คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2486/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปรับปรุงคันดินกั้นน้ำมีข้อตกลงว่าหากมีความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายจากงานจ้างอันเกิดจากการใช้วัตถุที่ไม่ถูกต้องหรือทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือทำไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชาการภายใน 2 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงานจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรีบแก้ไขโดยไม่ชักช้า โจทก์ตรวจพบความชำรุกบกพร่องและแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขแล้วแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่แก้ไขให้เรียบร้อยตามสัญญาจึงถือว่าผิดสัญญา โจทก์ย่อมฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดตามสัญญาจ้างธรรมดาซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปรับปรุงคันดินกั้นน้ำยาว 5,160 เมตร ณ วิทยาลัยเกษตรกรรมสิงห์บุรี (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี) ค่าจ้างเป็นเงิน 8,918,380 บาท กำหนดเริ่มทำงานในวันที่ 28 สิงหาคม 2539 และต้องทำงานให้สำเร็จบริบูรณ์ในวันที่ 23 สิงหาคม 2540 หากมีความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายอันเกิดจากการใช้วัสดุไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องแก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่โจทก์กำหนดจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์ในวงเงิน 446,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างเสร็จและส่งมอบงานในวันที่ 8 กันยายน 2540 ต่อมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์พบว่าแนวคันดินกั้นน้ำที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างแตกเป็นร่องลึก ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 2 ปี นับแต่วันรับมอบงานครั้งสุดท้าย เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือทำงานไม่เรียบร้อย โจทก์ประมาณค่าใช้จ่ายในการซ่อมเป็นเงิน 470,968 บาท และมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซ่อมแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยอมซ่อม โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันแต่จำเลยที่ 3 ไม่ชำระ ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซ่อมคันดินที่ชำรุดบางส่วนคิดเป็นเงิน 379,204 บาท คงเหลือความชำรุดบกพร่องที่ยังไม่ได้ซ่อมเป็นเงิน 91,891 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 91,891 บาท นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 20,733.20 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 112,624.20 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 112,624.20 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ก่อสร้างแนวคันดินกั้นน้ำตามหลักวิชาการด้วยวัสดุที่ระบุในสัญญา เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จและโจทก์ตรวจรับมอบงานแล้ว หลังจากที่โจทก์พบว่างานก่อสร้างชำรุดบกพร่อง จำเลยที่ 1 ได้ซ่อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว โจทก์ประมาณค่าซ่อมสูงเกินความจริง ความเสียหายที่ต้องซ่อมไม่เกิน 10,000 บาท โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างคันดินกั้นน้ำตามแบบแปลนและใช้วัสดุก่อสร้างตามแบบที่โจทก์กำหนด คันดินกั้นน้ำไม่ได้ชำรุดเสียหายความเสียหายเกิดภายหลัง 2 ปี นับแต่วันส่งมอบงานก่อสร้าง ซึ่งพ้นระยะเวลาที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน และการประมาณค่าซ่อมท้ายฟ้องไม่ถูกต้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาว่าจ้าง ข้อ 6 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับจ้างรับผิดในความชำรุดบกพร่องมีกำหนดเวลา 2 ปี เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์มีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามสัญญาว่าจ้าง ข้อ 6 โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อตกลงเรื่องความชำรุดบกพร่องของงานจ้างว่าหากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นจากงานจ้างนี้ภายในกำหนด 2 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงานดังกล่าว ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้าง อันเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้องหรือทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือทำไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา ผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้า หากผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่กระทำการดังกล่าวหรือไม่ทำการแก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะทำการนั้นและหรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นโดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย เมื่อโจทก์พบความชำรุดบกพร่อง และโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซ่อมภายในกำหนด 2 ปี นับถัดจากวันที่โจทก์รับมอบงานแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ทำการซ่อมให้เรียบร้อยตามสัญญาย่อมถือว่าเป็นการผิดสัญญา โจทก์ย่อมฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดตามสัญญาจ้างธรรมดา ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 ไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัยให้ เมื่อโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อนี้ต่อมา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ และพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่ เห็นว่า โจทก์นำสืบถึงความเสียหายของแนวคันดินกั้นน้ำส่วนที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ซ่อมว่ามีค่าจ้างแรงงานที่ต้องบดอัดดินกั้นน้ำกว้าง 4 เมตร ยาว 4,910 เมตร ราคาเมตรละ 9 บาท เป็นเงิน 44,190 บาท ค่าแรงงานซ่อมแนวคันดินกั้นน้ำที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ซ่อมยาว 250 เมตร ราคาเมตรละ 65 บาท เป็นเงิน 16,250 บาท และราคาดินที่ต้องนำไปเสริมแนวท่อระบายน้ำด้านทิศเหนือจำนวน 100 ลูกบาศก์เมตร ราคาลูกบาศก์เมตรละ 50 บาท เป็นเงิน 5,000 บาท รวมค่าแรงงาน ค่าวัสดุและเครื่องจักรกลเป็นเงินทั้งสิ้น 91,891 บาท โดยมีนายสมหมาย นายเชาวลิต และนายชูศักดิ์ เป็นพยาน โดยนายเชาวลิตเบิกความว่าพยานร่วมกันสมหมายตรวจแนวคันดินกั้นน้ำพบรอยแตกร้าวที่คันดินกั้นน้ำตามแนวพื้นเอียงของคันดินกั้นน้ำเกิดการไหลทรุดตัว และแนวท่อระบายน้ำมีการทรุดตัวด้วย นายสมบูรณ์ ถ่ายรูปแนวคันดินกั้นน้ำไว้ พยานทำหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการซ่อม ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 1 มีหนังสือขอเข้าดำเนินการซ่อมตามหนังสือเรื่องดำเนินการซ่อมคันดินกั้นน้ำพยานสั่งการให้นายสมหมายควบคุมการซ่อมให้เป็นไปอย่างถูกต้อง จำเลยที่ 1 ดำเนินการซ่อมแต่ไม่ครบถ้วนยังเหลือแนวคันดินกั้นน้ำที่ยังไม่ได้ซ่อมอีก 250 เมตร และการซ่อมของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นไปตามหลักการก่อสร้างเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้บดอัดแนวคันดินกั้นน้ำและไม่ได้นำดินเข้ามาถมใหม่ เพียงแต่ตักดินที่ไหลทรุดตัวลงไปขึ้นถมตามแนวคันดินกั้นน้ำเดิมเท่านั้น ซึ่งศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตรบางพูนได้ประมาณราคาส่วนที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ซ่อมเป็นเงิน 91,891 บาท นายสมหมายเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ซ่อมเป็นเงิน 91,891 บาท นายสมหมายเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขอเข้าทำการซ่อมในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 ตามหนังสือเรื่องดำเนินการซ่อมคันดินกั้นน้ำแล้วได้นำรถแบ็กโฮเข้าไปตักดินที่ทรุดตัวและที่แตกร้าว โดยไม่มีการบดอัดและยังเหลือคันดินกั้นน้ำที่ยังไม่ได้ซ่อมประมาณ 250 เมตร ซึ่งศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตรบางพูดประมาณค่าเสียหายเป็นเงิน 91,891 บาท และนายชูศักดิ์เบิกความว่าพยานตรวจสอบความเสียหายของคันดินกั้นน้ำ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ซ่อมพบว่าท่อคอนกรีตเสริมเหล็กด้านทิศเหนือของคันดินกั้นน้ำถูกน้ำกัดเซาะพังทลาย และแนวคัดดินกั้นน้ำประมาณ 250 เมตร มีสภาพแตกร้าวถูกกัดเซาะเป็นเช่นเดิม กับในส่วนของคันดินกั้นน้ำด้านบนยังไม่ได้มีการบดอัด โดยประมาณราคาซ่อมเป็นเงิน 91,891 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีตัวจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อปี 2541 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรีมีหนังสือแจ้งว่า คันดินกั้นน้ำแตกร้าวเนื่องจากน้ำฝนกัดเซาะจำเลยที่ 1 มีหนังสือขอเข้าดำเนินการซ่อมส่วนที่ชำรุดเสียหายตามหนังสือเรื่องดำเนินการซ่อมคันดินกั้นน้ำ โดยนำเครื่องจักรกลเข้าไปซ่อมเริ่มจากแนวคันดินกั้นน้ำด้านซ้ายเรื่อยไปจนถึงแนวคันดินกั้นน้ำด้านขวา ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ก็เสร็จเรียบร้อย ขณะนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของวิทยาเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรีแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซ่อมในส่วนอื่นอีก เห็นว่า นายสมควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ควบคุมงานการปรับปรุงคันดินกั้นน้ำและเป็นกรรมการตรวจการจ้าง นายเชาวลิตเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องอาคารสถานที่รวมถึงงานปรับปรุงคันดินกั้นน้ำและได้ร่วมตรวจสอบความเสียหายของคันดินกั้นน้ำกับนายสมหมาย ส่วนนายชูศักดิ์เป็นผู้ออกแบบงานคันดินกั้นน้ำ สำรวจความเสียหาย และประมาณราคาซ่อม เป็นบุคคลที่รู้เห็นเกี่ยวกับเรื่องความเสียหายของแนวคันดินกั้นน้ำและการซ่อมแนวคันดินกั้นน้ำของจำเลยที่ 1 โดยตรง ทั้งพยานทั้งสามเบิกความถึงข้อเท็จจริงที่ตนได้ปฏิบัติไปตามหน้าที่โดยไม่มีข้อระแวงว่าจะให้ร้ายแก่จำเลยทั้งสามโดยปราศจากมูลความจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์มีภาพถ่ายแนวคันดินกั้นน้ำที่มีรอยแตกเป็นร่องและภาพถ่ายด้านข้างของแนวคันดินกั้นน้ำที่เกิดการเลื่อนตัวลงด้านล่าง กับภาพถ่ายท่อระบายน้ำที่เกิดการทรุดตัวและแตกออกจากกันเป็นพยานหลักฐานสนับสนุน ทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามคงมีแต่คำเบิกความลอยๆ ของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำการซ่อมแนวคันดินกั้นน้ำเรียบร้อยแล้วโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทั้งตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ปรากฏว่าในการซ่อมแนวคันดินกั้นน้ำของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ได้ทำการบดอันคันดินกั้นน้ำแต่อย่างใด อันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ว่าการซ่อมแซมของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นไปตามหลักการก่อสร้างเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้บดอัดคันดินกั้นน้ำแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งมีทั้งพยานบุคคล พยานเอกสารและภาพถ่ายความเสียหายของแนวคันดินกั้นน้ำประกอบกัน จึงมีน้ำหนักรับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสาม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยังมิได้ดำเนินการบดอัดคันดินกั้นน้ำเป็นระยะทาง 4,910 เมตร และยังมิได้ซ่อมแนวคันดินกั้นน้ำเป็นระยะทาง 250 เมตร กับยังมิได้ซ่อมแนวท่อระบายน้ำด้านทิศเหนือดังที่โจทก์ฟ้อง ปัญหาว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายชูศักดิ์เป็นพยานเบิกความว่าพยานได้สำรวจและประมาณราคาค่าแรงงานและวัสดุที่ต้องใช้ในการซ่อมแนวคิดดินกั้นน้ำไว้ ซึ่งระบุว่าโจทก์ต้องบดอัดคันดินกั้นน้ำกว้าง 4 เมตร ยาว 4,910 เมตร ต้องเสียค่าแรงงานส่วนนี้ในราคาเมตรละ 9 บาท เป็นเงิน 44,190 บาท และต้องซ่อมคันดินกั้นน้ำที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้ซ่อมยาว 250 เมตร ต้องเสียค่าแรงงานเมตรละ 65 บาท เป็นเงิน 16,250 บาท กับต้องใช้ดินเสริมแนวท่อระบายน้ำด้านทิศเหนือจำนวน 100 ลูกบาศก์เมตร ราคาลูกบาศก์เมตรละ 50 บาท เป็นเงิน 5,000 บาท รวมค่าวัสดุและเครื่องจักรกลเป็นเงินทั้งสิ้น 91,891 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสามมิได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้เลย ประกอบกับการซ่อมแนวคันดินกั้นน้ำให้มีสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีจะต้องมีการบดอัดดินซึ่งจะต้องใช้วัสดุ แรงงานและเครื่องจักรกล เมื่อพิจารณาถึงราคาค่าแรงงานและค่าวัสดุที่โจทก์ประมาณราคาไว้เห็นว่าไม่สูงเกินสมควร จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามที่ฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 91,891 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 20,733.20 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท

Share