รับการใช้เงินตามควร แต่ถ้าเป็นกรณีที่โจทก์ต้องมีการก่อสร้างอย่างอื่นที่เสาเข็มนี้ไม่อาจใช้ประโยชน์ได้และมีความจำเป็นต้องรื้อถอน ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน โจทก์ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยเหตุที่จำเลยไม่สามารถทำให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่อาจทราบได้ว่าเป็นกรณีใด แต่สำหรับทางได้เสียและความเสี่ยงในปัจจุบันแล้ว โจทก์มีมากกว่าเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าความรับผิดชอบของการทำให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการรื้อถอนเสาเข็มทั้งหมดออกไปตกอยู่แก่ฝ่าจำเลย แต่เป็นกรณีที่ทำได้ยากมากและไม่สมควรทำ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้โจทก์ต้องรับความเสี่ยงถือเป็นความเสียหายในปัจจุบันของโจทก์ที่จำเลยต้องรับผิดชอบ เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหาย ส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 6,000,000 บาท
ปัญหาที่ต้องพิจารณาเป็นประการสุดท้ายคือเรื่องค่าโทรศัพท์ โจทก์นำสืบโดยมีร้อยตรีฤกษ์ กรรมการโจทก์เบิกความว่า ตอนเริ่มต้นสัญญาเช่า โจทก์มอบโทรศัพท์ให้จำเลยใช้จำนวน 3 หมายเลข คือ 02-2892147, 02-2913156 และ 02-2913175 เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญา ได้ค้างชำระค่าใช้โทรศัพท์จำนวน 26,588.50 บาท ซึ่งโจทก์ชำระให้แทนจำเลยแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.15 จำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ใช้โทรศัพท์ดังกล่าวและมีการค้างชำระในระหว่างที่จำเลยเป็นผู้ใช้จริง เอกสารหมาย จ.15 แม้พิมพ์ไว้ว่าเป็นใบแจ้งหนี้ ซึ่งยังไม่อาจถือว่าเป็นใบเสร็จรับเงิน แต่เอกสารดังกล่าวทุกฉบับระบุว่าเป็นใบแจ้งหนี้ประเภทหักบัญชีธนาคาร ซึ่งมีทั้งชื่อธนาคาร เลขบัญชี และวันที่ที่องค์การโทรศัพท์จะหักจากบัญชีของโจทก์ในแต่ละใบ หากเมื่อใดไม่สามารถหักบัญชีได้องค์การโทรศัพท์ย่อมไม่อนุญาตให้ใช้ในเดือนถัดไป ใบแจ้งหนี้เหล่านี้จึงเป็นหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า โจทก์ได้ชำระค่าใช้ค่าโทรศัพท์ดังกล่าวไปแล้วด้วยวิธีการหักบัญชีตามสัญญาเช่าช่วงที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 7.3 ประกอบข้อ 11 วรรคท้ายและสัญญาเช่าช่วงที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 8.3 ประกอบข้อ 12 วรรคท้าย จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้โทรศัพท์ดังกล่าว โดยต้องมอบหลักฐานใบเสร็จการชำระเงินแก่โจทก์ แต่จำเลยมิได้นำสืบว่าจำเลยได้ชำระแล้ว จึงต้องชำระหนี้ส่วนนี้แก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดให้จำเลยชำระเพราะเห็นว่าเอกสารหมาย จ.15 เป็นเพียงใบแจ้งหนี้ไม่ใช่ใบเสร็จรับเงิน ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระเงินแทนจำเลยไปศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า เงินต้นที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ให้เปลี่ยนจาก 2,196,000 บาท เป็น 8,222,588.50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 40,000 บาท แต่ค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้ใช้แทนเพียงเท่าที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา