คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2905/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้า คำว่า เบนซ์, BENZ และรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมโดยชอบ จำเลยที่ 1 นำชื่อดังกล่าวไปใช้ในการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อทางการค้าของโจทก์โดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของชื่อเสื่อมประโยชน์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ระงับความเสียหายและห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อและรูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ได้
สิทธิของโจทก์ในเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรไว้แล้ว ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 44 เป็นสิทธิแต่ผู้เดียวเพื่อใช้เครื่องหมายนั้นสำหรับสินค้าจำพวกที่ได้จดทะเบียนไว้เพื่อแยกแยะให้เห็นว่า สินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของผู้อื่นเท่านั้น หาได้รวมถึงการนำเครื่องหมายนั้นมาใช้เป็นชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลด้วยไม่ จำเลยที่ 1 นำคำว่า เบนซ์, BENZ และรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลม มาใช้เป็นชื่อบริษัทและดวงตรานิติบุคคล ไม่ได้นำมาใช้กับสินค้า การกระทำดังกล่าวจึงมิได้เป็นการใช้คำและรูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ จึงไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ในเครื่องหมายการค้าตามนัยแห่งมาตรา 44 อย่างไรก็ตาม คำว่า เบนซ์, BENZ และรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของโจทก์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ ป.อ. มาตรา 272 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำชื่อและรูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ไปใช้โดยไม่สุจริตทำให้โจทก์เสียหาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อและรูปรอยประดิษฐ์นั้นได้ ซึ่งแม้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแก้ไขชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 แต่การห้ามมิให้ใช้ดังกล่าวก็ย่อมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจประกอบกิจการค้าจำหน่ายรถยนต์และให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ภายใต้ชื่อ “บริษัทเบนซ์แจ้งวัฒนะ จำกัด” และใช้ดวงตรานิติบุคคลที่เป็นรูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ได้อีกอันเป็นการห้ามมิให้กระทำการละเมิดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อยู่ในตัวแล้ว
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นแจ้งชัดถึงเจตนาในการนำชื่อและรูปรอยประดิษฐ์อันเป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้โดยส่อเจตนาให้ประชาชนสับสนหลงผิดว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนทางการค้าของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอบังคับห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ในลักษณะที่เป็นชื่อทางการค้าและรูปรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของโจทก์ในการประกอบธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 แก้ไขชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลโดยมิให้มีคำว่า BENZ หรือเบนซ์ และรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลม หากไม่ดำเนินการให้จำเลยที่ 2 เพิกถอน หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยที่ 1 ยุติการแสดงชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 โดยสิ้นเชิงห้ามจำเลยที่ 1 ยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการใช้หรือเข้าเกี่ยวข้องในชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการของโจทก์และที่เหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์ในกิจการค้า สินค้าหรือบริการใดๆ กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะยุติการทำละเมิด
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อ “เบนซ์” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 กันยายน 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะยุติการใช้ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดเป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ วินิจฉัยว่า “…ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และอุทธรณ์ของโจทก์มีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุชื่อโจทก์ที่หัวกระดาษและมีการรับรองลงลายมือชื่อถูกต้องทั้งจากโนตารีปับลิคและสถานกงสุลไทยส่วนหนังสือถ้อยแถลงเกี่ยวกับชื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ มีข้อความระบุว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งและอยู่ภายใต้กฎหมายประเทศเยอรมนี มีสำนักงานอยู่ที่เมืองสตุทท์การ์ท ประเทศเยอรมนี จึงรับฟังว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศเยอรมนี ส่วนปัญหาว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง หรือไม่ หนังสือมอบอำนาจมีลักษณะเป็นการมอบอำนาจทั่วไป ซึ่งผู้รับมอบอำนาจสามารถใช้ในการดำเนินคดีแก่บุคคลใดก็ได้เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างบุคคลนั้นๆ กับโจทก์เกี่ยวกับกิจการค้าของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายไว้ ฉะนั้น จึงไม่จำต้องระบุให้มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะเจาะจง หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นหนังสือมอบออำนาจที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร แต่ทางนำสืบของโจทก์ประกอบกับปรากฏจากสำเนาแบบจองชื่อนิติบุคคลหนังสือบริคณห์สนธิคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดของจำเลยที่ 1 กลับได้ความว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรี และนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรีเป็นผู้รับจดทะเบียนไม่ใช่จำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาถึงกรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 และเกี่ยวข้องกับอำนาจฟ้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนทั้งนี้เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นนี้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและอนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม และมาตรา 180 เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว และในกรณีนี้ไม่ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะอนุญาตหรือไม่ก็ตาม หากศาลเห็นสมควรศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้อยู่แล้วเนื่องจากเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามมาตรา 142 (5) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรีและนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรีเป็นผู้รับจดทะเบียนไม่ใช่จำเลยที่ 2 ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2491) ฉบับที่ 20 (พ.ศ.2547) ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2536) ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท) ระบุว่า การจัดตั้งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพหานครและสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดอื่น มีการกำหนดเขตพื้นที่รับผิดชอบแยกกันอย่างชัดเจนจึงเห็นได้ชัดว่าที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบงานทะเบียนของจำเลยที่ 1 และไม่ใช่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรีที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียน จึงเป็นการฟ้องผิดตัว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งและวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปมีว่า การที่จำเลยที่ 1 นำคำว่า เบนซ์, BENZ และรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่และโจทก์เสียหายหรือไม่ โจทก์ใช้คำว่า เบนซ์ และ BENZ เป็นชื่อทางการค้าและใช้รูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมกับกิจการค้าขายรถยนต์ของโจทก์มาเป็นเวลานานจนเป็นที่เรียกขานเป็นยี่ห้อสินค้าที่มีชื่อเสียงทั่วไปชื่อและรูปประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิในการที่จะใช้ชื่อทางการค้าและรูปประดิษฐ์ดังกล่าวในการประกอบกิจการค้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิ กลุ่มผู้บริหารจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าโดยซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ของโจทก์จากตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ไปจำหน่ายต่อให้ลูกค้าตั้งแต่ปี 2535 จนกระทั่งปี 2539 เป็นเวลานาน 4 ปี จึงนำชื่อคำว่า เบนซ์, BENZ และรูปประดิษฐ์ดังกล่าวไปจดทะเบียนชื่อและดวงตรานิติบุคคล ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่โจทก์จัดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยแล้วเกือบ 40 ปี ย่อมทราบดีว่า ชื่อเสียงเกียรติคุณของชื่อทางการค้าและรูปรอยประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมของโจทก์เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค เป็นเสมือนหลักประกันคุณภาพของสินค้าและบริการ อีกทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สาธารณชนเลือกที่จะซื้อสินค้าและบริการจากโจทก์หรือตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ ก่อให้เกิดรายได้และผลประโยชน์ตอบแทนอย่างสูงแก่ผู้ประกอบการพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการประเภทเดียวกับโจทก์ ใช้ชื่อบริษัทเบนซ์แจ้งวัฒนะ จำกัด และชื่อภาษาอังกฤษว่า BENZ CHANGWATTANA CO., LTD. อันเป็นการนำคำว่า เบนซ์ และ BENZ ไปเป็นคำนำหน้าชื่อในส่วนสำคัญ ตลอดจนใช้รูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมเป็นดวงตรานิติบุคคล ย่อมแสดงถึงเจตนาที่คาดหมายว่าสาธารณชนทั่วไปจะเข้าใจว่ากิจการของจำเลยที่ 1 เป็นกิจการในเครือหรือเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับโจทก์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อันเป็นการมุ่งแสวงหาประโยชน์ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้า คำว่า เบนซ์ BENZ และรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมโดยชอบ จำเลยที่ 1 นำชื่อดังกล่าวไปใช้ในการประกอบธุรกิจ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อทางการค้าของโจทก์โดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของชื่อเสื่อมประโยชน์จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ระงับความเสียหายและห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อและรูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิขอบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลที่พิพาทหรือไม่ เห็นว่า สิทธิของโจทก์ในเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรไว้แล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 เป็นสิทธิแต่ผู้เดียวเพื่อใช้เครื่องหมายนั้นสำหรับสินค้าจำพวกที่ได้จดทะเบียนไว้เพื่อแยกแยะให้เห็นว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของผู้อื่นเท่านั้น หาได้รวมถึงการนำเครื่องหมายนั้นมาใช้เป็นชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลด้วยไม่ จำเลยที่ 1 นำคำว่า เบนซ์, BENZ และรูปรอยประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมมาใช้เป็นชื่อบริษัทและดวงตรานิติบุคคลไม่ได้นำมาใช้กับสินค้า การกระทำดังกล่าวจึงมิได้เป็นการใช้คำและรูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ จึงไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ในเครื่องหมายการค้าตามนัยแห่งมาตรา 44 ดังที่โจทก์อุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ดังที่วินิจฉัยแล้วว่า คำว่า เบนซ์, BENZ และรูปรอยประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของโจทก์ที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำชื่อและรูปประดิษฐ์ของโจทก์ไปใช้โดยไม่สุจริตทำให้โจทก์เสียหาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อและรูปรอยประดิษฐ์นั้นได้ ซึ่งแม้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะมิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ในที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแก้ไขชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 แต่การห้ามมิให้ใช้ดังกล่าวก็ย่อมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจประกอบกิจการค้าจำหน่ายรถยนต์และให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ภายใต้ชื่อ “บริษัทเบนซ์แจ้งวัฒนะ จำกัด” และใช้ดวงตรานิติบุคคลที่เป็นรูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ได้อีกอันเป็นการห้ามมิให้กระทำการละเมิดอันก่อความเสียหายแก่โจทก์อยู่ในตัวแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นแจ้งชัดถึงเจตนาในการนำชื่อและรูปรอยประดิษฐ์ อันเป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้โดยส่อเจตนาให้ประชาชนสับสนหลงผิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนทางการค้าของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอบังคับห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ในลักษณะที่เป็นชื่อทางการค้าและรูปรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของโจทก์ในการประกอบธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 1 ได้
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ หรือใช้ หรือเข้าเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใดกับชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการของโจทก์รวมทั้งชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการของโจทก์ไม่ว่ากับกิจการค้าสินค้าหรือบริการใด ๆ เห็นว่า ส่วนนี้เป็นคำขอในอนาคตที่โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 เรื่องค่าเสียหายนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น สำหรับจำนวนค่าความเสียหายนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานใด ๆ มานำสืบแสดงให้เห็นว่าโจทก์ต้องเสียหายถึงเดือนละ 300,000 บาท ตามที่เรียกร้องแต่กิจการค้าของโจทก์ก็เป็นกิจการขนาดใหญ่ สินค้ารถยนต์ของโจทก์จัดว่าเป็นสินค้ามูลค่าสูงที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วไปไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยผู้ที่ประสงค์จะเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโจทก์จะต้องลงทุนด้วยเงินเป็นจำนวนมากทั้งในด้านทำเลที่ตั้งของสถานประกอบการการก่อสร้างอาคารสำนักงานและโชว์รูม ค่าเช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ การอบรมพนักงานเงินทุนหมุนและเครดิตทางการค้า ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์เพียงเดือนละ 2,000 บาท ยังถือว่าน้อยเกินไป ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้รูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมเป็นดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 แสดงชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ คำว่า BENZ, เบนซ์, MERCEDS-BENZ, MERCEDES และรูปรอยประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมของโจทก์ในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 27 กันยายน 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะยุติการใช้ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share