แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระหว่างเป็นผู้เยาว์โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมในห้องพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ขายห้องพิพาทนี้โดยจำเลยที่ 2 มิได้แสดงกรรมสิทธิรวมแต่ประการใดโจทก์ก็ได้ลงนามรับรองในหนังสือซื้อขายนั้นด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องขับไล่บุคคลภายนอกออกจากห้องพิพาทจนได้คืนห้องพิพาทมาโจทก์มิได้คัดค้าน แสดงว่าโจทก์ได้จงใจและละเลยให้จำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นเจ้าของห้องพิพาทมาตั้งแต่ต้น กระทำให้จำเลยที่ 1 หลงผิดว่าห้องพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ดังนั้น โจทก์จะอ้างสิทธิแห่งความเป็นผู้เยาว์ทำเพิกถอนการซื้อขายห้องพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง และขอให้ศาลสั่งว่าโจทก์มีกรรมสิทธิคนละครึ่งกับจำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและห้องแถวตามโฉนดที่ 3597 อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ราคา 6,000 บาทนับห้องแถว 1 หลัง 4 ห้องครึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวราคา 14,000 บาท โดยได้รับมรดกจากนางสายมารดาร่วมกับนายสงวนจำเลยที่ 2 โจทก์มีส่วนได้รับมรดกคิดเป็นเงิน 10,000 บาท
ขณะโจทก์ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ จำเลยทั้ง 2 สมคบกันฉัอโกงโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ทำการโอนขายที่ดินมรดกเฉพาะส่วนและห้องแถว 3 ห้องให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 11,000 บาท ซึ่งเกินกว่าส่วนกรรมสิทธิ์ที่จำเลยที่ 2 ได้รับมรดก ขอให้ศาลสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและห้องแถวตามโฉนดที่ 3597 คนละครึ่งกับจำเลยที่ 2 นิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกินครึ่งจากมรดกที่จำเลยที่ 2 ได้รับเป็นโมฆะ และให้ศาลสั่งล้างนิติกรรมซื้อขายส่วนที่เกินนั้นเสีย
จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าได้ซื้อที่พิพาทไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ได้เซ็นรับรู้การขายทรัพย์พิพาท ฯลฯ และตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นฟ้องซ้ำ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินเฉพาะส่วนและห้องแถว 1 ห้องครึ่งตามโฉนดที่ 3597 (ซึ่งมิได้ขายให้แก่จำเลยที่ 1) เป็นของโจทก์ คำขอของโจทก์ ในข้ออื่น ๆ ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่านางสายทำพินัยกรรมยกฟ้องแถวพร้อมที่ดินให้โจทก์ 1 ห้องครึ่ง ให้จำเลยที่ 2 สองห้อง อีกห้องหนึ่งไม่ได้ยกให้แก่ใครซึ่งนายซิวหยูเช่าอยู่นี้โจทก์กับจำเลยที่ 2 มีส่วนอยู่คนละครึ่ง ปัญหาคงมีว่าเมื่อจำเลยที่ 2 โอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 ไปหมดทั้ง 3 ห้อง เท่ากับโอนขายส่วนของโจทก์ครึ่งห้องให้แก่จำเลยที่ 1 ไปด้วยนั้นจะใช้ได้เพียงไร เมื่อคดีได้ความว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ขายห้องพิพาทให้แก่ จำเลยที่ 1 โจทก์ก็ได้ลงนามรับรองในสัญญาซื้อขายนั้น จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่นายหยูและได้ห้องแถวกลับคืนมาในครอบครอง โจทก์ก็มิได้คัดค้านโจทก์ก็ปล่อยปละละเลยในจำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นเจ้าของห้องพิพาทมาตั้งแต่ต้นกระทำให้จำเลยที่ 1 หลงผิดว่าห้องพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้แสดงกรรมสิทธิ์ร่วมแต่ประการใด ณ บัดนี้ โจทก์จะถือโอกาสแห่งความเป็นผู้เยาว์มาขอแบ่งจึงไม่ชอบด้วยทำนองคลองธรรม
พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์