แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในการขอเลื่อนคดีของคู่ความนั้น กฎหมายได้บัญญัติรายละเอียดและเหตุที่จะขอเลื่อนคดีไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 39 และ 40 การที่จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีเป็นครั้งที่ 5 และยื่นใบรับรองแพทย์มาด้วยเพื่อยืนยันว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยจริงไม่สามารถมาศาลได้ แม้โจทก์มิได้คัดค้านและข้อเท็จจริงจะฟังว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยจริงซึ่งมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ แต่คำร้องขอเลื่อนคดีระบุเพียงว่าขอเลื่อนคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมโดยไม่ได้แสดงให้เห็นชัดเจนในคำร้องว่าหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรมอย่างไร จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง อีกทั้งการที่คู่ความขอเลื่อนคดีเพราะป่วยเจ็บ ศาลก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 41 กล่าวคือ ตั้งเจ้าพนักงานไปทำการตรวจอาการป่วยเจ็บเสมอไป เพราะกรณีตามมาตรา 41 นั้น เป็นเรื่องที่ศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขอเลื่อนคดีป่วยถึงกับไม่สามารถมาศาลได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าจ้างแก่โจทก์จำนวน 587,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน 250,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยวันนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 3 มีนาคม 2542 ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่สามารถมาศาลได้ ขอศาลเลื่อนการพิจารณาออกไปสักนัดหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกาคำสั่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 บัญญัติว่า เมื่อศาลกำหนดวันนั่งพิจารณาแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดมีเหตุจำเป็นจะขอเลื่อนคดีก็ได้ ถ้าศาลอนุญาตแล้วคู่ความฝ่ายนั้นจะเลื่อนคดีอีกไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และคู่ความฝ่ายนั้นจะต้องแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่า ถ้าไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจะทำให้เสียความยุติธรรมและก่อนหน้าที่ทนายจำเลยทั้งสองจะยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีตามคำร้องฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นครั้งที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีนั้น จำเลยทั้งสองได้ขอเลื่อนคดีมาแล้วหลายครั้งโดยอ้างเหตุว่าจำเลยทั้งสองกำลังติดต่อจะเจรจาทำยอมกับโจทก์บ้าง ทนายจำเลยทั้งสองติดพิจารณาคดีที่ศาลอื่นบ้าง รวมแล้วจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีและศาลชั้นต้นอนุญาตมาแล้วถึง 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีแต่ก็ได้กำชับคู่ความว่าหากนัดหน้ายังไม่สามารถตกลงกันได้ขอให้เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบต่อไป แต่เมื่อถึงวันนัดทนายจำเลยทั้งสองก็ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีก พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการไม่นำพาต่อกำหนดนัดของศาล เป็นการประวิงคดี ประกอบกับในคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยทั้งสองอ้างเหตุว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ไม่สามารถมาศาลได้ จึงขอเลื่อนการพิจารณาเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลเห็นว่า จำเลยขอเลื่อนคดีเป็นครั้งที่ 4 และได้ยื่นใบรับรองแพทย์มาด้วยเพื่อยืนยันว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยจริงไม่สามารถมาศาลได้ ซึ่งโจทก์มิได้คัดค้านว่าทนายจำเลยทั้งสองไม่ป่วยจริงก็ตาม แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยจริงซึ่งเป็นเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ แต่คำร้องขอเลื่อนคดีระบุเพียงว่าขอเลื่อนคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมโดยไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งในคำร้องว่า หากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรมอย่างไร เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่ได้แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลได้ว่าถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจะทำให้เสียความยุติธรรม จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่ง และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าป่วยไม่สามารถมาศาลได้ ศาลจะต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 41 มาใช้บังคับ เพราะมาตรา 41 ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการเจ็บป่วยไว้โดยเฉพาะ จึงหานำบทบัญญัติมาตราอื่นมาใช้บังคับหาได้ไม่นั้น เห็นว่า ในการขอเลื่อนคดีของคู่ความนั้น กฎหมายได้บัญญัติรายละเอียดและเหตุที่จะขอเลื่อนคดีไว้ในมาตรา 39 และ 40 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเบื้องต้นที่ศาลจะต้องพิจารณาว่ามีเหตุตามกฎหมายหรือไม่แล้วพิจารณามีคำสั่งต่อไป ส่วนบทบัญญัติตามมาตรา 41 นั้น เป็นเรื่องที่ศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขอเลื่อนคดีป่วยถึงกับไม่สามารถมาศาลได้ ศาลจึงจะต้องปฏิบัติตามมาตรานี้ มิใช่ว่าเมื่อคู่ความยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเพราะป่วยเจ็บแล้วศาลจะต้องนำบทบัญญัติตามมาตรา 41 มาใช้บังคับทันที ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน