แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามฟ้องดีกว่าจำเลยหรือไม่ โจทก์ได้นำพยานหลักฐานมาสืบแสดงให้เห็นว่า อักษรโรมันคำว่า J.Lindeberg เป็นชื่อของนายโจฮันนักออกแบบเสื้อผ้าและผู้ก่อตั้งโจทก์ และได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่างๆ และมีพยานหลักฐานอื่นๆ มาสนับสนุน ขณะที่จำเลยอ้างว่า จำเลยคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าตามฟ้องขึ้นเอง แต่กลับเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกตัวอักษร หากจำเลยไม่เคยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน ก็ยากที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจะมีตัวอักษรโรมันตรงกันทุกประการ น่าเชื่อว่าจำเลยนำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าของตนอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทดีกว่าจำเลย
การจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 67 จะต้องมีการใช้เครื่องหมายการค้าในประเทศไทยด้วย แม้โจทก์จะส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหลังจากที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของโจทก์ในอันที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องนี้ดีกว่าจำเลย เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าที่แท้จริงมาก่อนจำเลย
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็เพื่อให้จำเลยสิ้นสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องของโจทก์ต่อไปตามคำขอของโจทก์นั่นเอง ถือเป็นการพิพากษาที่ถูกต้องและตรงตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้ตามคำฟ้องของโจทก์ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า J.LINDEBERG, ดีกว่าจำเลย ให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค 159115 (คำขอเลขที่ 465692) และทะเบียนเลขที่ ค 178157 (คำขอเลขที่ 493368) ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ 584113 ออกจากสารบบทะเบียนเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า J.LINDEBERG, กับสินค้าของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ 584113 ออกจากสารบบทะเบียนเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา และเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า J.LINDEBERG, กับสินค้าของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า J.LINDEBERG, ดีกว่าจำเลย ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค 159115, ค 178157 และ ค 227124 คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปชื่อร้าน เทมโปโป้ และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามฟ้องซึ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยแล้ว โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนการค้าตามฟ้องของโจทก์ในประเทศไทย แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธ เพราะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและขอให้รอการวินิจฉัยไว้ เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 584113 ของจำเลย ต่อมาได้รับการจดทะเบียนเป็นทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค 227124
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามฟ้องดีกว่าจำเลยหรือไม่โดยจำเลยยืนยันว่า จำเลยคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าตามฟ้องโดยไม่ได้ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เห็นว่า โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบแสดงให้เห็นว่า อักษรโรมันคำว่า J. Lindeberg เป็นชื่อของนายโจฮัน นักออกแบบเสื้อผ้าและผู้ก่อตั้งโจทก์ และได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่างๆ และมีพยานหลักฐานอื่นๆ มาสนับสนุน เช่น ตัวอย่างสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ ใบส่งของรวมทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในสื่อต่างๆ ทั้งอินเทอร์เน็ต วารสาร นิตยสาร แผ่นพับ หนังสือพิมพ์ และป้ายโฆษณาหน้าร้าน ในขณะที่จำเลยเบิกความอ้างว่า จำเลยคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าตามฟ้องขึ้นเอง โดยอักษรโรมันคำว่า J. LINDEBERG มาจากคำว่า จูหลินดีระเบิด ซึ่งเป็นการนำชื่อของจำเลยและน้องสาวซึ่งประกอบธุรกิจร่วมกันมารวมกับคำว่า ดีระเบิด จากนั้นได้ทำการคิดแปลเป็นคำภาษาอังกฤษเพื่อความเป็นสากล แต่จำเลยไม่ได้นำบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นผู้คิดค้นคำดังกล่าวให้แก่จำเลยมาเบิกความสนับสนุนด้วย พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อย เมื่อพิจารณาว่าอักษรโรมันคำดังกล่าวไม่ได้สอดคล้องกับที่มาตามที่จำเลยกล่าวอ้าง แต่กลับเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกตัวอักษร หากจำเลยไม่เคยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน ก็ยากที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจะมีตัวอักษรโรมันตรงกันทุกประการเช่นนี้ รวมทั้งรูปประดิษฐ์ของอักษร J และ L ประกอบกันและอักษรโรมัน OC ด้วย เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้า เคยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าชื่อร้านของจำเลยและรูปหญิงนั่งหันหลังชนกัน แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้เนื่องจากเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังดีกว่าจำเลย น่าเชื่อว่าจำเลยนำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าของตนอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทดีกว่าจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่จำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่า โจทก์ไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้าในประเทศไทยมาก่อนจำเลย การจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 นั้น จะต้องมีการใช้เครื่องหมายการค้าในประเทศไทยด้วย เห็นว่า แม้โจทก์จะส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหลังจากที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของโจทก์ในอันที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องนี้ดีกว่าจำเลย เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าที่แท้จริงมาก่อนจำเลยดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน
ส่วนปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาเกินคำขอ เนื่องจากโจทก์ขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น หาได้ขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ 584113 ออกจากสารบบทะเบียนเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา และเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนดังกล่าวต่อมาได้รับการจดทะเบียนเป็นทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ ค 227124 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็เพื่อให้จำเลยสิ้นสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องของโจทก์ต่อไปตามคำขอของโจทก์นั่นเอง ถือเป็นการพิพากษาให้ถูกต้องและตรงตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้ตามคำฟ้องของโจทก์ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค 227124 พร้อมกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนก่อนหน้าตามฟ้องมานั้นจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นๆ ของจำเลยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็น