แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อรถยนต์กระบะจากโจทก์ 1 คัน สัญญาดังกล่าวข้อ 3 ระบุว่า “กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะตกไปอยู่แก่ผู้ซื้อชำระราคาตามเงื่อนไขครบถ้วน” และ ข้อ 6 ระบุว่า “ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดนัดขาดการชำระเงินงวดใด จำนวนใดตามที่มีหน้าที่ต้องชำระโดยสัญญาฉบับนี้ และหรือสัญญาฉบับอื่นใดที่ผู้ซื้อได้ทำไว้แก่ผู้ขาย ก็ดี…ก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลืออยู่ในขณะนั้นเสียโดยครบถ้วนโดยพลัน ก็ได้…” ซึ่งสาระสำคัญของข้อความแตกต่างกับข้อความในบทบัญญัติเรื่องเช่าซื้อ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อ เมื่อปรากฏว่ารถยนต์ที่ซื้อขายได้สูญหายไปเพราะถูกคนร้ายลัก แม้จะไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 5 โดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วย ส. พยานโจทก์เบิกความตอบ คำถามค้านว่า รถยนต์คันพิพาทราคาเงินสดจำนวนเท่าใดจำไม่ได้และจำเลยที่ 1 เบิกความยืนยันว่าก่อนทำสัญญาซื้อขายโจทก์ตกลงว่า ถ้า ซื้อรถยนต์ด้วยราคาเงินสดจะเป็นจำนวน 163,000 บาท และเมื่อสัญญาซื้อขายก็ไม่ได้ระบุว่า หากรถยนต์สูญหายจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ราคารถยนต์จำนวนเท่าใด ราคารถยนต์ ในสัญญาที่ระบุจำนวน 199,000 บาท ไม่ใช่ราคารถยนต์ที่แท้จริง ต้องถือราคารถยนต์จำนวน 163,000 บาท เป็นราคาที่นำมาเป็น ฐานที่ตั้งของการคำนวณค่าเสียหาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ซื้อรถยนต์จากโจทก์ไป 1 คัน ราคา199,900 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 40,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระ 30 เดือนเดือนละ 5,330 บาท จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระเงินได้งวดเดียวก็ผิดนัด ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่ารถยนต์ได้สูญหายไป จำเลยที่ 1ต้องรับผิดที่รถยนต์สูญหายตามสัญญา และโจทก์ได้รับเงินจากบริษัทประกันภัยมาแล้ว 100,000 บาท ยังคงค้างอยู่อีก 54,570 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 341 บาท รวมเป็นเงิน 54,911 บาทขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์เป็นสัญญาเช่าซื้อเพราะกรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะโอนไปยังผู้ซื้อก็ต่อเมื่อได้ชำระเงินครบถ้วนแล้วรถยนต์ที่สูญหายไปเพราะเหตุสุดวิสัยจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดด้วยแต่ถ้าต้องรับผิดก็ไม่เกิน 19,450 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลบยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 17,670 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 54,570 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุไปจากโจทก์ 1 คัน ในราคา 199,900 บาท จำเลยที่ 2เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ชำระเงินในวันทำสัญญา 40,000 ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเดือนละ 1 งวด จำนวนเงิน 5,330 บาท รวม 30 งวดจำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่างวดให้โจทก์เพียงงวดเดียวรถยนต์ก็ถูกคนร้ายลักไป บริษัทประกันภัยได้ชดใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญาประกันภัยจำนวน 100,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์อีก 54,570 บาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย คดีมีปัญหาว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขหรือเป็นสัญญาเช่าซื้อ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่พิเคราะห์ข้อความในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 แล้ว ข้อ 3 ระบุว่า กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะตกไปอยู่แก่ผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อชำระราคาตามเงื่อนไขครบถ้วน ข้อ 6 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดนัดขาดการชำระเงินงวดใดจำนวนใดตามที่มีหน้าที่ต้องชำระโดยสัญญาฉบับนี้และหรือสัญญาฉบับอื่นใดที่ผู้ซื้อได้ทำไว้แก่ผู้ขายก็ดี…ก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลืออยู่ในขณะนั้นเสียโดยครบถ้วนโดยพลันก็ได้…ซึ่งแตกต่างกับข้อความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 574 ซึ่งบัญญัติว่า “อันวาาเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว…” และมาตรา 578บัญญัติว่า “ในการผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน…” สาระสำคัญของข้อความในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 แตกต่างกับสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขดังที่ระบุในสัญญานั้นเอง… เมื่อปรากฏว่ารถยนต์ที่ซื้อขายได้สูญหายไปเพราะถูกคนร้ายลัก แม้จะไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 5 โดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต่องร่วมรับผิดด้วย คดีมีปัญหาต่อไปว่าควรกำหนดราคารถยนต์คันพิพาทเพื่อคำนวณค่าเสียหายเพียงใด เห็นว่านายสุริยนต์ ลิปิการกุล พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านว่ารถยนต์คันพิพาทราคาเงินสดจำนวนเท่าใดจำไม่ได้ และจำเลยที่ 1เบิกความยืนยันว่า ก่อนทำสัญญาซื้อขาย โจทก์ตกลงว่า ถ้าซื้อรถยนต์ด้วยราคาเงินสดจะเป็นจำนวน 163,000 บาท และเมื่อพิเคราะห์สัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ก็ไม่ได้ระบุว่า ถ้าหากรถยนต์สูญหายจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ราคารถยนต์จำนวนเท่าใด เห็นว่า ราคารถยนต์ในสัญญาที่ระบุจำนวน 199,900 บาท ไม่ใช่ราคารถยนต์ที่แท้จริงต้องถือราคารถยนต์จำนวน 163,000 บาท เป็นราคาที่นำมาเป็นฐานที่ตั้งของการคำนวณค่าเสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1ได้ชำระราคารถยนต์บางส่วนในวันทำสัญญา จำนวน 40,000 บาท และได้ชำระราคาแล้ว 1 งวด จำนวน 5,330 บาท บริษัทประกันภัยชำระเงินให้โจทก์แล้วจำนวน 100,000 บาท จำเลยที่ 1 คงมีหน้าที่ต้องชำระราคารถยนต์ให้โจทก์อีกจำนวน 17,670 บาท ดังศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดราคารถยนต์จำนวน 199,900 บาทศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.