คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2176/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุโดยตรงว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ จำเลยที่ 2 ก็สามารถให้การต่อสู้คดีได้ แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 รับว่า ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน สย 9160 กรุงเทพมหานคร ไว้จริง เพียงแต่ปฏิเสธว่า เหตุละเมิดไม่ได้เกิดในขณะมีการขับเคลื่อนรถยนต์ แสดงว่า จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยและทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดในขณะขับรถ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด กรณีตามคำให้การดังกล่าว จำเลยที่ 2 หาได้หลงต่อสู้ไม่ คำฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 อ้างทำนองว่า ถังสีตกมาจากด้านบนของตึก จำเลยที่ 2 ก็เพิ่งยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกา เกี่ยวกับความเสียหายที่อ้างว่าโจทก์เรียกร้องสูงเกินจริง จำเลยที่ 2 ก็มิได้โต้แย้งให้ชัดแจ้งว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามจำนวนเงินค่าซ่อมตามที่โจทก์มีใบเสนอราคาและใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานนั้น ค่าซ่อมรายการใดที่ไม่จำเป็น ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาที่กล่าวมาจึงไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยชัดแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องในส่วนใด และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ด้วยเหตุผลใด ทั้งยังมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่จำเลยที่ 2 เพิ่งยกขึ้นอ้าง หาได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 108,677.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 103,502.81 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 103,502.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2551 (ที่ถูก วันที่ 17 เมษายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 5,175 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 103,502.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 17 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 5,175 บาท ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์มิได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับไว้จากผู้ใด ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร และผู้ขับขี่เกี่ยวข้องอย่างใดกับผู้เอาประกันภัย ทำให้จำเลยที่ 2 หลงต่อสู้จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่รถยนต์จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้น แม้ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุโดยตรงว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ จำเลยที่ 2 ก็สามารถให้การต่อสู้คดีได้ แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 รับว่า ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน สย 9160 กรุงเทพมหานคร ไว้จริง เพียงแต่ปฏิเสธว่า เหตุละเมิดไม่ได้เกิดในขณะมีการขับเคลื่อนรถยนต์ แสดงว่า จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยและทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดในขณะขับรถ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด กรณีตามคำให้การดังกล่าว จำเลยที่ 2 หาได้หลงต่อสู้ไม่ ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และความเสียหายของโจทก์สูงเกินจริงนั้น จำเลยที่ 2 อ้างในฎีกาว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน สย 9160 กรุงเทพมหานคร จอดอยู่กับที่ ไม่มีการเคลื่อนย้ายด้วยกำลังเครื่องจักรกล และที่โจทก์อ้างว่าถังสีตกลงมาจากรถยนต์หมายเลขทะเบียน สย 9160 กรุงเทพมหานคร แล้วสีกระเด็นถูกรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยนั้น เมื่อตัวรถมีความสูงเท่ากัน หากถังสีตกลงมาก็โดนไม่เกินกันชนหน้า แต่รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยมีความเสียหายถึงฝากระโปรงหน้า กระจกบังลมหน้าและด้านบนหลังคา ซึ่งตามข้อเท็จจริงไม่สามารถเป็นจริงได้ นอกจากถังสีตกมาจากด้านบนของตึก สำหรับความเสียหายของอะไหล่บางชิ้นสามารถซ่อมโดยล้างออกได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนอะไหล่ แต่พยานโจทก์เบิกความว่า เป็นความต้องการของผู้เอาประกันภัย จึงทำให้ความเสียหายของโจทก์สูงเกินจริง เห็นว่า ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว จำเลยที่ 2 อ้างแต่ข้อเถียงที่จะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ในข้อที่อ้างว่า เกิดเหตุในขณะรถยนต์จอดอยู่กับที่หรือถังสีตกลงมาจากด้านบนของตึกนั้น จำเลยที่ 2 ยกขึ้นฎีกาโดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่รับฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานโจทก์ เมื่อมีการขนถังสีไปวางไว้ที่กระบะท้ายแล้ว จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้ออกไปโดยประมาทเลินเล่อทำให้ถังสีหล่น เพราะวางถังสีไว้ไม่ดีเป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย และที่จำเลยที่ 2 อ้างทำนองว่า ถังสีตกมาจากด้านบนของตึก จำเลยที่ 2 ก็เพิ่งยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกา เกี่ยวกับความเสียหายที่อ้างว่าโจทก์เรียกร้องสูงเกินจริง จำเลยที่ 2 ก็มิได้โต้แย้งให้ชัดแจ้งว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามจำนวนเงินค่าซ่อมตามที่โจทก์มีใบเสนอราคาและใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานนั้น ค่าซ่อมรายการใดที่ไม่จำเป็น ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาที่กล่าวมาจึงไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยชัดแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องในส่วนใด และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ด้วยเหตุผลใด ทั้งยังมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่จำเลยที่ 2 เพิ่งยกขึ้นอ้าง หาได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 103,502.81 บาท นับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันทำละเมิด แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 5,175 บาท นั้น ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวถึงการคิดดอกเบี้ยโดยเริ่มคิดนับแต่วันที่ 17 เมษายน 2552 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระค่าซ่อมรถยนต์ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดจึงคลาดเคลื่อนและมิได้เป็นไปตามคำฟ้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 17 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share