คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมให้โจทก์ได้รับสิทธิอาศัยและสิทธิเก็บกินในห้องแถวและผู้จัดการมรดกได้มอบสิทธินั้นให้โจทก์แล้ว ผู้จัดการย่อมไม่มีสิทธิทำสัญญา ให้คนอื่นเช่าห้องแถวนั้นได้ ถ้าหากผู้จัดการมรดกทำสัญญาให้เช่าไปโจทก์ย่อมฟ้องขับไล่ผู้เช่าได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่า ผู้เช่าจะทำโดยสุจริตหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้รับสิทธิอาศัยและสิทธิเก็บกินในห้องแถวตามพินัยกรรมของบิดา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้มอบสิทธินี้ให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าห้องแถวรายนี้ และสัญญาเช่าสิ้นอายุแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงให้จำเลยที่ 2 เช่าต่อไปอีก5 ปีโดยไม่มีสิทธิที่จะให้เช่าได้ จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาเช่าระหว่างจำเลยทั้ง 2 ไม่มีผลตามกฎหมาย ให้ขับไล่จำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยมีสิทธิจัดการห้องแถวนี้ได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะห้องแถวรายนี้ยังอยู่ในระหว่างจัดการมรดก ผู้จัดการมรดกผู้เดียวมีอำนาจ จำเลยได้ทำสัญญาเช่าโดยสุจริต และโจทก์ก็เคยไปเก็บค่าเช่าถือว่าโจทก์ให้สัตยาบัน

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ขับไล่จำเลย

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้รับสิทธิอาศัยและสิทธิเก็บกินในห้องแถวรายนี้ ในการนี้ต้องแยกสิทธิอาศัยและสิทธิเก็บกินออกต่างหากจากกรรมสิทธิ์ ในแง่กรรมสิทธิ์ห้องแถวรายนี้จะคงถือว่าอยู่ในระหว่างจัดการมรดหรือไม่ ไม่เป็นปัญหาสำหรับคดีนี้ แต่ในแง่สิทธิอาศัยและสิทธิเก็บกินแล้ว จะถือว่ายังอยู่ในระหว่างจัดการมรดกอันจำเลยอ้างเป็นเหตุว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจให้เช่าไม่ได้เพราะจำเลยได้มอบสิทธิทั้งสองนี้ให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มีสิทธิเก็บกิน โจทก์ย่อมมีอำนาจจัดการเองได้เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1417 ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีอำนาจจัดการทรัพย์สินนั้น นอกจากนั้นโจทก์ยังมีสิทธิอาศัยด้วย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1402 โจทก์มีสิทธิจะเข้าอยู่ในห้องแถวรายนี้ได้เมื่อบวกสิทธิทั้งสองเข้าด้วยกันแล้วเห็นได้ชัดว่า อำนาจที่จะให้ใครเช่าอยู่แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 หามีอำนาจทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 2 ไม่ ประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2 ได้เช่าโดยสุจริตไม่ขึ้นมาสู่ศาลนี้จึงไม่วินิจฉัย พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share