คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การที่โจทก์ดื่มสุราในหอพักจะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานก็ตาม แต่การฝ่าฝืนนั้นนายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ก็ต่อเมื่อได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงก็ไม่จำต้องตักเตือน ดังนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวโดยไม่เคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เพราะการดื่มสุราส่งเสียงดังไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรง ทั้งข้อบังคับก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นความผิดร้ายแรงด้วย
ส่วนการที่โจทก์ไปพูดขอยืมปืนจากยามเพื่อจะไปยิงน้องชายจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง การกระทำของโจทก์ก็ยังไม่เป็นความผิด ไม่เข้าเกณฑ์การกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอีกเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ประพฤติตนไม่เรียบร้อยซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลย จ่ายค่าชดเชย

จำเลยให้การว่า โจทก์จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ส่งเสริมยุยงให้คนงานต่อต้านนายจ้างโจทก์ดื่มสุราในหอพักเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ หยุดงานบ่อย จำเลยเคยตักเตือนแล้วโจทก์จะทำร้ายนายจ้างให้ถึงแก่ชีวิต ก่อความไม่สงบในโรงงานเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับ

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโรงงานจำเลย ข้อ 6.11 มีความว่า “ลูกจ้างต้องไม่เสพสิ่งมึนเมาในบริเวณที่ทำงาน หรือในโรงงาน หรือหอพักที่นายจ้างจัดหาให้” การที่โจทก์ดื่มสุราในหอพัก ย่อมถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว การฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) ที่นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ก็ต่อเมื่อนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน สำหรับโจทก์คดีนี้ จำเลยไม่เคยมีหนังสือเตือน ทั้งการดื่มสุราส่งเสียงดังก็ไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรง และข้อบังคับก็ไม่ได้ระบุไว้เป็นความผิดร้ายแรง ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยข้อ 47(3) แห่งกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จำเลยไม่มีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

แม้จะฟังได้ดังจำเลยนำสืบว่า โจทก์ไปพูดขอยืมปืนจากยามเพื่อจะไปยิงน้องชายจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างก็ตาม การกระทำของโจทก์ก็ยังไม่เป็นความผิดไม่เข้าเกณฑ์การกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

พิพากษายืน

Share