แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาอุทธรณ์แล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาพอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรหนึ่ง แล้ว
ป.พ.พ. มาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามหนังสือสัญญากู้เงินข้อ 2 ระบุว่า ผู้กู้สัญญาว่าจะชำระเงินกู้รายนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับแต่วันทำสัญญาฉบับนี้ และจะชำระดอกเบี้ยกับผ่อนเงินต้นตามสัญญานี้ให้กับผู้ให้กู้เป็นจำนวนรวมกันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,900 บาท ทุกวันสิ้นเดือน เริ่มแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่ได้รับเงินกู้เป็นต้นไปหากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้งวดหนึ่งงวดใด ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้ฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดคืนได้ทันทีหลังจากจำเลยทำสัญญากู้และสัญญาจำนองแล้วจำเลยไม่เคยชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลย ถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่งวดแรกซึ่งถึงกำหนดชำระในวันที่ 31 มีนาคม 2523 โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2523 อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปหาได้เริ่มนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาตามหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ดังที่อุทธรณ์ไม่ ทั้งการที่จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนโจทก์เป็นงวดงวดละเดือนเป็นการที่โจทก์เรียกร้องเอาเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ อันมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) หาใช่อายุความสิบปีตามที่โจทก์อุทธรณ์ไม่
การจำนองทรัพย์สินเพื่อเป็นประกันหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 755 และมาตรา 193/27 บัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่า แม้หนี้ที่ประกันหรือหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว ก็ยังบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ แต่ดอกเบี้ยที่ค้างให้คิดย้อนหลังขึ้นไปได้เพียงห้าปีเท่านั้น
แม้ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองจะระบุว่า หากมีการบังคับจำนองและภายหลังจากเอาทรัพย์สินที่จำนองขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องชำระเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยยินยอมรับใช้เงินจำนวนที่ขาดนั้นจนครบอันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติมาตรา 733 ก็ตาม แต่เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความดังได้วินิจฉัยแล้ว โจทก์คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำเลยจำนองไว้เท่านั้นจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยหาได้ไม่
แม้จำเลยจะมีหน้าที่ตามสัญญากู้เงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์ทำประกันภัยได้เองและจำเลยยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อหน้าที่ที่จำเลยจะต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระ อันเป็นหนี้ในอนาคตจะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 5,974,460.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,936,627.58 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ออกแทนจำเลยไปก่อนจำนวน 510.21 บาท ทุกวันที่ 2 เมษายน ของทุกสามปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 มิถุนายน 2549) ย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี และนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 118217 ตำบลคันนายาว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิฉัยว่า “แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาอุทธรณ์แล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาพอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว มีปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่าหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีกำหนดเวลาชำระคืนภายใน 15 ปี นับแต่วันทำสัญญาและมีข้อตกลงว่าจำเลยจะผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,900 บาท หากผิดนัดยอมให้โจทก์ฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดคืนได้ทันที อันเป็นการให้สิทธิแก่โจทก์ในการเลือกว่าจะฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดคืนทันทีหรือจะยังไม่ใช้สิทธิก็ได้ การที่โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดทันทีที่จำเลยผิดนัด อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ ต่อเมื่อโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยกำหนดให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนการจำนองภายใน 30 วัน นับจากวันที่จำเลยได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือของโจทก์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 แต่มิได้ชำระหนี้ภายในกำหนด สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเกิดขึ้นเมื่อพ้นเวลา 30 วัน นับจากวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 คือวันที่ 10 มีนาคม 2549 อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2549 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามหนังสือสัญญากู้เงินข้อ 2 ระบุว่า ผู้กู้สัญญาว่าจะชำระเงินกู้รายนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปีนับแต่วันทำสัญญาฉบับนี้ และจะชำระดอกเบี้ยกับผ่อนเงินต้นตามสัญญานี้ให้กับผู้ให้กู้เป็นจำนวนรวมกันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,900 บาท ทุกวันสิ้นเดือนเริ่มแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่ได้รับเงินกู้เป็นต้นไป หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้งวดหนึ่ง งวดใด ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้ฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดคืนได้ทันที ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยแถลงรับกันได้ความว่าหลังจากจำเลยทำสัญญากู้และสัญญาจำนองแล้ว จำเลยไม่เคยชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลย ถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่งวดแรกซึ่งถึงกำหนดชำระในวันที่ 31 มีนาคม 2523 โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2523 อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป หาได้เริ่มนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาตามหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ดังที่อุทธรณ์ไม่ ทั้งการที่จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนโจทก์เป็นงวด งวดละเดือนเป็นการที่โจทก์เรียกร้องเอาเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ อันมีอายุความห้าปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) หาใช่อายุความสิบปีตามที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระย้อนหลังเกิน 5 ปี หรือไม่ เห็นว่า การจำนองทรัพย์สินเพื่อเป็นประกันหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 และมาตรา 193/27 บัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่า แม้หนี้ที่ประกันหรือหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว ก็ยังบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้แต่ดอกเบี้ยที่ค้างให้คิดย้อนหลังขึ้นไปได้เพียงห้าปีเท่านั้น ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้ย้อนหลังไปมีกำหนด 5 ปี จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น โดยไม่อาจบังคับกับทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้เป็นการชอบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 8 ระบุว่า หากมีการบังคับจำนองและภายหลังจากเอาทรัพญ์สินที่จำนองขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องชำระเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยยินยอมรับใช้เงินจำนวนที่ขาดนั้นจนครบ เมื่อโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีกับทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนนั้น เห็นว่า แม้ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองจะระบุว่า หากมีการบังคับจำนองและภายหลังจากเอาทรัพย์สินที่จำนองขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องชำระเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยยินยอมรับใช้เงินจำนวนที่ขาดนั้นจนครบอันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติมาตรา 733 ก็ตาม แต่เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความดังได้วินิจฉัยแล้วโจทก์คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำเลยจำนองไว้เท่านั้นจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยหาได้ไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิบังคับจำนองได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น โดยไม่อาจบังคับกับทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยหลังวันฟ้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5 ระบุว่า ผู้จำนองยินยอมเอาประกันอัคคีภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนอง โดยผู้จำนองยินยอมเสียเงินค่าเบี้ยประกันภัยเองตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ดังนั้น ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น จำเลยยังคงมีหน้าที่ในการชำระค่าเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์นั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะมีหน้าที่ตามสัญญากู้เงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์ทำประกันภับได้เองและจำเลยยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อหน้าที่ที่จำเลยจะต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระ อันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวและพิพากษาให้ยกคำขอส่วนนี้นั้นชอบแล้ว และไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงไปได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ