คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3296/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีกองทุนฟื้นฟูหรือหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจแห่งใดแห่งหนึ่งหรือรวมกันเป็นผู้ถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วโอนสินทรัพย์ที่จัดเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2543 ทั้งหมดให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยภายในเวลาที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยกำหนด และวรรคหก บัญญัติว่า “สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ต้องโอนมาตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงสินทรัพย์ที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาลโดยศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาด้วย โดยให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เว้นแต่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจะยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่น…” แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นบทบังคับให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเมื่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในคดีที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาลโดยศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา แต่ก็มีข้อยกเว้นที่ให้สิทธิแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่จะยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่นตามมาตรา 30 วรรคหก ตอนท้าย และเมื่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยใช้สิทธิตามข้อยกเว้นดังกล่าว ศาลก็ไม่อาจใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้นอกจากจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามคำร้องขอของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย สำหรับคดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยก็ได้ใช้สิทธิตามข้อยกเว้นนี้ โดยการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามความประสงค์ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยแล้ว เช่นนี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปให้แล้วเสร็จ ศาลชั้นต้นไม่อาจย้อนกลับไปใช้อำนาจจำหน่ายคดีได้อีกเพราะอำนาจในการจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมหมดไปนับแต่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามข้อยกเว้นนี้แล้ว หากให้ศาลชั้นต้นย้อนกลับไปใช้อำนาจจำหน่ายคดีได้อีกย่อมมีผลเท่ากับเป็นการเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเองที่ได้ดำเนินไปโดยชอบตามคำร้องขอของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยก่อนหน้านี้อันเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามคำร้องของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟังไม่ขึ้น และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่า ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งสำเนาคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดีให้จำเลยที่ 3 เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 อีก เพราะไม่ว่าจะวินิจฉัยไปในทางใดก็ไม่อาจทำให้ผลแห่งคำพิพากษาคดีนี้เปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 231,114,912.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงิน 160,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ให้การต่อสู้คดี
ระหว่างพิจารณา บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทน ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นโจทก์แทนบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 และขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ศาลชั้นต้นอนุญาตและสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปจนเสร็จการพิจารณา และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 มีนาคม 2548 ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2545 จำเลยที่ 2 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต ก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดีจำเลยทั้งหมดออกจากสารบบความตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและยกคำร้องของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนเสร็จสิ้นกระแสความ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามคำร้องของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาสรุปว่า คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 มาตรา 30 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ผู้เข้าสวมสิทธิ ดังนั้น แม้ผู้เข้าสวมสิทธิจะเคยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ก็หาทำให้ผู้เข้าสวมสิทธิเสียสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีในภายหลังไม่ การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้น และยกคำร้องของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่ขอให้จำหน่ายคดีจึงไม่ชอบ เห็นว่า พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีกองทุนฟื้นฟูหรือหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจแห่งใดแห่งหนึ่งหรือรวมกันเป็นผู้ถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วโอนสินทรัพย์ที่จัดเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2543 ทั้งหมดให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยภายในเวลาที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยกำหนด และวรรคหก บัญญัติว่า”สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ต้องโอนมาตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงสินทรัพย์ที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาลโดยศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาด้วย โดยให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เว้นแต่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจะยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่น…” แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นบทบังคับให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเมื่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในคดีที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาลโดยศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา แต่ก็มีข้อยกเว้นที่ให้สิทธิแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่จะยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่นตามมาตรา 30 วรรคหก ตอนท้าย และเมื่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยใช้สิทธิตามข้อยกเว้นดังกล่าว ศาลก็ไม่อาจใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้นอกจากจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามคำร้องขอของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย สำหรับคดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยก็ได้ใช้สิทธิตามข้อยกเว้นนี้ โดยการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามความประสงค์ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยแล้ว เช่นนี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปให้แล้วเสร็จ ศาลชั้นต้นไม่อาจย้อนกลับไปใช้อำนาจจำหน่ายคดีได้อีกเพราะอำนาจในการจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมหมดไปนับแต่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามข้อยกเว้นนี้แล้ว หากให้ศาลชั้นต้นย้อนกลับไปใช้อำนาจจำหน่ายคดีได้อีกย่อมมีผลเท่ากับเป็นการเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเองที่ได้ดำเนินไปโดยชอบตามคำร้องขอของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยก่อนหน้านี้อันเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามคำร้องของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้น และยกคำร้องของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่ขอให้จำหน่ายคดี แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่า ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งสำเนาคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดีให้จำเลยที่ 3 เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 อีก เพราะไม่ว่าจะวินิจฉัยไปในทางใดก็ไม่อาจทำให้ผลแห่งคำพิพากษาคดีนี้เปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share