แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญานำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุมาร่วมรับส่งคนโดยสารกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้หาพนักงานประจำรถมาทั้งหมด รวมทั้งการจ่ายเงินเดือนและการเลิกจ้างด้วย จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการขนส่ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ ขณะเกิดเหตุยังใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ติดอยู่ข้างรถยนต์คันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 2 จะให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อรถยนต์คันนั้น แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังคงเป็นเจ้าของและเป็นผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 1ด้วย ดังนี้จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในความประมาทเลินเล่อที่คนขับรถคันดังกล่าวได้ก่อขึ้น รถยนต์บรรทุกซุงของจำเลยที่ 5 เลี้ยวขวาจะเข้าอำเภอเมือง สิงห์บุรี รถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 แล่นมาทางตรง ชนตรงกลางท่อนซุงจนสาลี่และซุงล้มตะแคง หน้ารถยนต์ของจำเลยที่ 2 เสียหายยับเยินยุบไปถึงที่นั่งคนโดยสารทำให้คนโดยสารตาย 3 คน ขณะรถยนต์บรรทุกซุงเลี้ยวมีเด็กท้ายรถลงมายืนให้สัญญาณเพื่อให้รถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ชะลอรถ แต่รถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2ไม่ชะลอ แสดงว่าขับด้วยความเร็วสูงไม่ชะลอรถเมื่อถึงทางแยกและไม่ระมัดระวังความปลอดภัยข้างหน้า ดังนี้ฟังได้ว่าคนขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 นางดอกไม้ คงประยูร นางมาลัย ทองลิ้มและเด็กหญิงวิภาวดี ทองลิ้ม ได้โดยสารรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 โดยมีนายชาญ สกุลรัตน์ เป็นผู้ขับ ขณะที่แล่นมาถึงบริเวณสี่แยกบางสำราญ ซึ่งตัดกับถนนทางหลวงสายเอเชียแยกไปจังหวัดสิงห์บุรีและหัวไผ่ นายชาญก็มิได้ชะลอความเร็วของรถ แต่กลับขับรถด้วยความเร็วสูง จนเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์บรรทุกซุงของจำเลยที่ 4 ซึ่งมีนายปทุม เป็นผู้ขับ โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสาหัส นางดอกไม้ นางมาลัย และเด็กหญิงวิภาวดีถึงแก่ความตาย ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นเงิน 559,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ในการรับส่งคนโดยสาร เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถยนต์บรรทุกซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารแต่จำเลยที่ 3 เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวไปจากจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้ครอบครองรถยนต์โดยสาร เหตุรถชนกันในครั้งนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของคนขับรถของจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 หรือลูกจ้างของจำเลยที่ 4ไม่ได้กระทำละเมิดโจทก์ ความเสียหายเกิดขึ้นจากความประมาทของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 5 ให้การว่า เหตุที่รถยนต์ชนกันในคดีนี้เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-0974 อุทัยธานี 68 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูงแล้วเลี้ยวขวาตัดหน้ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน10-1122 นครสวรรค์ 67 ในระยะกระชั้นชิด โจทก์จึงชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 308,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 154,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า “…จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้ให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุและส่งมอบไปก่อนเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ อันเป็นผลให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายด้วยนั้น ข้อนี้ได้ความจากนายศิริชัย มูลจินดา หัวหน้างานทำสัญญาร่วมของจำเลยที่ 1พยานจำเลยเบิกความประกอบสำเนาสัญญารถร่วมเอกสารหมาย ล.12 ว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญานำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุมาร่วมรับส่งคนโดยสารกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะขายรถยนต์โดยสารให้บุคคลอื่นแล้วหรือไม่ ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ พนักงานประจำรถ จำเลยที่ 2 เป็นคนหามาทั้งหมด รวมทั้งการจ่ายเงินเดือนและไล่ออกด้วยนอกจากนี้ปรากฏตามสำเนาหนังสือแสดงการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.5 ว่าผู้ประกอบการขนส่งคือบริษัทขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 1 ผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์คือบริษัทยานยนต์นครสวรรค์ จำกัด จำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุใช้ชื่อบริษัทของจำเลยที่ 1 ติดข้างรถคันเกิดเหตุ ปรากฏตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.25 จากพฤติการณ์ดังกล่าวแม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อไปจริง จำเลยที่ 2 ก็ยังคงเป็นเจ้าของและเป็นผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า คนขับรถยนต์โดยสารมิได้ประมาทด้วยนั้น ร้อยตำรวจตรีจักรกฤษณ์ วีระเดช พนักงานสอบสวนออกไปตรวจที่เกิดเหตุได้ความว่ารถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 วิ่งจากกรุงเทพมหานครจะไปจังหวัดนครสวรรค์ตามถนนสายเอเชีย มีรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 4 วิ่งมาจากจังหวัดนครสวรรค์เลี้ยวขวาจะเข้าอำเภอเมืองสิงห์บุรีก็ถูกรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ชนตรงกลางท่อนซุงซึ่งบรรทุกอยู่ระหว่างสาลี่กับตัวรถยนต์ สาลี่และท่อนซุงล้มตะแคงตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.26 ส่วนตัวรถยนต์บรรทุกเลี้ยวเข้าไปทางจังหวัดสิงห์บุรีแล้วหน้ารถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 เสียหายยับเยินยุบไปถึงที่นั่งคนโดยสาร ทำให้คนโดยสารตาย 3 คน นายชาญคนขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 บาดเจ็บสาหัส ร้อยตำรวจตรีจักรกฤษณ์มีความเห็นว่า เป็นความประมาทของคนขับรถทั้งสองคัน คนขับรถยนต์บรรทุกซุงหลบหนี ส่วนนายชาญคนขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ถูกฟ้อง ศาลพิพากษาลงโทษแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าตัวรถยนต์บรรทุกซุงได้เลี้ยวขวาเข้าไปทางจังหวัดสิงห์บุรีแล้วรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ชนตรงกลางท่อนซุงจนสาลี่และซุงล้มตะแคงหน้ารถยนต์ของจำเลยที่ 2 พังยับเยินยุบไปถึงที่นั่งคนโดยสารโดยร้อยตำรวจตรีจักรกฤษณ์เบิกความว่าไม่มีรอยเบรกของรถทั้งสองคันขณะรถยนต์บรรทุกซุงเลี้ยวมีเด็กท้ายรถลงมายืนให้สัญญาณเพื่อให้รถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ชะลอรถ แต่รถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2ไม่ชะลอ แสดงว่าขับด้วยความเร็วสูง ไม่ชะลอรถเมื่อถึงทางแยกและไม่ระมัดระวังความปลอดภัยข้างหน้า จึงฟังได้ว่า นายชาญ คนขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิด…”
พิพากษายืน.