คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8395/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9 กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินประกัน ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย หรือค่าชดเชยพิเศษ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน นอกเหนือจากที่ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดที่กำหนดให้ต้องเสียร้อยละสิบห้าต่อปีอีกด้วย เมื่อค่าจ้างและค่าชดเชยที่จำเลยไม่ได้จ่ายแก่โจทก์ยังมีข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าจำเลยต้องจ่ายให้โจทก์หรือไม่ และจะนำไปหักกลบลบหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ได้หรือไม่ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นนายจ้างจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเจ็ดวันแต่อย่างใด
การอุทธรณ์ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจศาลว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ซึ่งจำเลยจะต้องยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาท เพื่อศาลแรงงานกลางจะได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาคดีและวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางนั้น พ.รบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นที่สุด เมื่อจำเลยมิได้ยกปัญหาเรื่องศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ในคำให้การ แสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะวินิจฉัยเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ จำเลยเพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ซึ่งล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มิได้บัญญัติถึงวิธีการหรือหลักเกณฑ์ในการขอแก้ไขคำฟ้องไว้จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 180 บัญญัติว่า “การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้วให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย” ในคดีแรงงานถือได้ว่าไม่มีการชี้สองสถานเพราะการกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยานเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้น โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เว้นแต่มีเหตุยกเว้นตามบทบัญญัติข้างต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิชอบ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงิน 1,347,461.29 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับโจทก์คืนเงิน 202,673.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย หากจำเลยต้องจ่ายเงินแก่โจทก์ตามฟ้องขอให้นำหนี้ทั้งสองฝ่ายมาหักกลบลบกัน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 72,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,000 บาท เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 89,574.24 บาท แต่ไม่มีสิทธิได้เงินเพิ่ม โจทก์ต้องคืนเงินตามฟ้องแย้ง 198,700 บาท แก่จำเลย จึงนำค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหักกลบลบหนี้กับเงินที่โจทก์ต้องคืนให้จำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 89,574.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้โจทก์จ่ายเงินคืนให้จำเลย 114,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 24 เมษายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย คำขอของโจทก์และจำเลยนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยข้อ 3.3 ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ และตามอุทธรณ์จำเลยข้อ 3.5 ถึงข้อ 3.8 ซึ่งจำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ปิดบัญชีคืนเงินล่าช้าแต่จำเลยไม่เคยตำหนิติเตียนก็ไม่ทำให้การกระทำของโจทก์เป็นประเพณีปฏิบัติ แม้ว่าฝ่ายบริหารจำเลยไม่ได้เคร่งครัดต่อระเบียบแต่จำเลยยังคงต้องปฏิบัติงานโดยถูกต้องและสุจริตไม่สามารถเอาเงินไปใช้ล่วงหน้าได้โดยวิสาสะ การที่โจทก์ปิดบัญชีโดยรวมเอาหลายๆ งานมาปิดบัญชีครั้งเดียวจนเป็นเหตุให้มีเงินค้างที่โจทก์และไม่ได้ส่งคืนจำเลย เป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่แล้ว การทำหนังสือรับสภาพหนี้ของโจทก์ไม่ได้เป็นการบรรเทาความเสียหายของจำเลย เห็นว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์เมื่อโจทก์ไปปฏิบัติงานเสร็จสิ้นแล้วจะต้องกลับมาปิดบัญชีโดยทำรายงานค่าใช้จ่ายลงในใบประเมินพร้อมทั้งแนบใบเสร็จรับเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้อง สรุปยอดเงินคงเหลือหรือขอเบิกเพิ่มเติมเสนอให้ผู้จัดการแผนกนำเข้าและส่งออกซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงเห็นชอบแล้วเสนอกรรมการผู้จัดการอนุมัติอีก จากนั้นโจทก์จึงติดต่อปิดบัญชีที่แผนกบัญชีและการเงิน ถ้ามีเงินเหลือก็ต้องส่งคืน ถ้าไม่พอก็จะเบิกเพิ่มเติมได้เท่ากับที่ได้ผ่านการอนุมัติดังกล่าวทุกครั้ง จำเลยมีระเบียบให้พนักงานออกของต้องทำการปิดบัญชีภายในเจ็ดวัน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวการปฏิบัติงานของโจทก์เมื่อมีเงินเหลือจากการเบิกจะต้องส่งคืนทุกครั้งเพื่อปิดบัญชีภายในเจ็ดวัน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยทราบว่าบริษัทแม่ที่ฮ่องกงจะส่งผู้ตรวจสอบมาตรวจสอบบัญชีเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินของแผนกนำเข้าและส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2545 จำเลยตรวจสอบบัญชีของพนักงานทั้งหมดจึงทราบว่าโจทก์ได้เบิกเงินล่วงหน้าไปปฏิบัติงานเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีเงินที่ต้องส่งคืนจำเลยถึงเดือนพฤศจิกายน 2545 จำนวน 198,700 บาท แต่โจทก์ไม่ส่งคืนแก่จำเลย แม้ทางปฏิบัติจำเลยจะไม่ได้เคร่งครัดต่อระเบียบโดยปล่อยให้พนักงานออกของปิดบัญชีไม่เป็นไปตามลำดับงานและรวมเอาหลายๆ งานมาปิดบัญชีครั้งเดียวได้ก็ตาม แต่ก็เป็นการไม่เคร่งครัดเรื่องการไม่ปิดบัญชีให้เป็นไปตามลำดับงาน แต่เรื่องการเบิกเงินไปปฏิบัติงานเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีเงินเหลือก็ยังคงต้องส่งคืนแก่จำเลย การที่ฝ่ายบริหารของจำเลยไม่ได้ว่ากล่าวเอาผิดกับพนักงานก็เป็นความบกพร่องที่หากมีความเสียหายจากความบกพร่องนั้น ฝ่ายบริหารของจำเลยก็ต้องรับผิดจากความบกพร่องของตนเองต่างหาก การที่โจทก์ไม่นำเงินส่งคืนแก่จำเลยเมื่อปฏิบัติงานเสร็จสิ้นแต่กลับเก็บไว้ที่ตนเอง เมื่อจำเลยตรวจสอบพบก็ไม่สามารถส่งคืนได้ จึงเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตซึ่งจำเลยจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ข้อ 3.3 ของจำเลยฟังขึ้น และเมื่ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวโต้แย้งเฉพาะสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของการวินิจฉัยเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าข้างต้นเปลี่ยนแปลง…
จำเลยอุทธรณ์ข้อ 3.1 ว่า เรื่องเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมิใช่เรื่องสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิใช่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 เท่านั้น เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจศาลว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ซึ่งจำเลยจะต้องยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทเพื่อศาลแรงงานกลางจะได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาคดี และคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางนั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นที่สุด เมื่อจำเลยมิได้ยกปัญหาเรื่องศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ในคำให้การ แสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะวินิจฉัยเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ จำเลยเพิ่งจะยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ซึ่งล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ข้อ 3.2 ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ข้อ 3 เพื่อให้นำเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบของจำเลยมารวมเข้ากับเงินสมทบของโจทก์ตามฟ้องเดิมเป็นการขอแก้ไขคำฟ้องภายหลังการชี้สองสถานและสืบพยานจำเลยแล้วจึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติถึงวิธีการหรือหลักเกณฑ์ในการขอแก้ไขคำฟ้องไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 บัญญัติว่า “การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้วให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย” ในคดีแรงงานถือได้ว่าไม่มีการชี้สองสถานเพราะการกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยานเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้น โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เว้นแต่มีเหตุยกเว้นตามบทบัญญัติข้างต้น ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 ว่า ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ว่า จำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินเพิ่มและดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด และจำเลยได้สืบพยานปากนางสาวบุญเรือนในวันที่ 26 มิถุนายน 2546 และวันที่ 17 กรกฎาคม 2546 โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2546 ขอแก้ไขคำฟ้อง ให้เหตุผลว่าจากคำเบิกความของนางสาวบุญเรือน โจทก์จึงเพิ่งทราบว่า บริษัทผู้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้สั่งจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างเป็นเช็คให้จำเลยไว้แล้ว โจทก์จึงขอแก้ไขคำฟ้องซึ่งเดิมได้ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเฉพาะของฝ่ายลูกจ้างเป็นขอให้จำเลยจ่ายของฝ่ายนายจ้างให้ด้วย ดังนี้ การขอแก้ไขคำฟ้องเป็นการขอในระหว่างจำเลยสืบพยานปากแรก เพราะในขณะยื่นคำฟ้องโจทก์ไม่ทราบถึงสิทธิที่โจทก์จะพึงได้รับจากเงินสมทบส่วนของนายจ้าง การขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวมิได้กระทบถึงประเด็นข้อพิพาทที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดไว้แล้วแต่อย่างใด ทั้งปัญหาเรื่องการจ่ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องดังกล่าวได้จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แล้ว อุทธรณ์จำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น…
จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.2 ว่า หากศาลฎีกาจะพิจารณาพิพากษาให้จำเลยรับผิดเรื่องเบี้ยปรับหรือดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 โจทก์ก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ และโจทก์อุทธรณ์ประการแรกตามข้อ 2.1 ว่า จำเลยต้องจ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือจ่ายเงินประกัน ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย หรือค่าชดเชยพิเศษโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน นอกเหนือจากที่ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดที่กำหนดให้ต้องเสียร้อยละสิบห้าต่อปีอีกด้วย เมื่อค่าจ้างและค่าชดเชยที่จำเลยไม่ได้จ่ายแก่โจทก์ยังมีข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าจำเลยต้องจ่ายให้โจทก์หรือไม่และจะนำไปหักกลบลบหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ได้หรือไม่ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวันแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 3.9 ว่า ข้อความตามหนังสือรับสภาพหนี้มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ และอุทธรณ์ข้อ 3.10.2 ว่า จำเลยมีสิทธินำเงินดอกเบี้ยของต้นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์มาหักกับหนี้ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระแก่จำเลยได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อความตามหนังสือรับสภาพหนี้จะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำวินิจฉัยดังกล่าวมาในประเด็นก่อนหน้านี้ได้ ส่วนการจะนำเงินดอกเบี้ยของต้นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หักกับหนี้ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินคืนแก่จำเลยได้หรือไม่นั้น ก็ปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่าโจทก์ต้องชำระเงินคืนแก่จำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดังนั้น การจะนำดอกเบี้ยของต้นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาหักกับเงินที่โจทก์ต้องชำระคืนแก่จำเลยได้หรือไม่ ก็ไม่ทำให้จำเลยต้องเสียประโยชน์ไปเพราะยังคงได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินที่โจทก์ต้องชำระคืนแก่จำเลยอยู่แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อจำเลยไม่ต้องชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์แล้วจึงต้องนำเงินส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 12,000 บาท ที่ศาลแรงงานกลางให้หักกลบลบหนี้จากเงินที่โจทก์ต้องคืนให้จำเลย นำกลับมารวมกับจำนวนเงินที่โจทก์ต้องคืนให้จำเลยโดยไม่หักส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าออกด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินคืนแก่จำเลย 126,700 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share