แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานตำรวจให้ยามเรียกจำเลยออกมาและให้จำเลยไขกุญแจเปิดเบาะรถจักรยานยนต์ขึ้นพบเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่8 เม็ด ขณะตรวจค้นจำเลยไม่มีอาการวิตกหรือตื่นตระหนก เมื่อพบของกลางก็ปฏิเสธทันทีว่าไม่ใช่ของจำเลย ก่อนเกิดเหตุ ส. บุตรชายสามีใหม่ของจำเลยขอยืมรถจักรยานยนต์ของจำเลยไปและนำมาคืนในเวลา 8.00 นาฬิกา ใกล้เคียงกับเวลาที่เจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ซึ่งเป็นเวลาก่อน 9.00 นาฬิกา จำเลยเพิ่งอยู่กับสามีใหม่ก่อนเกิดเหตุเพียง 15 วัน ทั้ง ก. ภรรยาคนแรกของสามีใหม่จำเลยไม่ได้หย่าขาดกันและไป ๆ มา ๆ เพื่อเยี่ยมบุตร และในวันเกิดเหตุก็กลับมาเยี่ยมบุตร กรณีจึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นของจำเลยหรือมีผู้อื่นนำมาซุกซ่อนไว้เพื่อกลั่นแกล้งจำเลยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2541 เวลากลางวันจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1จำนวน 8 เม็ด น้ำหนัก 0.74 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเหตุเกิดที่ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานีเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวและรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน อุทัยธานี จ – 8188 ที่จำเลยใช้ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7,8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี 6 เดือนและปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ (ที่ถูกจำเลยให้การปฏิเสธ) เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก9 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจโทพลายและสิบตำรวจโทวิสิษฐ์เบิกความเป็นพยานว่าเมื่อจำเลยมาที่รถจักรยานยนต์แล้วพยานขอตรวจค้นรถคันดังกล่าวจำเลยไม่มีอาการวิตกหรือตื่นตระหนกและเมื่อพบเมทแอมเฟตามีนของกลางจำเลยก็ปฏิเสธทันทีว่า เมทแอมเฟตามีนที่พบไม่ใช่ของจำเลยและบอกด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุนายสมคิดบุตรชายสามีใหม่จำเลยยืมรถจักรยานยนต์ของจำเลยไป ร้อยตำรวจเอกพิสูจน์ ศรีแสงทอง พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่าได้สอบถามนายสมคิดแล้วรับว่า ได้ยืมรถจักรยานยนต์ของจำเลยไปจริงสอดคล้องกับคำเบิกความของนายไพศาล ศุภจิตรา พยานจำเลยว่านายสมคิด ยืมรถจักรยานยนต์ของจำเลยไปเมื่อเวลา 6 นาฬิกาและนำมาคืนเมื่อเวลา 8 นาฬิกา ซึ่งสิบตำรวจโทวิสิษฐ์ได้รับโทรศัพท์เมื่อเวลาก่อน 9 นาฬิกา จึงใกล้เคียงกับเวลาที่นายสมคิดนำรถจักรยานยนต์มาจอดคืน นายสังคม สุขศิริ พยานจำเลยเบิกความว่านางกัญญาเป็นภรรยาคนแรกของพยาน จำเลยเป็นภรรยาใหม่ นางกัญญาไปมีสามีใหม่พยานจึงได้จำเลยเป็นภรรยาแต่นางกัญญายังคงไป ๆ มา ๆ เพื่อเยี่ยมบุตร พยานกับนางกัญญายังไม่ได้หย่าขาดกัน ในวันเกิดเหตุนางกัญญากลับมาเยี่ยมบุตรนางกัญญามีความหึงหวงในตัวพยาน จำเลยเบิกความว่า เพิ่งเข้ามาอยู่กับนายสังคมก่อนเกิดเหตุ 15 วัน ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นของจำเลยหรือมีผู้อื่นนำมาซุกซ่อนไว้เพื่อกลั่นแกล้งจำเลย จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน