แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อ 3 กล่าวอ้างในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 ขอฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แต่ปรากฏว่าฎีกาของจำเลยที่ 2 กลับกล่าวระบุเพียงว่าจำเลยที่ 2 ไม่อาจพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นโดยคัดลอกถ้อยคำต่างๆ ที่อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชนิดคำต่อคำมาไว้ในฎีกา ซึ่งข้ออุทธรณ์ดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยไว้แล้วทั้งสิ้น กรณีจึงถือว่าฎีกาของจำเลยที่ 2 มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216
จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีอำนาจลงลายมือชื่อทำนิติกรรมใดๆ แทนจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีตราประทับและไม่มีข้อจำกัดอำนาจของจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเป็นการกระทำในนามหรือแทนจำเลยที่ 1 อันเป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคลโดยผู้แทนโดยไม่จำต้องมีตราประทับของจำเลยที่ 1 ส่วนการที่มีตราประทับของจำเลยที่ 1 ในการแต่งตั้งทนายความก็เป็นเรื่องที่มิได้มีกำหนดเป็นข้อจำกัดไว้ในหนังสือรับรองการจดทะเบียนจึงไม่อาจลบล้างผลของการที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทในนามหรือแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องมีความผิดทางอาญาร่วมกับจำเลยที่ 2
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณารวมกัน โดยเรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกโจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนสำนวนว่า โจทก์ร่วม และเรียกจำเลยทั้งสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนเป็นใจความเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาพนมสารคาม โดยฉบับแรกเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 สั่งจ่ายเงิน 321,355 บาท ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2539 ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2539 สั่งจ่ายฉบับละ 159,572 บาท ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2539 และวันที่ 9 สิงหาคม 2539 ตามลำดับ ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2539 สั่งจ่ายเงิน 124,619 บาท ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2539 และฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2539 สั่งจ่ายเงิน 222,602 บาท ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2539 มอบให้บริษัทวีไทร์ แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อสินค้ายางรถยนต์ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนด ผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยฉบับแรกปฏิเสธเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 เวลากลางวัน ฉบับที่ 2 ปฏิเสธเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2539 เวลากลางวัน ฉบับที่ 3 ปฏิเสธเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2539 เวลากลางวัน โดยให้เหตุผลเดียวกันทั้ง 3 ฉบับ ว่า “มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย” ฉบับที่ 4 ปฏิเสธเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2539 เวลากลางวัน ฉบับที่ 5 ปฏิเสธเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2539 เวลากลางวัน โดยให้เหตุผลเดียวกันทั้ง 2 ฉบับ ว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ทั้งนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คดังกล่าว โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงิน ออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และออกเช็คให้ใช้เงินที่มีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในการที่ออกเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และนับโทษจำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนติดต่อกัน
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันทั้งสองสำนวนตามที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างการพิจารณาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เช็คฉบับแรก ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน เช็คฉบับที่ 2 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน เช็คฉบับที่ 3 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน เช็คฉบับที่ 4 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน เช็คฉบับที่ 5 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 6,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 28,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่แล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 6 เดือน ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 ฎีกาทั้งสองสำนวน โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัย “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังยุติได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนจำหน่ายยางรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม โดยเช็คพิพาททั้งหมดไม่มีตราประทับของจำเลยที่ 1 ครั้นเช็คพิพาททั้งหมดถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททุกฉบับ คดีมีปัญหาวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่นั้นเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในปัญหานี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 217 ถึง 221 คู่ความมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือน…” แต่ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อ 3 จำเลยที่ 2 จะกล่าวอ้างในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 ขอฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แต่ปรากฏว่าฎีกาของจำเลยที่ 2 กลับกล่าวระบุเพียงว่า จำเลยที่ 2 ไม่อาจเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นโดยคัดลอกถ้อยคำต่างๆ ที่อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชนิดคำต่อคำมาไว้ในฎีกา ซึ่งข้ออุทธรณ์ดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยไว้แล้วทั้งสิ้น กรณีจึงถือว่าฎีกาของจำเลยที่ 2 มิได้คัดค้านคำพิพากศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาจะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงว่า มีเหตุสมควรรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้บรรเทาผลร้ายโดยชำระเงินที่ค้างชำระเพื่อลุแก่โทษในการกระทำความผิดแก่โจทก์ร่วมหรือไม่เพียงใด กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะใช้ดุลพินิจรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด เอกสารหมาย จ.2 ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจลงลายมือชื่อทำนิติกรรมใดๆ แทนจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีตราประทับและไม่มีข้อจำกัดอำนาจของจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่าสั่งจ่ายเช็คพิพาททุกฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเป็นการกระทำในนามหรือแทนจำเลยที่ 1 อันเป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคลโดยผู้แทนโดยไม่จำต้องมีตราประทับของจำเลยที่ 1 ส่วนการที่มีตราประทับของจำเลยที่ 1 ในการแต่งตั้งทนายความก็เป็นเรื่องที่มิได้มีกำหนดเป็นข้อจำกัดไว้ในหนังสือรับรองการจดทะเบียน จึงไม่อาจลบล้างผลของการที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทในนามหรือแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องมีความผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2