แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ช. เอาประกันภัยรถจักรยานยนต์ไว้กับโจทก์ เป็นการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งมาตรา 7 บังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่ที่ได้รับ คำร้องขอ โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และ 25 เมื่อได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้ตามมาตรา 31 อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่เป็นเรื่องโจทก์รับช่วงสิทธิของผู้ประสบภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 เพราะผู้ประสบภัยไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย โดยเดิม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 บัญญัติให้การใช้สิทธิไล่เบี้ยต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัว ผู้ซึ่งต้องรับผิด แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย แต่ต่อมามี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 มาตรา 11 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 โดยมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้ข้อความใหม่แทนข้อความเดิมที่ถูกยกเลิกไป จึงเป็นกรณี
ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไล่เบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 15,714 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย กำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท กำหนดค่าใช้จ่าย (ที่ถูก ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี) แทนจำเลย 157 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การที่นายชุมพล เอาประกันภัยรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ลำปาง ร – 6993 ไว้กับโจทก์ เป็นการเอาประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้ เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และ 25 เมื่อได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์รับช่วงสิทธิของผู้ประสบภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลย ทั้งไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 เพราะผู้ประสบภัยมิใช่ผู้เอาประกันภัย โดยเดิมพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 บัญญัติให้การใช้สิทธิไล่เบี้ยต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิด แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 มาตรา 11 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 โดยมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้ข้อความใหม่แทนข้อความเดิมที่ถูกยกเลิกไป จึงเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไล่เบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่งนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดนั้น เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยให้การต่อสู้แต่เพียงประเด็นเดียวว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ฉะนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ลำปาง ร – 6993 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 จากนายชุมพล จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กจ 9131 ลำปาง เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2552 เวลาประมาณ 5 นาฬิกา ซึ่งอยู่ในระยะเวลาคุ้มครอง จำเลยขับรถยนต์คันดังกล่าวด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย ซึ่งมีนายชุมพลเป็นคนขับและนางจันทร์แรม นั่งซ้อนท้ายรถเป็นเหตุให้นางจันทร์แรมได้รับบาดเจ็บ โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่นางจันทร์แรม 13,974 บาท เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยค่าเสียหายดังกล่าว จากจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จ่ายเงินเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,740 บาท ตามที่โจทก์ขอมา
พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 13,974 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 กรกฎาคม 2554) ต้องไม่เกิน 1,740 บาทกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 9,000 บาท