คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3017/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 จะนำมาใช้กับกรณีที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งมาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายแล้วขอรับชำระหนี้ไม่ได้ เพราะมิใช่เรื่องร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาคดีแพ่งแต่เป็นเรื่องการนำเอาสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่มาใช้บังคับแก่ลูกหนี้ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32 ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ให้เป็นบุคคลล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาไม่เกินกำหนดระยะเวลา 10 ปี ย่อมเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ บัญญัติไว้โดยเฉพาะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(2) ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในระหว่างเวลาที่อายุความสะดุดหยุดลง เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งได้ ไม่ต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 94(1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ (จำเลย) ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 82 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 420,948.69 บาท จากกองมรดกของลูกหนี้รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้วไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีความเห็นว่าหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้นั้นศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2529 เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540จึงพ้นกำหนดเวลาในการบังคับคดี เป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับคดีได้จึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ประกอบมาตรา 271 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

เจ้าหนี้อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

เจ้าหนี้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาเจ้าหนี้ว่า หนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1714/2529 ที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ขาดอายุความอันจะต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 7วินิจฉัยว่า หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้น มีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32เจ้าหนี้ชอบที่จะใช้สิทธิบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 4กุมภาพันธ์ 2529 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 การที่เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 11เมษายน 2540 จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องจากกองมรดกของลูกหนี้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีซึ่งจะขอให้บังคับคดีไม่ได้ จึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) และการที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องเป็นคดีล้มละลายภายในระยะเวลา 10 ปี ก็มิได้ทำให้ระยะเวลาในการบังคับคดีขยายออกไปเพราะระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มิใช่อายุความแต่เป็นกำหนดเวลาในการบังคับคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายแล้วขอรับชำระหนี้นั้นมิใช่เรื่องเจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาคดีแพ่ง จะนำระยะเวลาการบังคับคดี10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271มาปรับแก่กรณีนี้หาได้ไม่ กรณีเป็นเรื่องการนำเอาสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่มาใช้บังคับแก่ลูกหนี้จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1ลักษณะ 6 มาตรา 193/32 ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี คดีนี้ศาลแพ่งมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1714/2529 เมื่อวันที่ 4กุมภาพันธ์ 2529 คดีไม่มีการอุทธรณ์จึงถึงที่สุดในวันที่ 4 มีนาคม2529 การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้นเจ้าหนี้ชอบที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดได้นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2529เป็นต้นไปภายใน 10 ปี เมื่อได้ความว่าเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ให้เป็นบุคคลล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้จำนวนเงินตามคำพิพากษาดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2539 อันเป็นเวลาที่ยังไม่พ้นกำหนด10 ปี ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) ดังนั้น คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 11 เมษายน2540 เป็นการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในระหว่างเวลาที่อายุความสะดุดหยุดลง เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งได้ กรณีจึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังขึ้น…”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และคำสั่งศาลชั้นต้นให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนพยานจนเสร็จสิ้นแล้วทำความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณามีคำสั่งใหม่ต่อไป

Share