คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2778/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายนั้น จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 อยู่ ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 อย่างไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1077 (2) และกรณีศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้วเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 89 จำเลยที่ 2 จะต่อสู้ว่าตนเองมิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหาได้ไม่ จำเลยที่ 2 จึงต้องล้มละลายตามห้าง
ในวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยที่ 3 ล้มละลายตามห้างตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 89 ได้ อนึ่ง แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และมูลหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 3 จะออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวภายในกำหนด 2 ปี นับแต่ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้เมื่อเกินกำหนดเวลา 2 ปีแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว โจทก์ไม่อาจนำหนี้นี้มาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์ และศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 5,792,298.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 3085/2540 หมายเลขแดงที่ 3643/2542 ขณะที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ได้บังคับคดีและได้รับเงินจากการบังคับคดีไปเป็นเงิน 4,254,945.79 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โจทก์รับผิดลดลงเหลือเพียง 1,521,450.40 บาท และต่อมาศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้โจทก์รับผิดเพียง 1,082,774 บาท เมื่อคำนวณหนี้ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว โจทก์ต้องรับผิดเป็นเงินเพียง 1,361,125.76 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดคืนเงินโจทก์ 2,733,495.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2545 และโจทก์ได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ที่จะต้องคืนเงินส่วนที่รับไปเกินมีจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท หรือไม่ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ในระหว่างที่โจทก์ดำเนินการบังคับคดีนั้น โจทก์ตกลงยอมลดยอดหนี้เหลือเพียง 1,210,000 บาท ตามเอกสารแนบท้ายอุทธรณ์หมายเลข 2 และเลข 3 เห็นว่า ตามเอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 1 ที่จำเลยที่ 1 อ้างมาก็มีข้อความเพียงว่า จำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้ภายนอกให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,550,000 บาท โจทก์ของงดการยึดทรัพย์ไว้ และเมื่อมีการชำระครบถ้วนโจทก์ก็จะดำเนินการถอนการบังคับคดี ส่วนเอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 3 ก็เป็นเอกสารที่คู่ความดำเนินการจัดทำกันเอง และไม่มีข้อความส่วนใดที่ระบุว่าโจทก์ตกลงลดจำนวนหนี้ที่ค้างให้แก่จำเลยที่ 1 โดยทันที ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ตกลงลดยอดหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และมีจำนวนเหลือน้อยกว่า 2,000,000 บาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองมีว่า จำเลยที่ 1 มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายชานนท์ เป็นกรรมการของโจทก์มาเบิกความว่า ระหว่างบังคับคดี จำเลยที่ 1 ได้ปิดกิจการและหลบหนีไปจากสำนักทำการงานของจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไม่พบทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดกรณีจึงฟังว่า จำเลยที่ 1 ได้ปิดสถานที่ประกอบธุรกิจเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับรับชำระหนี้จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (4) ข ว่า จำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพันตัว และกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดมานั้นชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สามมีว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า เมื่อปรากฏตามหนังสือรับรองว่าในวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายนั้นจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอันเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 อยู่ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 อย่างไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1077 (2) และกรณีศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้วเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 จำเลยที่ 2 จะต่อสู้ว่าตนเองมิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหาได้ไม่ จำเลยที่ 2 จึงต้องล้มละลายตามห้าง
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 3 ล้มละลายหรือไม่ ปรากฏว่าในวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยที่ 3 ล้มละลายตามห้าง ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 ได้ อนึ่ง แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 27 มกราคม 2545 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 และวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 เช่นนี้ มูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 3 จะออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวภายในกำหนด 2 ปี นับแต่ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2545 ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่วันดังกล่าวถึงวันที่ 28 มกราคม 2547 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 จึงเกินกำหนดเวลา 2 ปีแล้วจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้นี้มาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 3 เด็ดขาดมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง

Share