คำวินิจฉัยที่ 6/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าผู้ฟ้องคดีตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินมีโฉนดของบิดาผู้ฟ้องคดีพบว่า บิดาของผู้ฟ้องคดีได้นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้กับผู้มีชื่อ แล้วต่อมาได้ไถ่ถอนจำนองและขายให้แก่ผู้มีชื่อดังกล่าว ซึ่งการซื้อขายที่ดินพิพาท เป็นการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่พบเอกสารการซื้อขาย พบแต่รายงานกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ท.ด. ๑) ประเภทขายที่ไม่มีลายมือชื่อหรือการพิมพ์ลายนิ้วมือบิดาของผู้ฟ้องคดี มีเพียงการลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงานที่ดิน ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท แต่ผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งว่าการจดทะเบียนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุเพิกถอน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเพิกถอนหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุต้องเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องผู้ถูกฟ้องคดี โดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐในบังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายระหว่างบิดาผู้ฟ้องคดีกับผู้มีชื่อถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลให้กรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิในที่ดินพิพาทเปลี่ยนแปลงไประหว่างบิดาผู้ฟ้องคดีกับผู้มีชื่อ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน อันเป็นเรื่องสิทธิในทางแพ่งของบุคคล แล้วศาลจึงจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ต่อไป ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖/๒๕๕๙

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดมีนบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ นางสาวลินดา กูยีหมัด ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๕๘/๒๕๕๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรของ นายเซ็น กูยีหมัด โดยนายเซ็นเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๗๐ ตำบลคู้ฝั่งเหนือ (บ้านคู้ฝั่งเหนือ) อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวกับสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองจอก พบว่า เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๙๒ บิดาของผู้ฟ้องคดีได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๗๐ ไปจำนองไว้กับนางมะ โพธิ์โซะ ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๙๓ บิดาของผู้ฟ้องคดีได้ไถ่ถอนจำนองและในวันเดียวกันได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางมะ ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การซื้อขายที่ดินระหว่างบิดาของผู้ฟ้องคดีกับนางมะเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๙๓ เป็นการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตรวจสอบแล้วไม่พบเอกสารการซื้อขาย พบแต่รายงานกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ท.ด. ๑) ประเภทขาย ซึ่งไม่มีลายมือชื่อหรือการพิมพ์ลายนิ้วมือบิดาของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด มีเพียงการลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงานที่ดิน โดยผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๗๐ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งว่าการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีเหตุเพิกถอนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเพิกถอนหนังสือกรมที่ดินที่แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุต้องเพิกถอนรายการจดทะเบียนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าการจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๗๐ โดยเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ตรวจสอบเจ้าของที่ดินที่แท้จริง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่าการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีเหตุต้องเพิกถอนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว จึงฟ้องขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทหรือไม่ นั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี และไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมโดยเฉพาะที่จะนำประมวลกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดมีนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานทางปกครองว่า การจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๗๐ ระหว่างนายเซ็น บิดาผู้ฟ้องคดีกับนางมะ และนายมาน โพธิ์โซะ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๙๓ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นทายาท โดยธรรมของนายเซ็น และอยู่ในที่ดินพิพาทด้วยการปลูกสร้างบ้านเลขที่ ๒๕ มาตั้งแต่เจ้ามรดกมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ตามคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่า นายเซ็นได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๗๐ ให้แก่นางมะและนายมานไปเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๙๓ เมื่อนางมะและนายมานถึงแก่กรรมก็ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้แก่ทายาท จากนั้นมีการแบ่งแยกและรวมโฉนดที่ดิน ปัจจุบันนายสมหมาย หนูมา เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ผู้ฟ้องคดีอ้างเพียงว่า ไม่มีหลักฐานการซื้อขายที่ดินระหว่างนายเซ็นกับนางมะและนายมานเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๙๓ ส่วนหลักฐานอื่นนอกจากโฉนดที่ดินแล้วก็มีเพียงรายงานกรรมสิทธิ์ที่ดินประเภทขาย (ท.ด. ๑) ฉบับลงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๙๓ แต่หลักฐานดังกล่าว ก็บันทึกการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ไว้เท่านั้น ไม่มีลายนิ้วมือหรือลายเซ็นชื่อของผู้ซื้อและผู้ขาย เห็นว่า เนื่องจากโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๗๐ มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างนายเซ็น กับนางมะ นายมาน และบุคคลอื่นๆ อีกหลายรายการในลำดับต่อ ๆ มา การจะเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมในที่ดินดังกล่าวได้จะต้องพิสูจน์ก่อนว่า ผู้มีสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นผู้ฟ้องคดี หรือบุคคลผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินในลำดับต่าง ๆ ตั้งแต่ผู้ซื้อที่ดินมาจากบิดาของผู้ฟ้องคดีจนถึงผู้ถือกรรมสิทธิ์คนปัจจุบัน ซึ่งมาตรา ๑๓๗๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ตามกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินหรือสารบัญการจดทะเบียนคือ ผู้ที่มีสิทธิในที่ดินนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีอ้างว่าถูกโต้แย้งสิทธิ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีจะต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว กรณีจึงเป็นการโต้แย้งกันระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้มีชื่อในโฉนดหรือในทะเบียนที่ดิน ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนต่อเอกชน มิใช่ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรง หากผลเป็นยุติว่า ผู้ใดเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง การเปลี่ยนแปลงแก้ไขทางทะเบียนจึงจะเกิดขึ้นในขั้นตอนหลังจากนั้น ดังนี้ ข้อโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรของนายเซ็น กูยีหมัด เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๗๐ เมื่อผู้ฟ้องคดีตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวพบว่า เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๙๒ บิดาของผู้ฟ้องคดีได้นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้กับนางมะ โพธิ์โซะ ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๙๓ บิดาของผู้ฟ้องคดีไถ่ถอนจำนองและขายให้แก่นางมะ ซึ่งการซื้อขายที่ดินระหว่างบิดาของผู้ฟ้องคดีกับนางมะ เป็นการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่พบเอกสารการซื้อขาย พบแต่รายงานกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ท.ด. ๑) ประเภทขายที่ไม่มีลายมือชื่อหรือการพิมพ์ลายนิ้วมือบิดาของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด มีเพียงการลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงานที่ดินผู้ฟ้องคดีมีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท แต่ผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งว่าการจดทะเบียนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีเหตุเพิกถอนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเพิกถอนหนังสือกรมที่ดินที่แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุต้องเพิกถอนรายการจดทะเบียนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีโดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐในบังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า การจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายระหว่างบิดาผู้ฟ้องคดีกับนางมะถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลให้กรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิในที่ดินพิพาทเปลี่ยนแปลงไประหว่างบิดาผู้ฟ้องคดีกับนางมะ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน อันเป็นเรื่องสิทธิในทางแพ่งของบุคคล แล้วศาลจึงจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ต่อไป ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาวลินดา กูยีหมัด ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share