คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ภริยาไปกู้ยืมเงินบุคคลภายนอกมิได้เป็นนิติกรรมที่ภริยาทำขึ้นผูกพันสินบริคณห์โดยเฉพาะ เพราะไม่ได้เป็นนิติกรรมในการจัดการหรือจำหน่ายสินบริคณห์ แต่เป็นนิติกรรมเกี่ยวกับหนี้เงินจึงไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 38 และ 138 แม้สามีจะบอกล้างแล้ว ภริยาก็ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามมาตรา 37 และ 1479
เมื่อปรากฏว่าทรัพย์รายพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย และจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ก็มีสิทธิยึดได้ ผู้ร้องจะมาร้องขัดทรัพย์เพื่อให้ปล่อยทรัพย์ไม่ได้ ถ้าหากผู้ร้องถือว่าคนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท ก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้กันส่วนได้ของตนออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287.

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินตามหนังสือสัญญากู้ ต่อมาตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมใช้เงินให้โจทก์ ครบกำหนด จำเลยไม่ใช้ โจทก์จึงนำยึดที่ดินแปลงหนึ่งอ้างว่าเป็นของจำเลย ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าจำเลยเป็นภริยาผู้ร้องก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์รายนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้อง ๆ เพิ่งทราบเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยได้บอกล้างนิติกรรมการกู้ยืมนั้นแล้ว จึงเป็นโมฆะ ส่วนที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรส จำเลยไม่มีสินเดิม จึงไม่มีสิทธิมีส่วนในสวนพิพาทโจทก์จะบังคับเอาไปชำระหนี้ไม่ได้
โจทก์ให้การว่า สวนพิพาทเป็นสินเดิมของจำเลย ๆ กับผู้ร้องขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้ว จำเลยครอบครองสวนพิพาทตลอดมา ผู้ร้องไม่เคยบอกล้างนิติกรรมสัญญากู้กับโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องกับจำเลยยังเป็นสามีภริยากัน สวนพิพาทผู้ร้องกับจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน ข้อที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยไม่มีส่วนได้ในสินสมรสเพราะไม่มีสินเดิมนั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องกับจำเลย ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องได้บอกล้างนิติกรรมแล้ว ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยเลยไปถึงเรื่องสินส่วนตัวของจำเลยที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น
ศาลฎีกาเห็นว่า นิติกรรมการกู้ยืมเงินรายนี้มิได้เป็นนิติกรรมที่จำเลยทำขึ้นผูกพันสินบริคณห์โดยเฉพาะ เพราะไม่ได้เป็นนิติกรรมในการจัดการหรือจำหน่ายสินบริคณห์ หากแต่เป็นนิติกรรมเกี่ยวกับหนี้เงิน จึงไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๘ และมาตรา ๑๓๘ แม้ผู้ร้องจะบอกล้างแล้ว จำเลยก็ยังต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามมาตรา ๓๗ และมาตรา ๑๔๗๙ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา การวินิจฉัยเช่นนี้ก็เพื่อแสดงว่าการบอกล้างนิติกรรมของผู้ร้องมิได้ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดไปอย่างใด หาเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
คดีนี้ผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างและนำสืบแสดงว่าจำเลยมีสินส่วนตัวที่โจทก์จะบังคับชำระหนี้ก่อนได้ คดีจึงไม่ปรากฏว่าจำเลยมีสินส่วนตัว ฉะนั้น ผู้ร้องจะอ้างว่าสินบริคณห์ส่วนของจำเลยไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะเอาไปชำระหนี้ได้ตามมาตรา ๑๔๗๙ เพราะโจทก์จะต้องเอาชำระจากสินส่วนตัวของจำเลยก่อนนั้นหาได้ไม่
เมื่อทรัพย์รายพิพาทปรากฏว่าเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย และจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ก็มีสิทธิยึดได้ ผู้ร้องจะมาร้องขัดทรัพย์เพื่อให้ปล่อยทรัพย์ไม่ได้ ถ้าหากผู้ร้องถือว่าตนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท ก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้กันส่วนได้ของตนออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๘๗
ข้อที่ผู้ร้องฎีกาว่าจำเลยไม่มีทุนสินเดิม จึงไม่มีส่วนในสินสมรสนั้น ผู้ร้องมิได้ยกขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share