แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีอาญาที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส ถึงที่สุด โดยศาลพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยจะเป็นผู้ขับรถคันเกิดเหตุหรือไม่ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยศาลในคดีแพ่งที่โจทก์ ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยจึงจำต้องวินิจฉัยให้ได้ความชัดว่าจำเลยเป็นผู้ขับรถคันเกิดเหตุและเป็นผู้ก่อเหตุ ละเมิดหรือไม่ เนื่องจากคำพิพากษาคดีส่วนอาญามิได้ชี้ขาด ว่าจำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์โดยประมาทหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน บ-0465 นครสวรรค์ ของจำเลยที่ 2 ในหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2 ในตามถนนสายลาดยาว-เขาชนกัน จากหมู่บ้านศาลเจ้าไก่ต่อมุ่งหน้าไปตลาดลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เมื่อถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 ขับรถแซงรถยนต์รถกระบะหมายเลขทะเบียน บ-2709 นครสวรรค์ ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งมีผู้โดยสารบนรถประมาณ 25 คน โดยไม่ให้สัญญาณขณะแซงยังไม่พ้นจำเลยที่ 2 หักรถหลบเข้ามาในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 1 อย่างกะทันหัน ทำให้ด้านซ้ายรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ กระแทกด้านขวารถยนต์ของโจทก์ที่ 1อย่างแรง เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เสียหลักตกลงจากไหล่ถนนและพลิกคว่ำ นายเกื้อ บัวพัน ผู้ขับรถยนต์กระบะนางบรรจงบัวพัน ซึ่งเป็นภริยาของโจทก์ที่ 1 เป็นมารดาของโจทก์ที่ 2และเป็นบุตรของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 นายวุฒิ พ่วงไทยบิดาชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 7ได้รับบาดเจ็บสาหัส โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายเป็นค่าซ่อมรถและรถเสื่อมราคารวมเป็นเงิน 62,364 บาท ค่าปลงศพนายเกื้อและนางบรรจงเป็นเงิน 24,000 บาท ค่าขาดอุปการะจากนางบรรจงเป็นเงิน 54,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะจากนายเกื้อเป็นเงิน 60,000 บาท รวม 200,364 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดไร้อุปการะจากนางบรรจงเป็นเงิน 60,000 บาท โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดไร้อุปการะจากนางบรรจงเป็นเงิน 60,000 บาท โจทก์ที่ 5 และที่ 6 ได้รับความเสียหายเป็นค่าปลงศพนายวุฒิเป็นเงิน 6,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 72,000 บาท รวม 78,000 บาท โจทก์ที่ 7 เสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 7,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ในการทำมาหาได้ระหว่างรักษาพยาบาลเป็นเงิน 9,000 บาท ค่าเสียโฉมหน้าอย่างติดตัวเป็นเงิน 10,000 บาท รวม 26,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 424,364 บาท คิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเป็นเงิน 21,218 บาท โดยจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ครอบครองขับหรือใช้รถยนต์ของจำเลยที่ 2 ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่สั่งหรือมอบหมาย และจำเลยที่ 1 กระทำตามคำสั่งที่รับมอบหมายนั้น ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 445,582 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า การที่รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 พลิกคว่ำเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 1 และนายเกื้อบุตรโจทก์ที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 439,242 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ทั้งเจ็ด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ด ซึ่งโจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 200,364 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาไม่ให้โจทก์ที่ 1 ได้ ค่าปลงศพ 6,340 บาท คงเหลือค่าสินไหมทดแทน194,024 บาท เมื่อรวมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินนี้ตั้งแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 8 เดือนเป็นเงินดอกเบี้ย 9,701.20 บาท รวมค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน203,725.20 บาท คดีระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสองมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาท จำเลยทั้งสองจึงฎีกาข้อเท็จจริงในส่วนของโจทก์ที่ 1 ได้ สำหรับโจทก์ที่ 2ถึงที่ 7 นั้น จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินรายละสองแสนบาท จำเลยทั้งสองฎีกาข้อเท็จจริงสำหรับโจทก์ที่ 2ถึงที่ 7 ไม่ได้ การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนระหว่างโจทก์ที่ 1กับจำเลยทั้งสองนั้น โจทก์ที่ 1 กับพวกได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยในคดีอาญากล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส คดีส่วนอาญาถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อน่าสงสัยว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ขับรถคันเกิดเหตุหรือไม่ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีในส่วนแพ่งศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่เนื่องจากคำพิพากษาคดีส่วนอาญามิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุโดยประมาทหรือไม่ คดีนี้จึงจำต้องวินิจฉัยให้ได้ความชัดว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุและเป็นผู้ก่อเหตุละเมิดหรือไม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 และยกฟ้องของโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2