คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3049/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยกับพวกได้หลอกลวงผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศโดยเรียกเงินค่าดำเนินการหรือค่าใช้จ่ายในการสมัคร และจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานให้คนหางานไปทำงานต่างประเทศดังนี้การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการประกอบธุรกิจหางานให้แก่คนงานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง อันเป็นการจัดหางานตามความหมายของ พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 4 แล้ว เมื่อจำเลยได้กระทำการดังกล่าวโดยรู้สำนึกในการกระทำ และขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นจึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดในฐานนี้อีกกระทงหนึ่ง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,341, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30, 82 และสั่งให้จำเลยคืนเงินจำนวน 247,900 บาท แก่ผู้เสียหายคืนหนังสือเดินทางและภาพถ่ายผู้สมัครแก่เจ้าของริบของกลางอื่นทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 341, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันจัดตั้งสำนักงานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนฐานร่วมกันจัดตั้งสำนักงานจัดหางานให้คนงานเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี เรียงกระทงลงโทษ รวมจำคุก 5 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 239,900 บาท แก่ผู้เสียหาย คืนหนังสือเดินทางและภาพถ่ายผู้สมัครแก่เจ้าของ ริบของกลางอื่นทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ยกฟ้องข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้ร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่… ดังนี้เห็นว่า โจทก์มีพยานบุคคลและพยานเอกสารมายืนยันว่า จำเลยกับพวกได้รับรองจะให้ผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศ โดยเรียกเงินค่าดำเนินการหรือค่าใช้จ่ายในการสมัคร บางครั้งจำเลยเป็นผู้รับเงินบางครั้งนางโสภีเป็นผู้รับเงินแล้วส่งให้จำเลย ได้ทำสัญญารับเงินมัดจำไว้ จำเลยเคยพาผู้เสียหายไปตรวจโรคและให้ผู้เสียหายทดสอบการทำงานจำเลยพูดรับรองกับผู้เสียหายว่าสามารถส่งไปทำงานที่ประเทศบรูไนได้ ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานให้คนหางานไปทำงานต่างประเทศ ที่จำเลยนำสืบว่าให้นางสาวโสภีเช่าบ้านและไม่ทราบว่านางสาวโสภีไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานจัดหางานไปทำงานต่างประเทศนั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนด้วย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 นั้นข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยกับพวกได้หลอกลวงผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศโดยเรียกเงินค่าดำเนินการหรือค่าใช้จ่ายในการสมัครและจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานให้คนหางานไปทำงานต่างประเทศ ดังนี้ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการประกอบธุรกิจหางานให้แก่คนงานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างอันเป็นการจัดหางานตามความหมายของพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4 แล้ว เมื่อจำเลยได้กระทำการดังกล่าวโดยรู้สำนึกในการกระทำ และขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดในฐานนี้อีกกระทงหนึ่ง ทั้งตามคำฟ้องคดีนี้โจทก์ก็ได้บรรยายแยกการกระทำของจำเลยเป็นสองตอน และไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่พวกผู้เสียหายอันจะถือว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องไม่เป็นความผิดในฐานนี้ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share