คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ สาขาชะอำ จังหวัดเพชรบุรีได้รวมตัวกับธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ สาขาจังหวัดเพชรบุรีจัดตั้งชมรม เรียกว่าชมรมธนาคารมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการทำงานของธนาคารให้อยู่ในระเบียบแบบแผนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทุก ๆ ปี ชมรมธนาคารนี้จะจัดงานปีใหม่เลี้ยงพนักงานของธนาคารทุกสาขาในจังหวัดเพชรบุรี การสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมธนาคารก็ต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ก่อน ดังนี้การที่ จ. พนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีตำแหน่งผู้จัดการสาขาชะอำได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ของชมรมธนาคาร และงานดังกล่าวได้จัดขึ้นเพื่อให้พนักงานธนาคารซึ่งเป็นสมาชิกได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์แก่ธุรกิจของธนาคารฉะนั้นเมื่อ จ. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถยนต์ของโจทก์ทำให้ทรัพย์สินโจทก์เสียหาย ย่อมถือได้ว่า จ. ได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับ จ. ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของนายเจริญ สุพรรณพงศ์นายเจริญ ได้ขับรถยนต์เก๋งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยประมาทชนรถยนต์บรรทุกของโจทก์ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 315,356 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 315,356 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์บรรทุกของโจทก์เพียงผู้เดียว ในขณะเกิดเหตุนายเจริญอยู่นอกเวลางานและนอกทางการที่จ้างของ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกิดความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 และปฏิเสธว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ใช่ทายาทผู้รับมรดกของนายเจริญ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกบริษัทประกันภัย ศรีเมือง จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การปฏิเสธทำนองเดียวกับจำเลยอื่น และให้การว่าจำเลยร่วมใช้เงินให้แก่บริษัทรับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์แล้วเป็นเงิน 25,000 บาท ได้มีการตกลงประนีประนอมยอมความไปแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยร่วม ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์จำเลยร่วมรับผิดเพียง 250,000 บาท เมื่อได้ชดใช้ค่าเสียหายไปแล้ว 25,000 บาทจำเลยร่วมยังคงต้องรับผิดอีกไม่เกิน 225,000 บาท กับฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้รับมรดกของนายเจริญ สุพรรณพงศ์ และจำเลยร่วม ร่วมกันชดใช้เงิน 244,156 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกของนายเจริญ สุพรรณพงศ์ ที่ได้รับสำหรับจำเลยร่วมให้รับผิดไม่เกิน 222,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้รับมรดกของนายเจริญ สุพรรณพงศ์ และจำเลยร่วมร่วมกันชดใช้เงิน 244,156 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกของนายเจริญ สุพรรณพงศ์ ที่ได้รับสำหรับจำเลยร่วมให้รับผิดไม่เกิน 222,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐาะผู้รับมรดกของนายเจริญ สุพรรณพงศ์ และจำเลยร่วม ร่วมกันชดใช้เงิน 189,156 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยร่วมรับผิดไม่เกิน161,156 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยร่วมนำสืบและจำเลยร่วมมิได้โต้เถียงในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2525 นายเจริญ สุพรรณพงศ์ผู้จัดการธนาคารศรีนคร จำกัด จำเลยที่ 1 สาขาชะอำ จังหวัดเพชรบุรีและเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน4 ง-1394 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1 จากตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรี มุ่งหน้าไปทางอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อถึงตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี นายเจริญขับรถคันดังกล่าวด้วยความประมาทแซงรถยนต์บรรทุกคันอื่นล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-1201 ชุมพร หรือชพ. 03489 ของโจทก์ซึ่งมีนายนิคม แสงทั่ง ลูกจ้างโจทก์เป็นผู้ขับแล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกัน สินค้าที่บรรทุกมาในรถยนต์บรรทุกของโจทก์ได้รับความเสียหาย และนายเจริญถึงแก่ความตายปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมข้อแรกมีว่านายเจริญได้ขับรถยนต์เก๋งคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์มีนายยุทธ อังกินันท์ เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า ในปี พ.ศ. 2523 ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบุรี ได้รวมตัวก่อตั้งขึ้นเป็นชมรมกันเรียกวาชมรมธนาคาร มีวัตถุประสงค์ควบคุมการทำงานของธนาคารให้อยู่ในระเบียบแบบแผนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทุก ๆ ปีชมรมธนาคารจะจัดงานขึ้นปีใหม่เลี้ยงพนักงานธนาคารทุกสาขาในจังหวัดเพชรบุรี การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของชมรมธนาคาต้องได้รับอนุมัติจากสำนังานใหญ่ก่อนเห็นว่า พยานเคยเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด และธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาเพชรบุรี ทั้งเคยได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นประธานชมรมธนาคารดังกล่าว ขณะเกิดเหตุพยานดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี และไม่มีส่วนได้เสียในคดีคำเบิกความของพยานจึงมีน้ำหนักรับฟังได้จำเลยร่วมก็ไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่าการเข้าเป็นสมาชิกของชมรมธนาคารในจังหวัดเพชรบุรี ไม่ต้องขออนุมัติจากสำนักงานใหญ่ อีกทั้งงานเลี้ยงสังสรรค์ของชมรมธนาคารที่ได้จัดขึ้นดังกล่าว ก็เพื่อให้พนักงานธนาคารซึ่งเป็นสมาชิกได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์แก่ธุรกิจของธนาคาร ฉะนั้นที่นายเจริญผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาชะอำซึ่งเป็นสมาชิกของชมรมธนาคาร ขับรถยนต์เก๋งของจำเลยที่ 1 กลับจากงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ของชมรมธนาคารโดยประมาทชนรถยนต์บรรทุกของโจทก์ ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายย่อมถือได้ว่านายเจริญได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จะฟังว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของนายเจริญนั้นหาชอบไม่ จำเลยที่ 1 ในฐาะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับนายเจริญชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด ในเรื่องค่าเสียหายเกี่ยวกับส้มเขียวหวานที่บรรทุกมาในรถยนต์บรรทุกของ โจทก์ นายแสงชัยรุ่งแสงสุขสกุล ผู้ขายส้มเขียวหวานให้โจทก์เบิกความเป็นพยาน โจทก์ว่าก่อนเกิดเหตุโจทก์นำรถยนต์บรรทุกมาบรรทุกส้มเขียวหวานที่ซื้อจากพยานจำนวน 7,196 กิโลกรัม ราคา 79,156 บาท และโจทก์มีใบเสร็จรับเงินค่าส้มเขียวหวานดังกล่าวมาแสดงเป็นหลักฐาน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 โดยนายแสงชัย ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินนอกจากนี้ยังได้ความจากพันตำรวจโทธำรงชัย ธนังกูลสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการตำรวจทางหลวง 2 ประจำสถานีตำรวจทางหลางเพชรบุรี พยานโจทก์ซึ่งออกไปตรวจดูสถานที่เกิดเหตุว่าพบเส้นหล่นในบริเวณที่เกิดเหตุจำนวนมาก ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าส้มเขียวหวานของโจทก์จำนวน 7,196 กิโลกรัม ราคา79,156 บาท ได้รับความเสียหายทั้งหมดจากเหตุครั้งนี้ สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เช่ารถยนต์ของบุคคลอื่นนั้น เห็นว่า โจทก์มีอาชีพขายส้มเขียวหวานโดยใช้รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกไปขายในปัจจุบันปรากฏว่าฤดูกาลผลไม้มีอยู่เกือบตลอดปี เดือนหนึ่งโจทก์ใช้รถบรรทุกของ 4-5 เที่ยว บางเดือนก็ใช้รถบรรทุกของถึง10 เที่ยว เมื่อรถยนต์บรรทุกของโจทก์ถูกชนเสียหาย เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์บรรทุกของโจทก์ไว้เป็นเวลา 11 เดือน โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายไม่สามารถนำรถไปใช้งานตามปกติได้ โจทก์จึงมีความจำเป็นต้องเช่ารถยนต์ของบุคคลอื่นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 10,000 บาท รวม 11 เดือนเป็นเงิน 110,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ส่วนที่จำเลยร่วมฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ใช้รถไม่ได้เพราะถูกชนเสียหาย เป็นเหตุให้ต้องเช่ารถอื่นมาแทนแต่โจทก์กลับนำสืบว่า โจทก์ใช้รถไม่ได้เพราะเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นต้องห้ามตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ในคำฟ้องของโจทก์ตอนท้ายกล่าวเพียงว่า ภายหลังที่รถยนต์ของโจทก์ถูกชนแล้วทำให้รถยนต์ของโจทก์ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เท่านั้น มิได้อ้างเหตุเพราะถูกชนเสียหายดังที่จำเลยร่วมยกขึ้นฎีกาแต่อย่างใดฉะนั้นที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ใช้รถไม่ได้เพราะเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้ จึงไม่เป็นการนำสืบนอกประเด็นอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยร่วมทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share