แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี โดยมิได้แก้บทมาตราเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก จำเลยฎีกาว่า จ่าสิบตำรวจ ว. ผู้ร่วมจับกุมจำเลยไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองเคตามีน การแก้ไขบันทึกการจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้กระทำขึ้นเองโดยจำเลยไม่ได้รู้เห็นด้วย ทั้งบันทึกดังกล่าวมิได้ทำขึ้น ณ สถานที่จับกุมจึงรับฟังไม่ได้ และหากศาลฟังว่าจำเลยกระทำความผิด ขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6 (7 ทวิ), 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ริบคีตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ จำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี ริบของกลาง ยกฟ้องฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกจำเลย 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า จำเลยมีสิทธิยื่นฎีกาหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี โดยมิได้แก้บทมาตราด้วยเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ที่จำเลยฎีกาว่า จ่าสิบตำรวจวัชรพล ผู้ร่วมจับกุมจำเลยไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองคีตามีน การแก้ไขบันทึกการจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้กระทำขึ้นเองโดยจำเลยไม่ได้รู้เห็นด้วย ทั้งบันทึกดังกล่าวมิได้ทำขึ้น ณ สถานที่ที่จับกุมจึงรับฟังไม่ได้ และหากศาลฟังว่าจำเลยกระทำความผิด ขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย